ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเตือนปี 67 ไข้เลือดออกระบาดหนักแน่! คาดป่วยกว่า 2.7 แสน เสียชีวิต 280 ราย ชี้ติดได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ พบมากในผู้ใหญ่ แตกต่างจากอดีตมักเจอในเด็ก ขณะที่หากติดเชื้อครั้งที่สองยิ่งรุนแรง เสี่ยงเสียชีวิต นอกจากนี้ ยุงลายยังก่อไวรัสซิกาในหญิงท้อง เสี่ยงลูกพิการหัวเล็ก หนำซ้ำยังพบข้อมูลบางรายงานเชื้ออยู่ในอสุจิกว่า 3 เดือน  

ตามที่กรมควบคุมโรค แถลงเตือนพร้อมให้คำแนะนำประชาชนกรณี “3 โรคระบาดแน่ปี 67” และอีก 12 โรคต้องเฝ้าระวัง โดยโรคที่มีการระบาดแน่ในปีนี้ คือ โควิด ไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก ปรากฎว่า มีการเผยข้อมูลไข้เลือดออกต้องระวังในการติดเชื้อครั้งที่สอง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่เสี่ยงเสียชีวิตนั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เตือนประชาชน  ‘ 3 โรคระบาดแน่ปี 67’ และอีก 12 โรคต้องเฝ้าระวัง)

เมื่อวันที่ 10 มกราคม นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงโรคไข้เลือดออกว่า  ในปี 2566 พบผู้ติดเชื้อประมาณ 150,000 ราย ซึ่งในปี 2567  คาดว่าจะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น อยู่ที่ประมาณ 276,945 ราย เสียชีวิต 280 ราย ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้จะพบผู้ติดเชื้อสูงสุดของค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังถึง 3 เท่าตัว โดยการระบาดจะเริ่มช่วงเดือนเมษายน และธรรมชาติของโรคไข้เลือดออกมักระบาด 2 ปีติดต่อกัน ดังนั้น สิ่งที่จะเน้นย้ำกับประชาชนคือ การป้องกันยุงกัด โดยสวมเสื้อผ้าแขนยาว ขายาว ใช้ทายากันยุง และหากมีอาการไข้สูงลอยควรรีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะยากลุ่มเอ็นเสด ยาสเตียรอยด์ เพราะเสี่ยงเสียชีวิตได้

ไข้เลือดออกเสียชีวิตมากในผู้ใหญ่ เหตุป่วยครั้งที่สอง

“เดิมผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วเสียชีวิตจะพบมากในกลุ่มเด็ก แต่ปัจจุบันพบว่าผู้เสียชีวิตสูงสุดเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว ทำให้ขณะนี้โรคไข้เลือดออกเป็นโรคของทุกกลุ่มวัยแล้ว โดยการติดเชื้อครั้งแรกอาการอาจจะไม่มาก แต่ถ้ามีการติดเชื้อซ้ำจะมีความรุนแรงสูงมาก ส่วนสาเหตุที่มีการติดเชื้อซ้ำได้เพราะ ไข้เลือดออกมีถึง 4 สายพันธุ์ ดังนั้นใน 1 ชีวิตเราสามารถติดได้ถึง 4 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกทุกพื้นที่ ซึ่งในปีก่อนอาจมีการเฝ้าระวังบางจังหวัดที่พบผู้ป่วยเยอะ แต่เราคาดว่าปีนี้จะพบได้ทั้งหมด เสี่ยงได้ทุกกลุ่ม จึงต้องขอให้ประชาชนระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำ” อธิบดีฯกล่าว

