ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคย้ำ! ประชาชนยังฉีดวัคซีนโควิด mRNA ได้ มีคณะอนุกรรมการฯ ติดตามประเมินผล ขณะที่ WHO แนะนำเช่นเดิมฉีดป้องกันเป็นเข้มกระตุ้นปีละ 1 ครั้ง ในกลุ่มเสี่ยง ด้านผู้ทรงฯคร.เผย หากภูมิคุ้มกันต่ำมากอาจฉีดปีละ 2 ครั้ง ขอให้ปรึกษาแพทย์ ส่วนปชช.ทั่วไปไม่บังคับ เป็นไปตามสมัครใจ ขณะนี้ยังไม่มีค่าใช้จ่าย

ตามที่กรมควบคุมโรค แถลงเตือนพร้อมให้คำแนะนำประชาชนกรณี “3 โรคระบาดแน่ปี 67” และอีก 12 โรคต้องเฝ้าระวัง โดยโรคที่มีการระบาดแน่ในปีนี้ คือ โควิด ไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก จะมีแผนดำเนินการป้องกันอย่างไร และกรณีโรคโควิด19 หลายคนยังเกิดคำถามถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนป้องกันว่า ยังต้องฉีดในกลุ่มประชาชนทั่วไปหรือไม่อย่างไร และโรคนี้มีความเสี่ยงจะรุนแรงขึ้นหรือไม่

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เตือนประชาชน  ‘ 3 โรคระบาดแน่ปี 67’ และอีก 12 โรคต้องเฝ้าระวัง)

เมื่อวันที่ 10 มกราคม นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า  จากการที่ออกมาเตือนเรื่องโรคระบาดแน่ในปี 2567 ทั้งโควิด19 ไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออกนั้น ทั้งหมดได้มีการสื่อสารเพื่อให้ระมัดระวัง และป้องกันตนเอง อย่างไข้เลือดออก มีพาหะเป็นยุงลาย ต้องป้องกันการถูกยุงกัด กำจัดลูกน้ำยุงลาย  ที่สำคัญเมื่อมีอาการไข้ ให้ทานยาพาราเซตามอลอย่างเดียว หากไปทานยาชนิดอื่นๆ อย่างกลุ่มเอ็นเซด จะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้  ส่วนโรคโควิด19และไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจก็ยังแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย เพียงแต่ไม่ได้เข้มเหมือนตอนโควิดระบาดใหม่ๆ อย่างหากเราไปในสถานที่แออัด คนเยอะๆ ก็ขอให้สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะคนที่ป่วย ไอ มีน้ำมูก ขอให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อไปผู้อื่นๆ การล้างมือก็สำคัญเช่นกัน

“ส่วนเรื่องความจำเป็นของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดนั้น เรายังมีวัคซีนพร้อมอยู่ แต่ตามองค์การอนามัยโลก แนะนำให้ฉีดปีละ 1 ครั้ง 1 เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ส่วนประชาชนทั่วไปอยู่ที่ความสมัครใจ ตอนนี้เราเน้นการฉีดเป็นเข็มกระตุ้น ซึ่งอยู่ในสิทธิประโยชน์ไม่เสียค่าใช้จ่าย” นพ.ธงชัย กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลข้างเคียงของวัคซีนโควิดชนิด mRNA ว่าอาจมีผลภูมิคุ้มกันปกติ ทางกรมควบคุมโรคมีข้อแนะนำหรือไม่  นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนยังจำเป็น โดยกลุ่มเปราะบางฉีดปีละครั้ง หากภูมิคุ้มกันต่ำมากอาจปีละ 2 ครั้ง เช่น รับยากดภูมิ ให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล ส่วนวัคซีน mRNA ยังฉีดได้อยู่ เรามีการติดตามผลข้างเคียงวัคซีนทุกชนิด รวมถึง mRNA ว่ามีภาวะแทรกซ้อน มีผลผิดปกติที่ต้องแจ้งเตือนติดตามใกล้ชิดหรือไม่ คณะกรรมการฯ มีทั้งผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรค รวมถึงโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ใหญ่ๆ เช่นจุฬาฯ ศิริราช และมีหลากหลายสาขามาช่วยประเมินภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จึงมั่นใจได้ว่ามีผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาช่วยดูแลตรงนี้

ด้าน นพ.ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เรามีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ที่ติดตามเรื่องการให้วัคซีนอยู่อย่างน้อยประชุมเดือนละ 1 ครั้ง  ซึ่งจะประเมินเรื่องการฉีดวัคซีนชนิดต่างๆ ไม่ใช่วัคซีนโควิดอย่างเดียว แต่ยังรวมวัคซีนอื่นๆ ดังนั้น ทุกครั้งที่ผลออกมาจะไม่ใช่จากกรมควบคุมโรคเท่านั้น แต่มาจากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โรงเรียนแพทย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีอะไรน่ากังวล

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ระวัง! ไข้เลือดออกปี 67 หนัก! ติดเชื้อครั้งที่สองอันตราย ส่วนไวรัสซิกาพบอยู่ในอสุจินาน 3 เดือน)