ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เลขาธิการแพทยสภา เตือนหมอ ระวังออก “ใบรับรองแพทย์ (เท็จ)” หลังวันหยุดยาว ผิดกฎหมาย  เหตุหยุดโดยไม่ป่วย แพทยสภาเชื่อมั่น หมอมีวิจารณญาณ แต่พบการปลอมแปลงแก้ไขวันหยุดโดยพนักงาน จนต้องตรวจสอบต้นขั้ว ขอให้เก็บหลักฐานทุกครั้ง

 

เมื่อวันที่ 16 เมษายน พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์ข้อความผ่าน เฟชบุ๊ก ส่วนตัว ระบุว่า  "ใบความเห็นแพทย์ (เท็จ) หลังวันหยุดยาว" (เตือนซ้ำอีกที) โดยฝากเตือนคุณหมอเรื่องกรณีปัญหาใบความเห็นแพทย์หลังวันหยุดยาว เนื่องจากการให้หยุดมีผลต่อการทำงานของคนไข้บางคน ในกรณีที่ป่วยจริงไม่มีปัญหา แต่ที่แพทยสภาเคยพบปัญหาจากใบความเห็นแพทย์เท็จเหตุดังนี้  กรณีวันหยุดยาวบริษัทห้างร้านจะเพ่งเล็งในการตรวจสอบ วันลาหยุดในใบความเห็นแพทย์ เป็นพิเศษ เกี่ยวกับการขาดงานของลูกจ้าง โดยเฉพาะห้างร้านที่เปิดในช่วงวันหยุด และการหยุดโดยเจ็บป่วยจะไม่ถูกหักค่าแรง จึงมักมีการตรวจสอบอย่างละเอียดกัน

 5 ข้อระวังใบรับรองแพทย์(เท็จ)

แพทยสภาเชื่อมั่นว่าคุณหมอใช้วิจารณญาณและระมัดระวังในการให้หยุดให้เหมาะสมกับความเจ็บป่วยอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่อาจพบคือ

1. มีการปลอมแปลงแก้ไขวันหยุด ให้มากขึ้น ในใบรับรองแพทย์โดย พนักงาน เป็นเหตุให้มีการส่งไปตรวจสอบ ที่สถานพยาบาลและบางครั้งถามมาที่แพทยสภา ดังนั้นจึงต้องมีต้นขั้ว ที่ชัดเจนทุกครั้ง

2. มีการใช้ใบรับรองของเพื่อนพนักงานด้วยกันมาแก้ไขชื่อ หรือทำสำเนา ถ่ายเอกสารสีปลอม ซึ่งถือเป็นใบรับรองแพทย์เท็จ เมื่อตรวจสอบกับสถานพยาบาล ดังนั้น ต้นขั้วที่สถานพยาบาลจึงสำคัญมาก

3. มีการไปซื้อใบรับรองแพทย์จากแหล่งปลอมต่างๆ ปั๊มตราสถานพยาบาล มีลายเซ็นแพทย์ปลอม อันนี้ตรวจสอบกับสถานพยาบาล ได้ และมีการตรวจอยู่ประจำ ทางแพทย์ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะผิดกฎหมายเอกสารเท็จอยู่แล้ว

4. มีการร้องขอแพทย์ ให้เพิ่มวันลาในโรคที่ไม่ควรหยุดยาว เพราะจะกลับบ้านต่างจังหวัดหรือไม่มีรถมาทันในการทำงาน การออกต้องระวัง ขอให้แพทย์ยึดมั่นตามข้อเท็จจริง  สงสารเขาอาจจะเป็นปัญหากับตัวเองได้

5. ขอให้ออกใบรับรองแพทย์ย้อนหลังเพราะมาทำงานไม่ทัน โดยไม่ได้ป่วยจริง อันนี้เข้าข่ายออกใบรับรองแพทย์เท็จ  มีคดีร้องจริยธรรมมาที่แพทยสภาด้วย โดยมีพยานเพื่อนพนักงานบอกว่าไม่ได้ป่วย ไปเที่ยวด้วยกัน ทำให้หมอถูกลงโทษได้  แพทย์ออกได้ตามวันจริงที่มาตรวจเท่านั้น

เชื่อว่าสถานการณ์ใบความเห็นแพทย์จะมีปัญหาหลังวันหยุดยาว ขอให้คุณหมอระมัดระวัง โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับ คุณหมอเอง และถ้าเป็นคลินิก ต้องให้มีสำเนาไว้ทุกครั้งที่ตรวจสอบได้ทันที ถ้าพบใบรับรองแพทย์เท็จที่ใช้ชื่อคุณหมอ ให้แจ้งความและแจ้งนิติกร แพทยสภา (02-589-7700 , 02-589-8800) และ สถานพยาบาลที่ออกด้วย

“ใบรับรองแพทย์เท็จ หรือปลอมแปลงมีความผิดตามกฎหมาย เตือนเพื่อนๆ พนักงาน อย่าหยุดจนเลยเวลา หลายรายถูกออกจากงานไม่คุ้ม” เลขาฯแพทยสภา กล่าว