ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้อง 10 ประเทศอาเซียนและทั่วโลก ร่วมออกมาตรการแก้ไขยับยั้งการระบาดของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในการประชุมเวทีโลก ว่าด้วยการเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประจำปี 2555 ชี้หากไม่เร่งแก้ไขโรคเหล่านี้จะสร้างความสูญเสียมหาศาล จะมีผู้เสียชีวิตถึง 41 ล้านคนในปี 2558 เฉพาะไทยสูญแล้วปีละกว่า 1.4 แสนล้านบาท

วันนี้ (30 พฤษภาคม 2555) ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร นายวิทยา  บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเสวนาหน่วยงานด้านสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ บริษัทประกันภัย บริษัทยา ศูนย์ดูแลสุขภาพและผู้สูงอายุ จาก 10 ประเทศอาเซียน รวมทั้งสหรัฐอเมริกา สมาพันธรัฐสวิส ภายใต้หัวข้อ “การดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาพและความร่วมมือเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในเวทีโลกว่าด้วยการเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประจำปี 2555 (World Economic Forum on East Asia) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 30   พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2555

นายวิทยากล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน กำลังแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก ในปี 2548 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเหล่านี้ 35 ล้านคน มากกว่าร้อยละ 80 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา และเป็นผู้ที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน สร้างเศรษฐกิจ คือระหว่าง 30 - 69 ปี ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการแก้ไขในปี 2558 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 41 ล้านคน นับว่าเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศและภูมิภาค เนื่องจากต้องนำเงินที่จะใช้ในการพัฒนาด้านอื่นๆ มาใช้ในการรักษาพยาบาล อย่างเช่นที่ประเทศไทยกำลังประสบ โดยพบว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุการตาย 3 ใน 4 ของสาเหตุการตายทั้งหมด ในปี 2552 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 60,000 คน คิดเป็นร้อยละ 20 ในจำนวนนี้ร้อยละ 29 อายุต่ำกว่า 60 ปี เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยมูลค่า 141,840 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.6 ของรายได้ประชาชาติ

นายวิทยากล่าวต่อว่า  ในปี พ.ศ.2558 ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะรวมตัวกันเป็นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้คำขวัญว่า  “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม และที่สำคัญคือ หนึ่งสุขภาพ” ด้วย ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเรียกร้องให้ 10 ประเทศอาเซียน ร่วมมือจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เพื่อให้ประชาชนในภูมิภาค มีสุขภาพดี ความเป็นอยู่ดี และมีความสุข และขยายผลถึงระดับโลก ซึ่งมาตรการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ จะต้องช่วยกันออกกฎหมาย หรือมาตรการเก็บภาษีผลิตภัณฑ์ที่มีผลเสียต่อสุขภาพ สร้างมาตรการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการเปิดการค้าเสรีที่เกี่ยวกับบุหรี่และสุรา กำหนดมาตรฐานอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และส่งเสริมสิ่งที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี เช่น ผักอินทรีย์ปลอดสารพิษ สถานที่ออกกำลังกาย เป็นต้น        

ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทยในปี พ.ศ.2554-2563 ได้แก่ ส่งเสริมการออกกำลังกายในทุกเพศทุกวัย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รณรงค์ให้ประชาชนลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ และการดื่มสุรา รวมทั้งคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ และโครงการคนไทยไร้พุง โดยขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ 4 โครงการคือ 1.โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม 2.อาหารว่างการประชุมที่ดีต่อสุขภาพ 3.การออกกำลังกายในที่ทำงาน 4.การจัดสวนสาธารณะเพื่อการออกกำลังกาย