ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีตปธ.ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขฯ เผยกรณีมีข่าวให้อสม.แจ้งเบาะแสจับ "ยาเสพติด" ในหมู่บ้าน พบว่า ความเห็นอสม.หลายคนไม่กล้าเสี่ยงแจ้งเบาะแส เหตุห่วงความปลอดภัย-ไม่คุ้มกับเงินที่ได้ แต่อสม.ทำหน้าที่ ดูแล สอดส่อง และส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้ผ่านการบำบัดอยู่แล้ว

หลังจากเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยกับ Hfocus ถึงเรื่องการถือครองยาบ้าเหลือ 1 เม็ด จาก 5 เม็ด พร้อมชี้ทาง อสม.หารายได้แจ้งเบาะแสจับ "ยาเสพติด" ในหมู่บ้าน นั้น

(อ่านข่าวเพิ่มเติม 17 พ.ค.นี้  เปิดรับฟังความคิดเห็นยาบ้า 1 เม็ด ชี้ทาง อสม.หารายได้แจ้งเบาะแสยาเสพติด

ล่าสุด นายจำรัส คำรอด อดีตประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า จริงๆ อสม.ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว เสมือนเป็นคู่หู ดูแลผู้ผ่านการบำบัดที่ตนเองรู้จักและเข้าถึงได้ ในลักษณะเพื่อนคู่คิดที่คอยช่วยเหลือกัน คอยดูแล สอดส่อง และส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้ผ่านการบำบัด เพื่อป้องกันมิให้ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูกลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก ซึ่งส่วนมากผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในหมู่บ้าน อสม.จะรู้จักดี และรู้อยู่แล้วว่าลูกใคร หลานใคร หรือยู่บ้านไหน  แต่ถ้าเป็นเคสที่รุนแรง อสม. ไม่สามารถจัดการด้วยตัวคนเดียวได้ อย่างน้อยต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ รพ.สต. หรือผู้นำชุมชน เข้าร่วมด้วย เพราะผู้ป่วยจิตเวชต้องมีการรักษาและกินยาให้ครบทุกวันเพราะส่วนใหญ่คนที่ก่อเหตุรุนแรงจะขาดยา หรือไม่มีคนดูแล

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่มีข่าวว่าขอความร่วมมือ อสม.แจ้งเบาะแสจับ "ยาเสพติด"  ในหมู่บ้านและได้รับค่าตอบแทนอาจเป็นไปยาก เพราะได้ถามความเห็น อสม. หลายๆคนจะมีความเห็นว่า ถ้าบอกไปอาจเกิดผลกระทบหรือไม่มีความปลอดภัยกับตัว อสม.เอง จริงๆในชุมชนรู้หมดอยู่แล้วว่าใครเป็นคนเสพ ใครเป็นคนค้า แต่ไม่กล้าเสี่ยงที่จะแจ้งจับและเงินเปอร์เซ็นต์ที่จะได้ก็ไม่คุ้มกัน  หลักๆ อสม.จะเน้นคุยกับชุมชนเจ้าหน้าที่ เพื่อหาทางช่วยบำบัดมากกว่า แต่ไม่ถึงขั้นต้องไปแจ้งเบาะแสกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อมาจับ 

"ซึ่งตั้งแต่มีนโยบาย “ยาบ้า 5 เม็ด” ถือเป็นผู้เสพ ผู้ป่วยในชุมชนมีเพิ่มขึ้นแต่ถ้ามาเปลี่ยนเป็นยาบ้า 1 เม็ด ก็อาจจะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ถ้ากฎหมายเอาจริงเอาจังการควบคุมการการทำงานของเจ้าหน้าที่อาจจะง่ายขึ้นด้วย" นายจำรัส กล่าว