ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“14 เม.ย. วันครอบครัว” สปสช. รณรงค์คนไทยทั่วประเทศ ใส่ใจดูแลสุขภาพ ชวนสมาชิกในครอบครัวรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 5 กลุ่มวัย สู่ “ครอบครัวสุขภาพดี” ตรวจสอบสิทธิรับบริการผ่านเมนู “กระเป๋าสุขภาพ” บนแอปเป๋าตัง หรือ พีพีแพลตฟอร์ม บนเว็บไซด์ สปสช.  

วันที่ 14 เมษายน 2567 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า “ครอบครัว” เป็นสถาบันสังคมที่เล็กที่สุด แต่เป็นสถาบันที่มีความสำคัญที่สุด ด้วยเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การสร้างสังคมที่ดี และความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัว เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 คณะรัฐมนตรีซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้ทุกวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็น “วันครอบครัว” ซึ่งอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือ ปีใหม่ไทย เป็นช่วงที่คนไทยที่พักอาศัยอยู่ต่างจังหวัดนิยมกลับภูมิลำเนา เพื่อรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ ทำให้เป็นโอกาสที่สมาชิกในครอบครัวจะได้พบปะกันและทำกิจกรรมต่างๆ อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา

ทั้งนี้ ในโอกาส “วันครอบครัว” นี้ เพื่อให้สมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ หรือลูกๆ หลานๆ มีสุขภาพที่ดี และห่างไกลภาวะเจ็บป่วยจากโรคที่ป้องกันได้ สปสช. ขอเชิญชวนให้สมาชิกในครอบครัวชวนกันรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ซึ่งเป็นบริการที่ สปสช. จัดขึ้นเพื่อดูแลสุขภาพคนไทยทุกคน เพื่อให้เป็น “ครอบครัวสุขภาพดี”
 นพ.จเด็จ กล่าวว่า สิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภพและป้องกันโรคนี้ ได้ครอบคลุมการดูแลประชาชน โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มวัย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงผู้สูงอายุ ดังนี้

กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด อาทิ ทดสอบการตั้งครรภ์ ตรวจครรภ์และประเมินความเสี่ยง ตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์ ตรวจเลือดคัดกรองภาวะซีด ซิฟิลิส เอชไอวี ตับอักเสบบี ธาลัสซีเมียและดาวน์ ตรวจปัสสาวะ ฉีดวัคซีนคอตีบ บาดทะยักและวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ให้ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็ก โฟลิกและไอโอดีน การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ตรวจช่องปากและฟัน ขัดและทำความสะอาดฟันรวมถึงการขูดหินน้ำลาย ประเมินสุขภาพจิต ตรวจหลังคลอดและคุมกำเนิด ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สมุดบันทึกสุขภาพ การคัดกรองธาลัสซีเมีย รวมทั้งการคัดกรองธาลัสซีเมียในคู่ของหญิงตั้งครรภ์

กลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-5 ปี ฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค ตับอักเสบบี บาดทะยัก คอตีบ ไอกรน โปลิโอ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า หัด หัดเยอรมัน คางทูม ไข้หวัดใหญ่และไข้สมองอักเสบเจอี ตรวจเลือดคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์(โรคเอ๋อ) โรคฟีนิลคีโตนูเรียและโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิกภาวะซีดการติดเชื้อเอไอวี ตรวจคัดกรองการได้ยิน ชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูงเพื่อติดตามการเจริญเติบโต ตรวจคัดกรองพัฒนาการ ตรวจคัดกรองวัณโรค(กลุ่มเสี่ยง) ตรวจช่องปากและฟัน เคลือบฟลูออไรด์ การให้ยาไทรอกซินป้องกันภาวะพร่องไทรอยด์ ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็ก ยาต้านไวรัสเอชไอวี สมุดบันทึกสุขภาพ/บันทึกพัฒนาการ และแว่นตาหากมีภาวะสายตาผิดปกติ   

กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นอายุ 6-24 ปี ฉีดวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ฉีดวัคซีนเอชพีวีป้องกันมะเร็งปากมดลูก (สำหรับนักเรียนหญิง ป.5) ชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูงเพื่อติดตามการเจริญเติบโต ตรวจเลือด คัดกรองภาวะซีด เอชไอวี ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจคัดกรองสายตาและการได้ยิน คัดกรองความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่/สุรา/สารเสพติด ตรวจคัดกรองวัณโรค ตรวจช่องปากและฟัน เคลือบฟลูออไรด์และหลุมร่องฟัน การให้ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก แว่นตาหากมีภาวะสายตาผิดปกติ (สำหรับอายุ 6-12 ปี หรือนักเรียน ป.1-ป.6) ป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ คุมกำเนิด และให้คำปรึกษาแนะนำการป้องกันเอชไอวีหลังสัมผัส 

กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25-59 ปี ฉีดวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจเลือดคัดกรองเบาหวาน เอชไอวี คัดกรองความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่/สุรา/สารเสพติด คัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ตรวจคัดกรองวัณโรค มะเร็งช่องปาก ตรวจคัดกรองการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม คัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตรวจอุจจาระคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (50-70 ปี) เคลือบฟลูออไรด์ การให้ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก ป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ คุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดให้ความรู้ตรวจเต้านมด้วยตนเอง และให้คำปรึกษาแนะนำการป้องกันเอชไอวีหลังสัมผัส

กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ตรวจประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน (ADL) ตรวจวัดดัชนีมวลกาย ความดันโลหิต ตรวจเลือดคัดกรองเบาหวาน เอชไอวี คัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง คัดกรองโรคซึมเศร้า คัดกรองวัณโรค มะเร็งช่องปาก ตรวจคัดกรองการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม ตรวจอุจจาระคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (50-70 ปี) เคลือบฟลูออไรด์ ให้ความรู้ออกกำลังกายและฝึกสมองป้องกันโรคสมองเสื่อม ให้ความรู้ตรวจเต้านมด้วยตนเอง ตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน และให้คำปรึกษาแนะนำการป้องกันเอชไอวีหลังสัมผัส

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 และสายด่วนสุขภาพจิต 1323 สำหรับทุกกลุ่มวัย และบริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ที่เป็นการดูแล 7 กลุ่มเสี่ยง ดังนี้ 1.หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกกลุ่มอายุ(เบาหวาน ไตวาย หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หลอดเลือดสมอง และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด) 4. ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

6. ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย  ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ 7. ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร สำหรับการรับบริการตามสิทธิประโยชน์ข้างต้นนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิใช้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแต่ละกลุ่มวัยได้ที่แอปพลิเคชันเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ และไลน์ สปสช. (พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso) เลือกเมนูสิทธิตรวจสุขภาพฟรี