ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงต่อเนื่องสัปดาห์ละ 5-6 พันราย ตัวเลขสะสมกว่า 4.6 หมื่นราย รูปแบบการระบาดเปลี่ยนพบมากในผู้ใหญ่ ย้ำหากมีอาการไม่สบาย เป็นไข้ให้รีบพบแพทย์ หาหมอครั้งแรกไม่หายต้องไปครั้งที่ 2 ตรวจให้ละเอียด อย่าซื้อยาแอสไพรินเสี่ยงอันตราย ด้านกรมการแพทย์เผยเฝ้าระวังโควิด แต่ไม่น่าห่วงเท่าเดงกี

 

ไข้เลือดออกพบมากในผู้ใหญ่ ขณะที่เด็กป่วยไม่มาก

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ว่า ทางกรมควบคุมโรคได้อัพเดทสถานการณ์อยู่ตลอด ช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงพีค คือ ช่วงที่มีการป่วยสูงสุดของการระบาด ตนกำลังจับตาดูว่าจะพีคมากน้อยอย่างไร ซึ่งตามธรรมชาติเมื่อการระบาดพ้นช่วงพีคแล้ว ผู้ป่วยจะค่อยๆ ลดลงเป็นช่วงขาลง ขณะเดียวกัน ธรรมชาติของโรคไข้เลือดออก มักจะค่อยๆ ลดลงในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ที่เป็นช่วงขาลง

 

"เท่าที่จับตาดูพบว่ารูปแบบการระบาดเปลี่ยนไป จากเดิมที่เราจะพบผู้ป่วยมากในวอร์ดเด็ก แต่ปีนี้วอร์ดเด็กไม่มาก แต่พบว่าผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น อาจเพราะสาเหตุเด็กเกิดน้อยลง ทำให้กลุ่มเป้าหมายการติดเชื้อน้อยลง" นพ.โอภาส กล่าว

 

เมื่อถามว่าช่วงหยุดยาวที่ผ่านมาคนไปเที่ยวต่างจังหวัดมากขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงขึ้นหรือไม่ จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการคัดกรองหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) เป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนั้น ทางกรมควบคุมโรค ได้เฝ้าระวังตามระบบโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ประชาชนมีส่วนสำคัญในการช่วยกำจัดแหล่งกำเนิดลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะในชุมชน จึงอยากเน้นย้ำให้มีการดูแลจุดเสี่ยงต่อการเพาะพันธุ์ของยุงลาย เช่น แจกัน กระถางรองต้นไม้ และจุดที่มีน้ำขัง

 

"หากมีอาการไม่สบาย เป็นไข้ ก็ขอให้ไปพบแพทย์ ถ้าไปพบครั้งแรกไม่หาย ก็ยังต้องไปพบเป็นครั้งที่ 2 เพื่อตรวจให้ละเอียดอีกครั้ง และอย่าไปซื้อยาแอสไพรินมารับประทานเอง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ที่ปีนี้เป็นไข้เลือดออกมากกว่าเด็กชัดเจน" นพ.โอภาส กล่าว

 

แนวโน้มผู้ป่วยไข้เลือดออกยังสูงสัปดาห์ละประมาณ 4,000-5,000 ราย

ด้าน นายอภิญญา นิรมิตสันติพงศ์ รองผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์ไข้เลือดออก ว่า ล่าสุดแนวโน้มผู้ป่วยยังคงสูงอยู่ที่สัปดาห์ละประมาณ 4,000-5,000 ราย จำนวนผู้ป่วยยังไม่ลดลง โดยพบผู้ป่วยกระจายอยู่ในทั่วประเทศ ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังถึงสถานการณ์ไข้เลือดออกเป็นรายสัปดาห์ และต้องจับตาดูแนวโน้มในเดือนสิงหาคม

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด ประจำสัปดาห์การระบาดที่ 29 ข้อมูลถึงวันที่ 26 ก.ค.2566 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมอยู่ที่ 46,855 ราย โดยจำนวนผู้ป่วยเพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 5,328 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย อัตราการป่วยอยู่ที่ร้อยละ 70.80 ส่วนเสียชีวิตสะสม อยู่ที่ 41 ราย อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 0.09 แต่หากดูเฉพาะเดือนก.ค. มีผู้ป่วยจำนวน 12,525 ราย ซึ่งถือว่าสูงกว่าปีที่แล้วถึง 1.7 เท่า

 

วัยทำงาน 25-34 ปีแนวโน้มป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น

นายอภิญญา กล่าวต่อว่า โดยผู้ป่วยไข้เลือดออกอายุมากสุดคือ  98 ปี สำหรับช่วงอายุที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกมากที่สุดอันดับ 1 ในช่วงอายุ 5 -14 ปี รองลงมา 15 -24 ปี โดยพบว่าในช่วง วัยทำงาน 25-34 ปีแนวโน้มผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งในช่วงอายุนี้พบอัตราป่วยตายมากที่สุด อยู่ที่ 14 ราย สำหรับผลการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย พบว่ายังเกินเกณฑ์มาตรฐานอยู่ในหลายพื้นที่ โดยผลการส่งตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการ พบว่า ร้อยละ 38.2 เป็นเชื้อไวรัสเดงกี 1 รองลงมาร้อยละ 26.5 เป็นเชื้อไวรัสเดงกี 3 และร้อยละ 20.6 เป็นเดงกี 2

 

กรมการแพทย์เผยขณะนี้ไข้เลือดออกน่าห่วงกว่าโควิด19

วันเดียวกัน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) ติดตามสถานการณ์ทุกเดือน ซึ่งแนวโน้มผู้ติดเชื้อ ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตลดลง สายพันธุ์หลักที่ระบาดขณะนี้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานยังเป็นโอมิครอน ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่ม 608 ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งไม่ฉีดวัคซีนและไม่ฉีดเข็มกระตุ้น จึงรณรงค์ให้ไปฉีด ขณะที่การรักษาผู้ป่วยกรมการแพทย์ก็ออกเป็นแนวเวชปฏิบัติให้รพ.ถือปฏิบัติไปแล้ว ส่วนใหญ่อาการไม่มากเหมือนไข้หวัด มีไข้ ไอ บางคนเจ็บคอ รักษาตามอาการ

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ที่น่าห่วงขณะนี้คือโรคไข้เลือดออก อาการแรกเริ่มจะมีไข้สูงลอย จะคล้ายโควิด-19 หรือไข้หวัดใหญ่ และจะมีจ้ำเลือด เกิดได้กับทุกวัย ในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุพบมีอาการรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันลด มีการติดเชื้อ สงสัยไม่ใช่ไข้เลือดออกจึงไม่ระวัง บางรายไปซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะกลุ่มยาเอ็นเสดที่เป็นข้อห้ามรับประทาน จึงทำให้อาการรุนแรงขึ้น ทั้งคนที่เคยเป็นแล้วสามารถเป็นซ้ำได้ โดยไข้เลือดออกขณะนี้มีถึง 4 สายพันธุ์หากสงสัยให้รีบพบแพทย์อย่าซื้อยากินเอง รวมทั้งต้องระวังและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย