ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยผลศึกษา “ใบมะละกอ” สู้ไวรัสไข้เลือดออก ได้ผลดี ชี้เป็นความหวังสมุนไพรสู้โรค  “อภัยภูเบศร” ห่วงประชาชน แนะใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง ควบคู่ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ ชี้มีงานวิจัยฟ้าทะลายโจรยับยั้งเชื้อไวรัสเดงกี  แต่ห้ามใช้หากมีจ้ำเลือด  หรือเลือดออกผิดปกติ
 
วันที่ 9 ส.ค. 2566 ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ด้านการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ในช่วงนี้ไข้เลือดออกระบาด จากข้อมูลโดยกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 5,000 ราย ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 3 เท่า และสำหรับผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว  มีโอกาสที่จะเป็นได้อีกและอาการจะรุนแรงขึ้น  เนื่องจาก เชื้อไวรัสเดงกีซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออกมีถึง 4 สายพันธุ์  แต่ติดแล้วมีภูมิคุ้มกันก็แค่สายพันธุ์เดียว การป้องกันการระบาดที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ยุงลายมากัด ด้วยใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกัน เช่น ฟ้าทะลายยุง หรือตะไคร้หอม ร่วมกับการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ก็จะช่วยได้ 

ภญ.ดร.ผกากรอง กล่าวว่า สำหรับอาการของโรคไข้เลือดออกนั้นมีตั้งแต่อาการน้อย ถึงมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าผู้ป่วย 100 ราย ไม่มีอาการ 80 ราย  มีอาการน้อย 10 และอีก 10 รายอาการมากจนต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล  ดังนั้นผู้ป่วยต้องหมั่นสังเกตอาการ  กล่าวคือ เมื่อได้รับเชื้อที่มากับยุง อาจมีไข้สูง  หากใช้ยาลดไข้แล้วไม่ลง  รวมกับมีคลื่นไส้อาเจียน  มีเลือดออกตามร่างกาย  ควรรีบไปพบแพทย์  เพราะปัญหาสำคัญของผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ การที่ไวรัสเดงกีทำให้เกล็ดเลือดต่ำลง

อย่างไรก็ตามขณะนี้การรักษายังไม่มียาเฉพาะสำหรับการรักษาไวรัสเดงกี  แต่ใช้การรักษาตามอาการ  โดยหลัก ๆ เป็นการให้ยาลดไข้  และระวังไม่ให้ร่างกายสูญเสียน้ำ  ถ้ามีคลื่นไส้อาเจียน  ก็ต้องเสริมเกลือแร่ ยาลดไข้ที่นิยมในกลุ่มพาราเซตามอล ซึ่งการให้ยาลดไข้มีความสำคัญ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงยาลดไข้ตัวอื่นที่อาจจะมีความสัมพันธ์กับอาการเลือดออกผิดปกติได้ เช่น ยาในกลุ่มแอสไพริน หรือไอบูโพรเฟน ซึ่งในกลุ่มของสมุนไพร  มีฟ้าทะลายโจร  ที่นิยมใช้เมื่อมีอาการไข้หวัด ซึ่งการศึกษาวิจัยในหลอดทดลองและการจำลองภาพ 3 มิติก็พบว่า ฟ้าทะลายโจรมีผลต่อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2 ดังนั้นหากมีอาการไข้ในระยะเริ่มแรก ก็ยังใช้ฟ้าทะลายโจรได้ แต่กรณีที่มีจ้ำเลือดออก มีเลือดออกตามไรฟัน  ต้องหยุดใช้ เพราะอาจมีผลทำให้เลือดหยุดยาก ส่วนยาสมุนไพรที่ใช้ลดไข้ได้โดยไม่มีผลต่อเกล็ดเลือด คือ จันทน์ลีลา  โดยอาจจะใช้เสริมพาราเซตมอล  เพื่อลดขนาดพาราเซตมอล ที่อาจมีผลข้างเคียงต่อตับ

