ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เฝ้าระวังการตลาดน้ำเมา พบ! ผิดกฎหมายกว่า 73 จุด ถอดบทเรียนสงกรานต์ทำมิวสิค มาร์เก็ตติ้ง ทั่วไทย เปิดฟรีคอนเสิร์ต-เก็บตั๋วแลกเครื่องดื่ม จี้รัฐกำหนดมาตรการเฉพาะกิจให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาในการจัดงานช่วงเทศกาลขนาดใหญ่ พร้อมหนุนพื้นที่ทำกิจกรรมปลอดเหล้า  

เมื่อวันที่ 15 เมษายน นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สคล.ได้ร่วมกับอาสาสมัครเฝ้าระวังการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ พร้อมติดตามการตลาดของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอออล์รายใหญ่ 3 ราย ในเทศกาลสงกรานต์ ระหว่าง 13-14 เมษายน 2567พบว่า ธุรกิจเหล้า เบียร์ใช้การตลาดแบบ Music Marketing ระดมนักร้อง นักแสดง เดินสายทั่วประเทศ โดยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมถึงโซเชียลมีเดีย ในการจัดกิจกรรมกว่า 73 แห่ง จัดบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเครือข่ายดัง และห้างฯ ในท้องถิ่น ร้านอาหาร ผับ บาร์ ลานกิจกรรม โดยส่วนใหญ่เป็นลักษณะฟรีคอนเสิร์ต และส่วนน้อยที่จัดแบบล้อมรั้วขายบัตร โดยใช้ตราสัญลักษณ์ (โลโก้) น้ำดื่มหรือโซดาโฆษณาบังหน้า แต่ที่จริงเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เต็ม ๆ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 32 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในการทำโฆษณาสื่อสารการตลาด 

“เราพบว่าค่ายเบียร์ นอกจากระดมจัดคอนเสริต์แล้วยังใช้ร้านค้าย่อยกว่าแสนจุดที่ลงไปถึงระดับหมู่บ้าน สะท้อนความแข็งแกร่งของเครือข่ายจัดจำหน่ายของค่ายนี้ อีกค่ายเบียร์ใช้โจทย์เรื่องความเซ็กซี่ ส่วนเบียร์น้องใหม่ที่กำลังเข้ามาแย่งตลาดเน้นจัดโปรโมชั่นลดราคาและร้านค้าย่อย ๆ ทั้งหมดพบใน 42 จังหวัดเป้าหมายที่หวังผลกระตุ้นยอดขาย ทำให้ผมเป็นห่วงในการทำตลาดของ 3 ค่ายรายใหญ่ ที่อาศัยเทศกาลประเพณีจัดกิจกรรมที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นช่องว่างของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องหลับตาสองข้าง เพื่อหวังกระตุ้นยอดขายโดยเฉพาะที่เป็นข่าวว่าเบียร์รายใหม่ที่เปิดตลาดแล้วขายไม่ออก เพราะถูกกลไกการตลาดของค่ายเก่ารวมตัวกันปิดช่องทางขาย จะยิ่งใช้โอกาสเทศกาลนี้เร่งระบายเบียร์ของตนที่กำลังจะหมดอายุไม่เกิน 6 เดือน” นายธีระ กล่าว

นายธีระ กล่าวต่อว่า การตลาดแบบจัดแสดงดนตรีพ่วงขายแบบลดราคา ทั้งแบบฟรีคอนเสิร์ต และแบบเก็บบัตร มีลักษณะซื้อบัตรนำไปแลกได้เบียร์ในงาน โดยเฉพาะการขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี แม้จะมีการตรวจอายุ และใช้สายรัดข้อเพื่อแยกว่าเป็นบุคคลอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ความจริงไม่ได้ตรวจจสอบ ถือว่าเข้าข่ายการขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังไม่สามารถทำให้การดื่มและการแสดงดนตรีอยู่ในระยะเวลาที่กำหนดได้ แต่ลากยาวไปจนถึงเที่ยงคืน ทำให้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้น มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นส่วนใหญ่จะเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ และที่น่ากังวลคือ เครือข่ายยังพบเห็นการเร่ขาย และการขายแบบลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย เข้าข่ายผิดตามมาตรา 30 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกออฮอล์ เกี่ยวกับห้ามรูปแบบการขาย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

ผู้อำนวยการ สคล. กล่าวต่อว่า จากการสำรวจถอดบทเรียนครั้งนี้ จะทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจขายสินค้าอย่างรับผิดชอบจริง ๆ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลขนาดใหญ่ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ หรืองานประจำท้องถิ่นที่มีลักษณะมหกรรม ซึ่งเห็นว่ารัฐจะต้องกำหนดมาตรการเฉพาะกิจให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาในการอนุญาตจัดงานแบบนี้ พร้อมแผนการควบคุมแอลกอฮอล์และความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างเข้มงวด ในการบังคับให้ธุรกิจรับผิดชอบทั้งการป้องกันไม่ให้ทำผิดกฎหมาย เช่น การโฆษณา ณ จุดจัดงาน การโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ การลดราคา การแลกเปลี่ยน การให้ชิม การกำหนดอายุผู้เข้าร่วมงาน

รวมทั้งการตั้งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจตรวจสอบและดูแลความปลอดภัย และเมื่อมีผลกระทบขึ้นมาภาคธุรกิจจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย เชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยให้ลดผลกระทบได้ หรือปรับไปจัดงานอีกรูปแบบหนึ่ง คือ สงกรานต์ปลอดเหล้า โดยกำหนดพื้นที่ห้ามจำหน่ายและดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น, ถนนรอบคูเมือง จ.เชียงใหม่, ถนนสีลม และสามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพ หน้าห้างสรรพสินค้าไลม์ไลต์ จ.ภูเก็ต รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆ ที่มีการจัดการควบคุมดังกล่าวกว่า 100 แห่ง และรัฐควรสนับสนุน ให้รางวัลกับผู้ที่จัดกิจกรรมในลักษณะดังกล่าว เช่น ลดค่าไฟ ค่าน้ำ หรือการสนับสนุนงบประมาณจัดงานที่เพียงพอ