ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอยง ระบุ โควิด JN.1 จะเป็นสายพันธุ์หลักในไทย โดยผู้ป่วยจะลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนจะเริ่มฤดูกาลใหม่เดือนมิถุนายน 2567 นี้

วันที่ 11 มกราคม 2567 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า โควิด-19 สายพันธุ์ JN.1 เป็นสายพันธุ์ที่พบมากแล้วในขณะนี้ 

ในที่สุด การคาดการณ์ว่าสายพันธุ์ JN.1 ที่ระบาดและติดต่อได้ง่าย ก็เข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย

จากการศึกษาของศูนย์ไวรัส ถอดรหัสพันธุกรรม ในเดือนธันวาคม 14 ตัวอย่าง (ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่รอวิเคราะห์) ด้วยงบประมาณที่จำกัด พบว่าสายพันธุ์เด่นที่พบมากที่สุด เป็นสายพันธุ์ JN.1 แล้ว หลังปีใหม่นี้สายพันธุ์ JN.1 จะเป็นสายพันธุ์หลัก หรือเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นสายพันธุ์ติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมที่ผ่านมา

สายพันธุ์ JN.1 พบครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เป็นลูกของสายพันธุ์ BA.2.86 (Pilora ชื่อของดาวเคราะห์น้อย) เป็นสายพันธุ์ที่ติดต่อได้ง่ายและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าสายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อื่นทั้งหมด

เป็นตามคาดหมาย สายพันธุ์นี้เข้ามาสู่ประเทศไทย เริ่มเด่นชัดในเดือนธันวาคมและแน่นอนหลังปีใหม่นี้ ก็น่าจะเป็นสายพันธุ์ JN.1 สายพันธุ์ใหม่ขณะนี้ยังไม่มีชื่อเล่น

ผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ JN.1 อาการไม่รุนแรง บางคนเพียงเป็นหวัด เจ็บคอเหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไป ติดต่อได้ง่าย เป็นแล้วก็สามารถเป็นอีก จึงทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังปีใหม่นี้ และคาดว่าผู้ป่วยจะเริ่มลดลงหลังเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ โดยจะลดลงอย่างมากในเดือนมีนาคม แล้วจะสงบลง จนไปถึงฤดูกาลใหม่ในเดือนมิถุนายนปีนี้

ขณะนี้ทางศูนย์ ได้ติดตามสายพันธุ์อยู่ตลอด เนื่องจากมีงบประมาณที่จำกัด จึงทำจำนวนได้ไม่มาก เพื่อเฝ้าระวังแนวโน้มสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังแสดงในรูป จะเห็นว่าสายพันธุ์เด่นในเดือนพฤศจิกายน เป็น HK3 แล้วเปลี่ยนเป็น JN.1 ในเดือนธันวาคม และในเดือนนี้สายพันธุ์ส่วนใหญ่จะเป็น JN.1 เพราะแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น

ความรุนแรงของโรคไม่ได้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่สำคัญที่ต้องศึกษาขณะนี้คือ ระบบภูมิต้านทานเดิมที่มีอยู่มีผลอย่างไร กับการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ใหม่ โดยจะนำสายพันธุ์ใหม่ มาเพราะเชื้อขยายจำนวน แล้วทดสอบกับปฏิกิริยาภูมิต้านทาน ในคนไทย ที่ได้รับวัคซีนชนิดต่างๆ และการติดเชื้อที่ผ่านมา