ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” เผยกรมควบคุมโรคติดตามข้อมูลคนเสียชีวิตจากโควิด ส่วนใหญ่ไม่ได้ตายเพราะเชื้อ ชี้โควิดเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ การเสียชีวิตไม่ใช่แบบเฉียบพลัน

 

เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีคนงานเมียนมาเสียชีวิตและพบติดโควิด จนอาจเกิดความเข้าใจผิดว่า เสียชีวิตจากสายพันธุ์ XBB.1.16  หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า มีการพูดกันในที่ประชุมว่า จริงๆการตายเพราะโควิดจะไม่ใช่เสียชีวิตกะทันหัน หรือเฉียบพลัน  เพราะโควิด เป็นเรื่องของโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งจะไม่เสียชีวิตกะทันหัน ต้องพิจารณาดีๆ เมื่อมีเหตุการณ์นี้ ทางกรมควบคุมโรคก็ไปติดตามข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่ แทบ 100%  กลับมารายงานว่าไม่ได้เสียชีวิตจากสาเหตุของโรคโควิด จะเรียกว่า ตายด้วยโควิด ไม่ใช่ตายเพราะโควิด

“เรื่องการสวมหน้ากากอนามัย ก็ต้องประเมินตามความเหมาะสม อย่างคนทั่วไปใส่ได้ ก็เพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ในระดับหนึ่ง ถือเป็นประโยชน์ป้องกันไข้หวัดใหญ่และฝุ่นด้วย ส่วนผู้ป่วยโควิดนั้น ทางกรมการแพทย์มีไกด์ไลน์การดูแลรักษาโควิดออกมาล่าสุด มีข้อแนะนำว่า หากติดเชื้อแล้ว ถ้าลางานได้ก็ลางาน เพื่อฟื้นฟูร่างกาย 5 วัน แต่หากมีความจำเป็นต้องพบปะผู้คนก็ใส่หน้ากาก 2 ชั้น เว้นระยะห่าง คือ ต้องดูตามบริบทและทำให้เป็นปกติ ไม่เหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนเข้มไปหมด เพราะช่วงแรกยังไม่มีวัคซีน และภูมิคุ้มกันยังไม่ได้มากเท่านี้” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นชัดเจนช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งผู้ป่วยรายใหม่และผู้ป่วยหนักโดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยว และจากการที่กองระบาดวิทยาได้ประเมินลักษณะทางระบาดวิทยาของโควิด 19 พบว่ามีความคล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่ คือ มีการระบาดตามฤดูกาล จึงคาดประมาณได้ว่าอาจมีการระบาดของโควิด 19 สูงขึ้นในช่วงฤดูฝน กระทรวงสาธารณสุขจึงขอให้ประชาชนเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปีก่อนเข้าฤดูฝนซึ่งจะเริ่มฉีดในปี 2566 เป็นปีแรก โดยฉีดปีละ 1 เข็ม สามารถใช้วัคซีนชนิดใดหรือรุ่นใดก็ได้โดยให้ห่างจากเข็มสุดท้ายหรือประวัติการติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน และไม่ต้องนับว่าเป็นเข็มที่เท่าใด

โดยกรมควบคุมโรคได้มีการจัดเตรียมวัคซีนให้กับทุกกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และได้มีการจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อายุ 12 ปีขึ้นไปด้วย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้ารับบริการฉีดโควิด 19 ได้ที่หน่วยบริการตามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำหนดไว้ สำหรับสถานที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขใน กทม. ได้แก่ ศูนย์บางรัก โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลสงฆ์ และสถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับคำแนะนำการฉีดใหม่ให้เป็นการฉีดวัคซีนโควิดประจำปี เนื่องจากผลการสำรวจระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประชากรไทยทั้งจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และการศึกษาจากศาสตราจารย์ยง ภู่วรวรรณ พบว่าประชากรไทยส่วนใหญ่ได้มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว จากการติดเชื้อหรือการรับวัคซีน การปรับคำแนะนำจึงเน้นคำแนะนำการฉีดให้เป็นแบบที่เข้าใจง่าย คือ ให้ฉีดวัคซีนโควิดประจำปี

“ขอเน้นให้กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 608 พนักงานบริการหรือผู้ที่มีอาชีพต้องสัมผัสคนเป็นจำนวนมาก หรือผู้อยู่ในสถานที่แออัด เช่น ทัณฑสถาน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เข้ารับวัคซีนประจำปีโดยเร็วเพื่อลดอาการป่วยหนัก เสียชีวิต และรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศ ก่อนการระบาดของโควิด 19 ตามฤดูกาล ทั้งนี้ประชาชนทั่วไปก็สามารถรับวัคซีนโควิดประจำปีได้เช่นเดียวกันตามความสมัครใจ” รองอธิบดี คร.กล่าว