ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมเภสัชกร รพ.ชุมชน คัดเลือก"ภก.พรพิทักษ์ กอมสิน" หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.นาแก จ.นครพนม นั่งประธานชมรมคนใหม่หลังครบวาระ 3 ปี ด้าน"ภก.ทรงวุฒิ" ฝากถึงปธ.ชมรมคนใหม่ สานต่องานพัฒนาดูแลสุขภาพปฐมภูมิ

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ภก.ทรงวุฒิ สารจันทึก รองประธาน ปฎิบัติหน้าที่ประธานชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน กระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการเลือกประธานชมรมใหม่ว่าเป็นอย่างไร รวมถึงชมรมเภสัชจะมีผลต่อชาวบ้านหรือเภสัชมีบทบาทในพื้นที่ชนบทอย่างไร

ภก.ทรงวุฒิ กล่าวว่า สำหรับคณะกรรมการของชมรมเภสัชกร โรงพยาบาลชุมชนได้ครบวาระ 3 ปี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อทำการคัดเลือกประธานชมรมคนใหม่ โดยการประกาศผ่านสื่อต่างๆ หรือกลุ่ม LINE วิชาชีพเภสัชกรรม เป็นต้น โดยเปิดให้สมัครประมาณครึ่งเดือน พบว่ามีผู้สมัครเข้ามาเพียงคนเดียว คือ

นายพรพิทักษ์ กอมสิน  หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลนาแก จังหวัดนครพนม 

และเนื่องจากมีผู้สมัครเพียงคนเดียว เราจึงได้ขอให้เภสัชกรทั่วประเทศช่วยลงชื่อรับรอง ปรากฏว่ามีประมาณ 280 กว่าคน ที่ให้ความร่วมมือและยอมรับเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งถือว่าเยอะพอสมควร

ส่วนหน้าที่ของประธานที่จะต้องทำต่อคือต้องมีการประสานงานกับเขตสุขภาพทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ ให้ส่งตัวแทนเข้ามาเป็นคณะกรรมการของชมรมเภสัชชกรเขตสุขภาพละ 2 คน นอกจากนี้ประธานยังต้องสรรหารองประธานหรือตำแหน่งอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น เลขา เหรัญญิก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ทั้งนี้ จะเอาชุดเดิมหรือจัดหาใหม่เลยก็ได้ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

 


ภก.ทรงวุฒิ กล่าวต่อว่า เดิมที ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน ได้ขับเคลื่อนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยด้านยา รวมถึงการให้บริการด้านสุขภาพและยาสู่ประชาชน โดยมีคำขวัญที่ว่า “เภสัชชกรชุมชนสร้างความเชื่อมั่น ให้กำลังใจ ปลอดภัย เติบโตไปด้วยกันเพื่อประชาชนสุขภาพดี “ ซึ่งการพัฒนาต่างๆ ก็เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี

นอกจากนี้  เภสัชกรยังได้ออกไปดูแลผู้ป่วยที่ รพ.สต. ที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ และให้คำปรึกษาเรื่องยา ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งแต่ละที่อาจจะต่างกันไป ตามวันเวลานัดหมาย โดยลงไปกับทีมสหวิชาชีพ  ทั้งนี้หากผู้ป่วยบางรายอาจกินยาไม่ถูกต้องหรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา รวมถึงอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ เราจะตามไปให้คำปรึกษาถึงบ้านโดยเฉพาะผู้ป่วยที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง จะต้องให้ความสำคัญอย่างมาก

และนอกจากนี้เรายังมีการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างความรู้และเสริมพลังให้กับตนเอง ในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การเลือกซื้อยาชุดที่มีการจำหน่ายในชุมชน นั้น ส่วนใหญ่อาจเป็นยาอันตรายและมีโอกาสแพ้รุนแรงสูง รวมมียาสเตียรอยด์ที่จะส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคและผู้ป่วยอาจมีอาการแย่ลง หรือรวมถึงโรคไตที่อาจจะตามมาอีกด้วย

ซึ่งการทำงานเราได้ร่วมมือกับ รพ.สต., อสม. ,นักวิชาการสาธารณสุข, พยาบาลวิชาชีพ, และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน เพื่อบูรนาการในการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะ อสม. เองสามารถเข้าถึงและใกล้ชิดกับผู้ป่วยค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เราจะได้ข้อมูลที่เป็นจริง จะรู้ว่าพฤติกรรมของผู้ป่วยเป็นอย่างไร  ทั้งนี้เรายังมีการให้ความรู้และส่งเสริมเรื่องยาสมุนไพรกับชุมชนด้วย 

ส่วนเรื่องโควิด เภสัชกรเองยังมีหน้าที่ประสานงานในการเบิกวัคซีนโควิด-19 รวมถึงการรับและเก็บรักษาวัคซีนให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมและประกันคุณภาพวัคซีน  จัดทำทะเบียนผู้ป่วยที่เข้ามารับวัคซีน ติดตามอาการหลังฉีดวัคซีนว่าผิดปกติหรือไม่  ทำการประเมินร่วมกับแพทย์หลังจากนั้นบันทึกข้อมูลลงในระบบของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อจัดทำรายงานต่อไป เป็นต้น 

 
นอกจากนี้ ทางชมรมก็ได้ขับเคลื่อนในเรื่องของปัญหาที่ไม่ได้รับการจัดสรรตำแหน่ง ซึ่ง ก.พ. ได้อนุมัติมาแล้วตั้งแต่ปี 2552 ณ ตอนนั้น ช่วงเมษายน 2563 มีหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลชุมชนที่มีคุณสมบัติครบ 208 คน นั้นปัจจุบันมีหัวหน้าเภสัชกรรมที่มีคุณสมบัติครบ ได้รับการกำหนดตำแหน่งประมาณ 50% ซึ่งมีส่วนหนึ่ง หัวหน้าเภสัชกรรมโรงพยาบาลชุมชน ก็เริ่มมีคุณสมบัติครบ  ทั้งนี้ จำนวนอาจจะอยู่ประมาณ 100-200 คน ซึ่งถือว่ามากพอสมควร

"ตัวผมเองในฐานะประธานชุดเก่า ก็อยากฝากให้ประธานชุดใหม่ผลักดันในเรื่องนี้ต่อไป" ภก.ทรงวุฒิ กล่าว

 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org