ดร.ผกากรอง กล่าวว่า ขณะนี้มีการศึกษาของโรงพยาบาลเพ็ญ จ.อุดรธานี ที่ได้นำสมุนไพรใกล้ตัวของคนไทย ซึ่งการศึกษาในต่างประเทศพบว่า  มี 3 กลไกสำคัญ ได้แก่ 1. ต้านการแบ่งตัวของไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2 เช่นเดียวกับฟ้าทะลายโจร  2. เพิ่มเกล็ดเลือด  ทั้งเพิ่มจำนวน และลดการรวมตัวของเกล็ดเลือด  3 เสริมกลการทำงานของภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้น ในบางการศึกษาพบว่าช่วยเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดแดง  ลดการหลั่งสารต้านการอักเสบ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งในวารสาร BMJ หรือ British  Medical Journal ก็มีการกล่าวถึงการใช้ใบมะละกอกับไข้เลือดออกด้วยเช่นกัน  

การศึกษาที่โรงพยาบาลเพ็ญ จ.อุดรธานี ในผู้ป่วย 78 ราย เปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน  โดยการศึกษามีเป้าหมายในการดูผลการเสริมการรักษาด้วยน้ำคั้นจากใบมะละกอ ในกลุ่มควบคุม  โดยให้ผู้ป่วยกิน ปริมาณ 30 ซีซี  3 ครั้ง/วัน ก่อนอาหาร หรือเท่ากับ 90 ซีซี/วัน ตั้งแต่วันแรกและวันสุดท้ายของการรักษาโดยติดตามอาการ และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการทุกราย วิเคราะห์ข้อมูล โดยดูผลลัพธ์หลัก 3 ด้าน คือ ระดับของเกล็ดเลือด  อุณหภูมิของร่างกาย และความสุขสบายของผู้ป่วย จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยในกลุ่มทดลองที่ได้น้ำคั้นจากใบมะละกออยู่โรงพยาบาลสั้นกว่า โดย กลุ่มทดลองนอนโรงพยาบาล 3.10 วัน น้อยกว่ากลุ่ม ควบคุมที่นอนโรงพยาบาล 4.2 วัน ในส่วนของการเพิ่มขึ้นของเกล็ดเลือดนั้น 

“ในช่วงวันแรกเกล็ดเลือดของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มลดลงพร้อมกัน แต่ในกลุ่มทดลองเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้นในวันที่ 3 เป็นต้นไป และเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเป็นปกติในวันที่ 5 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นในวันที่ 8 เป็นต้นไป เมื่อพิจารณาอุณหภูมิ ร่างกายของทั้งสองกลุ่มลดลงตั้งแต่วันแรกไม่แตกต่างกัน แต่กลุ่มทดลองอุณหณภูมิร่างกายลดลงเร็วกว่า กลุ่มควบคุม เนื่องจากมีอาการฟื้นตัวจากโรคได้เร็วกว่า ทําให้มีความสุขสบายเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่วันแรก เป็นต้นไป และเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุม” ภญ.ดร.ผกากรอง กล่าว  

สำหรับ ขั้นตอนและวิธีการเตรียมตัวอย่างเพื่อศึกษานั้น นั้น ดร.ผกากรอง กล่าวว่า ให้นําใบมะละกอที่ไม่อ่อนและไม่แก่จนเกินไป  จํานวน 1 - 3 ใบ น้ำหนักใบรวม 20 กรัม นํามาล้างให้สะอาดแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก จากนั้นนํามาขยี้หรือโขลกให้ละเอียด แล้วกรองโดยใช้ผ้าขาวบางเพื่อ คั้นเอาน้ำสกัดใบมะละกอออกมาให้ได้ประมาณ 20 มิลลิลิตร เติมน้ำตาลมะพร้าว 2 ช้อนชา  ผสมส่วนผสมทั้งสองให้เข้ากัน ใส่ภาชนะเก็บไว้ในตู้เย็นไม่เกิน 24 ชั่วโมง จากนั้นนำมาให้ผู้ป่วย โดยกลุ่มผู้ใหญ่ ให้ดื่มในปริมาณ 30 มิลลิลิตร และกลุ่มผู้ป่วยเด็ก (อายุมากกว่า 10 ปี) ให้ดื่มในปริมาณ 10 มิลลิลิตร โดยดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 5-7 วัน

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง