ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.- รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย รับเรื่องร้องทุกข์ กรณีสมาคมฯ ร้องสอบข้อเท็จจริงการบริหารกิจการสภาการแพทย์แผนไทย พร้อมย้ำขอให้เชื่อมั่นในความถูกต้อง ชี้จะเร่งดำเนินการหาทางออกและให้ความช่วยเหลือและเป็นธรรมแน่นอน

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) โฆษกกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสภาการแพทย์แผนไทย เป็นผู้แทน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับหนังสือจากผู้แทนศูนย์ช่วยรับเรื่องร้องเรียนฯสมาคมรักษ์แผนไทย ซึ่งเดินทางมายื่นหนังสือร้องทุกข์ ขอให้ นพ.ชลน่าน ช่วยเหลือ

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นายแพทย์ชลน่านได้มอบหมายลงนามและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้สั่งการไปยังศูนย์ร้องทุกข์และกลุ่มแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกว่า ขอให้ดูแลเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามโดยเบื้องต้นเรื่องที่ทุกท่านมาร้องขอความเป็นธรรม เรามีความเห็นใจและจะเร่งดำเนินการทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยเร็ว ขอให้เชื่อมั่นในความถูกต้อง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารได้กำชับมาโดยตลอดว่า เรื่องการดูแลความเป็นธรรมความถูกต้องและการบริหารจัดการในเรื่องต่างๆที่ทุกคนได้ยื่นเรื่องเข้ามาถือเป็นความสำคัญที่ต้องหาทางออกช่วยกัน

ขณะที่ นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวเสริมว่า จริงๆทางกรมการแพทย์แผนไทยและอธิบดีได้รับทราบเรื่องอยู่แล้ว และได้มีการประชุมกันในด้านผู้บริหารรวมถึงการเตรียมข้อมูลและข้อกฎหมายต่างๆสำหรับหาทางออกและช่วยเหลืออยู่แล้ว รวมถึงท่าน รมว.สธ. ได้กำชับให้มีผู้แทนเข้ามาร่วมด้วยในการช่วยเหลือตรงนี้ เราในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสภาการแพทย์แผนไทย จะทำหน้าที่ดูแลในเรื่องนี้แน่นอน

ด้านพลเรือเอกชาญชัย เจริญสุวรรณ นายกสมาคมรักษ์แผนไทย ให้ข้อมูลในการมาครั้งนี้ว่า การมาร้องเรียนครั้งนี้ เนื่องจากต้องการให้ทางนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการสธ. ในฐานะสภานายกพิเศษ ตรวจสอบคณะกรรมการสภาฯชุดปัจจุบัน ที่ดำรงตำแหน่งในวาระ 2565-2568  ดังต่อไปนี้ คือ

1. การใช้อำนาจที่อาจมีการฝ่าฝืนและเกินขอบอำนาจตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556

2. การออกข้อบังคับและประกาศสภาการแพทย์แผนไทยที่โดยไม่ผ่านคณะกรรมการสภาการแพทย์แผนไทยและสภานายกพิเศษ ซึ่งต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556  มาตรา24 และมาตรา 30 ได้แก่

2.1 ข้อบังคับสภาการแพทย์แผนไทย ว่าด้วยองค์ประกอบ คุณสมบัติและวิธีการได้มาและอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ พ.ศ. 2566  ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ และข้อบังคับสภาการแพทย์แผนไทย ว่าด้วยการเป็นสมาชิกการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2566 ซึ่งเกินจากขอบอำนาจของพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2556

2.2 การออกประกาศสภาการแพทย์แผนไทย ฉบับที่ 28/2566 เรื่อง การฝึกอบรมด้านการแพทย์แผนไทย  ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 แและการออกประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่อง ข้อกำหนด 11  ฉบับ ที่เกินจากขอบอำนาจจากพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2556 และก้าวล่วงกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สถานพยาบาล และพืชสมุนไพร  อันส่งผลกระทบต่อกำหมายของหลายหน่วยงานและก่อให้เกิดความเสียหายและเกิดความสับสนต่อสมาชิกสภาการแพทย์แผนไทยและประชาชนทั่วไป

 

 

 

 

 

ฟังอีกมุมทางด้านผู้จัดสอบ โดยผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย เคยให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสเมื่อช่วงปี 2565 เกี่ยวกับการสอบที่คะแนนเป็นศูนย์ (นาทีที่ 08.19น.)