ปัจจุบันไข้เลือดออกพบได้ทั้ง 4 สายพันธุ์   

เมื่อถามถึงกรณีอาการรุนแรงการติดเชื้อครั้งที่สองของไข้เลือดออก  พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ติดครั้งแรกอาการอาจไม่ค่อยรุนแรง ซีเรียสคือครั้งที่สอง จะมีภูมิคุ้มกันขึ้นต่อทุกสายพันธุ์และอยู่ได้นาน ทำให้ครั้งที่สามและสี่จะไม่ค่อยรุนแรง ปัจจุบันการเสียชีวิตอยู่ในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความดัน เบาหวาน กลุ่มเหล่านี้ต้องรีบวินิจฉัยให้เร็ว การรักษาให้น้ำเกลือ หลีกเลี่ยงเรื่องยาที่อาจเป็นอันตราย

“สิ่งสำคัญยังขึ้นกับลักษณะพื้นที่ หากพื้นที่มีการติดเชื้อมากและรุนแรง ก็อาจเจอเด็กที่ติดเชื้อครั้งที่สองและมีอาการรุนแรงได้มาก ซึ่งช่วงโควิดการติดไข้เลือดออกลดลงมาก ประชากรไม่มีภูมิไข้เลือดออกสะสมจึงเยอะพอสมควร ตอนนี้ดูสายพันธุ์ระบาดไม่ได้โดดเด่นที่สายพันธุ์เดียว เราเจอทั้ง 4 สายพันธุ์ และทุกสายพันธุ์ทำให้เสียชีวิตได้ ทางระบาดวิทยาจึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด” พญ.จุไร กล่าว

ข้อมูลบางรายงานเชื้อซิกาอยู่ในอสุจิชายกว่า 3 เดือน  

เมื่อถามถึงการติดเชื้อไวรัสซิกาผ่านเพศสัมพันธ์จากเชื้อที่อยู่ในอสุจิ  พญ.จุไรกล่าวว่า ปกติจะเชื้อติดทางยุงกัด เป็นได้ทั้งชายและหญิง ส่วนในยุโรปเจอเคสติดเชื้อที่ไม่ใช่ยุง แต่เป็นเพศสัมพันธ์ โดยหลังติดเชื้อซิกาเฉียบพลัน หลังหายยังอาจเจอเชื้อได้ เช่น อสุจิอยู่ได้นานเป็นเดือน เราจึงแนะนำว่าหลังติดเชื้ออาจเลี่ยงมีเพศสัมพันธ์ระยะหนึ่ง ซึ่งบางเปเปอร์บอกว่าอาจนานกว่า 3 เดือน แต่จริงๆ เรากังวลในหญิงตั้งครรภ์ เพราะทารกจะศีรษะเล็ก มีปัญหาพัฒนาการ อย่างบางรายทารกออกมาศีรษะเล็ก แม่บอกว่าเคยมีอาการออกผื่นหน่อยๆ แต่ไม่มีไข้ ซึ่งการติดไปสู่ลูกนั้น หญิงตั้งครรภ์มีเชื้อซิกาเชื้อจะอยู่ได้นาน

ไม่ยืนยันว่า ติดซิกาแล้วลูกจะหัวเล็กทุกราย ขึ้นกับสายพันธุ์

ถามว่าหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อซิกาจะมีทารกศีรษะเล็กทุกรายหรือไม่ และมีวิธีป้องกันไม่ให้ศีรษะเล็กหรือไม่  พญ.จุไรกล่าวว่า ข้อมูลไม่ได้บอกว่าติดเชื้อซิกาแล้วลูกจะต้องหัวเล็ก ขึ้นกับสายพันธุ์ที่เป็น อย่างอเมริกาใต้อาจเป้นสายพันธุ์รุนแรง เจอศีรษะเล็กเยอะ แต่ของเราไม่ได้ 100% ว่าจะต้องศีรษะเล็ก ต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป นอกจากนี้ เรายังติดตามเด็กทารกที่คลอดจากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อซิกา 2 ปี ส่วนใหญ่ปกติ พัฒนาการปกติ อาจเจอเรื่องการได้ยินลดลง และกำลังวิจัยดูเรื่องยารักษาให้หญิงตั้งครรภ์ต่อไป

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมควบคุมโรคเผยวัคซีนโควิดชนิด mRNA ยังฉีดได้ตามเดิม)