ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข ตั้งเป้าการควบคุมโรคต้องสอดคล้องเป้าหมายพัฒนายั่งยืน หรือ SDGs ชูป 2 ประเด็นสำคัญ คือ ลดอุบัติเหตุ และกำจัดวัณโรคให้ได้ในปี 2573 ด้าน “หมอธงชัย” รักษาราชการแทนอธิบดี เดินหน้าดำเนินการ หากทำได้ จะสามารถบรรลุตามเป้าประสงค์เป็น 1 ใน 3 ของระดับนานาชาติด้านการป้องกันโรค

2 ประเด็นสำคัญสู่เป้าหมาย SDGs

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยมที่กรมควบคุมโรค โดยมีประเด็นในเรื่องการป้องกันควบคุมโรคที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือที่เรียกว่า SDGs (Sustainable Development Goals) ว่า สำหรับตัวชี้วัดของ SDGs มีทั้งหมด 17 ตัว ของเราที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ คือ การควบคุมวัณโรค และอุบัติเหตุจากการจราจร ซึ่งเป็นภารกิจหน้าที่ของกรมควบคุมโรควางแนวดำเนินการเรื่องนี้ มีเป้าหมายอยู่ เช่น ปี 2573 เราจะขจัดวัณโรค มีการป้องกัน ดูแล รักษา ฟื้นฟูสภาพจากอุบัติเหตุทางถนนก็มีอยู่ ในมุมของเราที่จะลดได้ต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน

โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางถนน กรมควบคุมโรคเป็นส่วนหนึ่ง เพราะอุบัติเหตุทางถนนไม่ได้เกิดแค่พฤติกรรมบุคคล มีเรื่องสภาพถนน วิศวกรรม พฤติกรรมของมนุษย์ เครื่องจักรเครื่องยนต์ หลายปัจจัยเกี่ยวข้อง จึงต้องดูทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ของเราที่จะเน้นหนักคือ ก่อนเกิดเหตุ โดยให้ความรู้ความเข้าใจ มาตรการเตรียมความพร้อมรองรับในภาวะเกิดเหตุ และขณะเกิดเหตุเข้าไปช่วยเหลือให้ทันท่วงทีอย่างไร จะมีกำหนดเวลาอยู่ในการถึงจุดเกิดเหตุ เป็นเกณฑ์วัดที่เราต้องทำ การส่งต่อผู้ป่วยไปดูแลรักษา

กำจัดวัณโรคให้ได้ในปี 2573

"วัณโรคเรามั่นใจว่า ต่อไปถ้าเรามีการดูแลจัดการอย่างเข้มข้น เราลดจำนวนวัณโรคตามเป้าหมายได้ กรมควบคุมโรคมีรถเคลื่อนที่พระราชทาน สามารถนำมาใช้ในการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคได้ และมาตรการควบคุมวัณโรคในเรือนจำ มีโครงการราชทัณฑ์ปันสุขในการตรวจคัดกรองก่อนที่จะส่งเข้าขัง ถ้าพบเจอก็แยกและรักษาป้องกันการแพร่เชื้อ การค้นหาในชุมชน วางโครงข่ายเฝ้าระวังค้นหาทุกชุมชนถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนแรงงานต่างด้าวที่พบมากถือเป็นกลุ่มเปราะบางตามนโยบายหลักของก็ต้องให้ความสำคัญดูแล ตั้งแต่การค้นหา วินิจฉัย รักษา และติดตาม ส่วนระยะเวลาดำเนินการให้ได้ตามเป้าของ SDGs ก็มีการกำหนดเวลาอยู่ อย่างวัณโรคคือปี 2573 ส่วนอุบัติเหตุวางเป้ายาก ก็พยายามประสานทุกหน่วยงานที่จะลดให้ได้มากที่สุด" นพ.ชลน่านกล่าว

รู้จัก SDGs ด้านการควบคุมโรค

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs  ใน  4 ด้าน ประกอบด้วย  1.โรคติดต่อสำคัญ ซึ่งโรคเรื้อน ต้องมีผู้ป่วยรายใหม่ ไม่เกิน 98 ราย  ผู้ป่วยโปลิโอ 0 ราย มาลาเรียป่วยน้อยกว่า 1ต่อ 1,000 ประชากรภายในปี  2573 โรคเอดส์เสียชีวิตลดลง  80 % โรคพิษสุนัขบ้า เสียชีวิต  0 ราย ซึ่งไทยสามารถดำเนินการเป็นไปตามเป้าของความยั่งยืน ยกเว้นวัณโรคที่ยังติดตัวแดงไม่เป็นไปตามเป้าตัวชี้วัดที่จะต้องมีผู้ป่วยต่ำกว่า 10 ต่อประชากรแสนคน

2.โรคไม่ติดต่อ   โรคไม่ติดต่อตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังลดลง อยู่ที่ 274 ต่อแสนประชากร จมน้ำเสียชีวิตลดลง 80 % เป็นไปตามเกณฑ์ แต่บาดเจ็บจากการจราจรลดอัตราตรายลง 50 % จากปี  2554 ต้องมี 10.95 ต่อแสนประชากร  ซึ่งยังเป็นส่วนที่ตกเป้าตัวชี้วัด

3.ปัจจัยเสี่ยง  ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยควบคุมความดันโลหิตได้ 90 % เบาหวาน ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้  90 % ยาสูบ ความชุกของผู้สูบบุหรี่อายุ 15 ปีลดลง 50 % แอลกอฮอล์ ปริมาณการบริโรคต่อประชากร 15 ปีขึ้นไป ลดลง 40 %

 4.โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม  แรงงานนอกระบบประกันสังคม แรงงานเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น 55  % พิษโลหะฟนัก อัตราป่วยโรคพิษโลหะหนักในประชากรอายุ 0-14 ปีไม่เกิน 0.1 ต่อประชากรแสนคน และเกษตรกรรม อัตราป่วยด้วยโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืชไม่เกิน 4 % ต่อแสนประชากร 

ตั้งเป้า 1 ใน 3 ขึ้นแท่นนานาชาติด้านป้องกันโรค

“ถ้าดูจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเรื่องของการป้องกันควบคุมโรคแล้ว พบว่าจะมี 2 ตัวที่ประเทศไทยยังตกเกณฑ์ หรือไม่ถึงเป้าของความยั่งยืน คือโรควัณโรคและบาดเจ็บจากการจราจร ซึ่งหากสามารถบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ไทยสามารถบรรลุได้ตามเป้าประสงค์ที่จะเป็น 1 ใน 3 ของระดับนานาชาติด้านการป้องกันโรค จากที่ล่าสุดอยู่ที่อันดับ 1ของเอเชีย และอันดับ  5 ของโลกโดยอันดับ 1 คือ อเมริกา ตามมาด้วยออสเตรเลีย ฟินแลนด์ แคนาดา และไทย”นพ.ธงชัยกล่าว 

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง