ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผนึกกำลังสร้างความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่น สสส. สานพลังภาคีเครือข่ายหนุนเสริมงานการทำงานจากระดับตำบล 115 อปท. สู่ “อำเภอขับขี่ปลอดภัย” นำร่อง 10 อำเภอต้นแบบ พัฒนาทักษะคนทำงาน ขับเคลื่อนนโยบายระดับตำบล-อำเภอ-จังหวัด-อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2566 ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติเพื่อจัดทำแผนความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่นประจำปี 2567 และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “อำเภอขับขี่ปลอดภัย”

นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า สสส. โดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) บูรณาการความร่วมมือกับสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (สำนัก 10) ขยายเครือข่ายตำบลสุขภาวะ และหน่วยงานในระดับอำเภอ โดยในระยะแรกดำเนินงานตำบลขับขี่ปลอดภัย 115 ตำบลและในปีนี้ขยายการทำงานสู่ระดับอำเภอเชื่อมต่อพื้นที่อำเภอเสี่ยงสูงและสูงมาก 21 อำเภอจาก 275 อำเภอ (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค) ในปี 2566 เพื่อให้เกิดมีแผนมีการทำงานจัดการความปลอดภัยทางถนน จากตำบลสู่อำเภอเชื่อมโยงสู่จังหวัดและระดับประเทศในที่สุด สนับสนุนให้เกิดการยกระดับการทำงาน และขับเคลื่อนเป้าหมายการลดอุบัติเหตุ สู่ “อำเภอขับขี่ปลอดภัย” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบกลไกจัดการความปลอดภัยทางถนน กำหนดเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับตำบล และอำเภอ ในพื้นที่นำร่อง 10 อำเภอ  ซึ่งระบบของชุมชนท้องถิ่นในการสนับสนุนการทำงานตามยุทธศาสตร์S-2I คือ

1) การจัดการพื้นที่ (Systematization)

2) การสร้างและพัฒนานวัตกรรมชุมชน (Innovative Creation)

3) การบูรณาการภายในชุมชนท้องถิ่น และหน่วยงานสนับสนุนจากภายนอก (Integration and Collaboration)

ใช้แนวคิด เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ศักยภาพทุนทางสังคม กระตุ้นให้เกิดแนวทางการพัฒนา และวิธีการใหม่ พัฒนาทักษะคนทำงาน ร่วมขับเคลื่อนนโยบายทั้งระดับอำเภอ จังหวัด ภูมิภาค ประเทศ อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

นางธัญญา  แสงอุบล ผู้รับผิดชอบโครงการเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นเพื่อการจัดการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า จากการขับเคลื่อน “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” 115 องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานตำบลขับขี่ปลอดภัย โดยในช่วงเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ปี 2566 เกิดการทำงานร่วมกันระหว่าง 11 ศูนย์ประสานงานกับ ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนหรือ ศปถ.อำเภอ เกิดรูปธรรมในการทำงานจาก ตำบลขับขี่ปลอดภัยสู่อำเภอขับขี่ปลอดภัย เป็นที่มาของการนำบทเรียน และแนวทางการออกแบบการทำงานร่วมกันในพื้นที่ตำบล และอำเภอ โดยใช้ทุน ศักยภาพในการบริหารจัดการระดับพื้นที่ตำบล และอำเภอให้มีความสามารถในการจัดการความปลอดภัยทางถนน สร้างกลไกเชื่อมประสาน 4 ภาค ของเครือข่ายตำบลสุขภาวะ  สนับสนุนการขับเคลื่อนงานตำบลขับขี่ปลอดภัย 115 ตำบล และ ยกระดับสู่ 10 อำเภอขับขี่ปลอดภัย สานพลังความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปี 2565 จำนวน 17,379 ราย ประมาณการมีผู้พิการอีกกว่า 7,000 รายต่อปี อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ และมีข้อมูลว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเสียชีวิตไม่ไกลจากบ้านในระยะ 5-10 กิโลเมตร จึงต้องเร่งสร้างมาตรการและกลไกจัดการเสริมความร่วมมือท้องถิ่นสู่ความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แนวคิดขับเคลื่อน

1. วิเคราะห์ความเสี่ยง ให้ลึกถึงรากปัญหา ของสภาพแวดล้อม เงื่อนไขที่ไม่ปลอดภัย ปัจจัยเสี่ยง ร่วมแก้ปัญหากับเจ้าของพื้นที่ ร่วมกันจัดการปัญหา

2. เชื่อมกลไกกับ ศปถ. บูรณาการมาตรการกับผู้เกี่ยวข้องให้เกิดความยั่งยืน เกิดมาตรการชุมชน อาทิ บริเวณหน้าโรงเรียน ควรบูรณาการความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ ตำรวจ และโรงเรียน จัดการกายภาพและมีระบบเฝ้าระวังความเสี่ยงหน้าโรงเรียน มีระบบอบรม ส่งเสริมกำกับ ลงโทษกรณีไม่ชะลอหยุด หรือถ้าชนคนข้าม ลงโทษหนัก และทางโรงเรียน ส่งเสริมการเรียนรู้ “คาดการณ์  ทักษะข้ามถนน” ที่ปลอดภัย ประเมินก่อนและขณะข้าม ไม่เล่นมือถือ ฯลฯ

รายชื่อ 10 “อำเภอขับขี่ปลอดภัย
1. อำเภอวังทอง ศปง.ทต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
2. อำเภอเมืองลำพูน ศปง.อบต.หนองหนาม อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน
3. อำเภอเมืองอุทัยธานี ศปง.อบต.น้ำซึม อ.เมืองอุทัยธานี จ.อุทัยธานี
4. อำเภอบ้านแฮด ศปง.ทต.บ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น
5. อำเภอสุวรรณภูมิ ศปง.ทต.สุวรรณภูมิ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
6. อำเภอหนองกี่ ศปง.อบต.บุกระสัง อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ 
7. อำเภอท่ายาง ศปง.อบต.ท่าคอย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
8. อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ศปง.อบต.ห้วยทราย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์
9. อำเภอเมืองสตูล ศปง.อบต.ฉลุง อ.เมืองสตูล จ.สตูล
10. อำเภอรัตภูมิ ศปง.อบต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ. สงขลา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง