ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน- ประเด็นการร่วมจ่ายในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิบัตรทอง ที่ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในสังคมขณะนี้ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานาน แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่า แท้จริงแล้ว ประชาชนกว่า 48 ล้านคน ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สมควรจะต้องร่วมจ่ายเงินบางส่วนเข้ากองทุนด้วยหรือไม่

จากวิกฤตการณ์ทางการเมืองเมื่อปี 2549 ที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาล "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" และแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นมี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ครั้งนั้น นพ.มงคลได้ออกประกาศยกเลิกการเก็บเงิน 30 บาท จากผู้ป่วยที่ไปใช้สิทธิบัตรทองตามสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ และให้สิทธิประชาชนรักษาฟรี ด้วยเหตุผลว่า แม้รัฐจะมีการเก็บเงิน แต่เม็ดเงินที่ได้กลับมาถือว่าน้อยมาก ไม่ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาล ไม่ว่าจะรวยหรือจน ส่วนบัตรทองที่เกิดขึ้น เพื่อแสดงสิทธิในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ยังคงมีอยู่ และสามารถใช้ได้ แต่ประชาชนก็สามารถใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวก็ได้เช่นกัน

ด้วยนโยบายดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2550 รัฐบาลขณะนั้นได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก "โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค" เป็น "โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" เพื่อสร้างความมั่นใจว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิรักษาฟรี

จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ปรากฏว่ามีแพทย์บางกลุ่มออกมาทักท้วง ว่าการรักษาฟรีได้ส่งผลให้ประชาชนเข้ารับบริการมากเกินไป และมากเกินความจำเป็น จนทำให้ความแออัดในสถานพยาบาล และมีปัญหาการรอคิวรักษานาน แต่ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หนึ่งในทีมผู้ร่วมผลักดันโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กับ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เคยพูดว่า ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าคนไทยใช้บริการสุขภาพเกินความจำเป็น โดยเฉลี่ยพบว่าคนไทยใช้บริการสุขภาพเฉลี่ย 3 ครั้งต่อคนต่อปี เท่านั้น ซึ่งแม้จะเพิ่มขึ้นก่อนจะมีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2545 แต่ไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน หรือญี่ปุ่น

ผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คนหนึ่งให้ข้อมูลยืนยันว่า แม้จะไม่มีการเก็บเงิน 30 บาท เพื่อรักษาโรค ก็ไม่ได้ส่งผลต่อสถานะทางการเงินของ โรงพยาบาลอย่างที่หลายฝ่ายคิด โดยจากข้อมูลสถานการณ์การเงินหน่วยบริการสำนักงานปลัด สธ. ระหว่างปี 2546-2555 พบว่า ในปี 2546 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มมีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ประมาณ 770 แห่ง มีเงินสดคงเหลือทั้งสิ้น 15,711 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 6,938 ล้านบาท

ขณะที่ปีต่อมา เช่น ปี 2547 โรงพยาบาล 758 แห่ง มีเงินสดคงเหลือรวม 18,584 ล้านบาท มีหนี้สิน 9,522 ล้านบาท ส่วนปี 2548 โรงพยาบาล 710 แห่ง มีเงินสดคงเหลือ 21,199 ล้านบาท มีหนี้สิน 16,736 ล้านบาท ปี 2549 โรงพยาบาล 776 แห่ง มีเงินสดคงเหลือ 18,469 ล้านบาท มีหนี้สิน 16,054 ล้านบาท ปี 2550 โรงพยาบาล 792 แห่ง มีเงินสดคงเหลือ 28,363 ล้านบาท มีหนี้สิน 12,316 ล้านบาท ปี 2551 โรงพยาบาล 806 แห่ง มีเงินสดคงเหลือ 43,276 ล้านบาท มีหนี้สิน 15,825 ล้านบาท ปี 2552 โรงพยาบาล 809 แห่ง มีเงินสดคงเหลือ 42,968 ล้านบาท มีหนี้สิน 16,626 ล้านบาท ปี 2553 มีโรงพยาบาล 819 แห่ง มีเงินสดคงเหลือ 40,033 ล้านบาท มีหนี้สิน 17,795 ล้านบาท ปี 2554 มีโรงพยาบาล 817 แห่ง มีเงินสดคงเหลือ 48,441 ล้านบาท มีหนี้สิน 18,509 ล้านบาท และปี 2555 มีโรงพยาบาล 817 แห่ง มีเงินสดคงเหลือ 51,418 ล้านบาท มีหนี้สิน 22,486 ล้านบาท

ตัวเลขทั้งหมดแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เมื่อมีการหักลบเงินคงเหลือกับหนี้สิน ก็ยังเหลืองบประมาณอยู่บางส่วน

ขัดกับความเห็นของ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ในฐานะตัวแทนประชาคมสาธารณสุข ที่ระบุว่า แม้จะเห็นด้วยส่วนหนึ่งว่า ไม่ว่าจะเก็บเงินร่วมจ่าย 30 บาท หรือไม่เก็บเงิน ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาขาดทุนในโรงพยาบาลได้ทั้งหมด เพียงแต่เมื่อมีการเก็บเงิน 30 บาท จะช่วยในแง่ของการบริหารจัดการให้คล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่สามารถนำเงินจากส่วนนี้ไปจ้างแม่บ้านทำความสะอาด หรือจ้างเจ้าหน้าที่ทำบัตร หรือนำเงินไปใช้จ่ายสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น สรุปได้ว่า การเก็บ 30 บาท สามารถช่วยให้การจัดการสภาพคล่องในโรงพยาบาลดีขึ้น แม้ไม่มาก แต่ก็ดีกว่าไม่มี ซึ่งสมัย นพ.มงคล ภายหลังยกเลิกการเก็บ 30 บาท ก็อาจทราบว่าจะได้รับผลกระทบ จึงได้จัดสรรเงินชดเชยลงมาให้โรงพยาบาลต่างๆ แต่เป็นเพียงปีเดียวเท่านั้น

"จริงๆ แล้ว ปัญหาขาดทุนของ โรงพยาบาล สาเหตุหลักมาจากการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพของ สปสช. แต่เดิมนั้น นพ.สงวน ไม่มีการบริหารลักษณะนี้ แต่มายุคนี้กลับมีโครงการพิเศษต่างๆ ผุดขึ้นมาเสริมด้วยเหตุผลว่า เพื่อให้การดูแลรักษาประชาชนกลุ่มหนึ่งที่มีภาวะสุขภาพเฉพาะเจาะจง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการดังกล่าวเรียกว่า 'Vertical Program' หรือ 'การให้บริการสาธารณสุขเชิงรุก' ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดต้อกระจก การผ่าตัดเปลี่ยนตับ ฯลฯ ซึ่งโครงการเหล่านี้ส่งผลให้เกิดปัญหาเงินค้างท่อ" พญ.ประชุมพรกล่าวมีข้อมูลว่า ในปี 2554 สปสช.ได้รับ งบประมาณกว่าแสนล้านบาท หักค่าบริหารจัดการภายในกว่า 1,000 ล้านบาท จะเหลือประมาณแสนล้านบาทต้นๆ พบว่ามีการกันเงิน 45,000 ล้านบาท สำหรับโครงการพิเศษนี้ เพื่อดูแลประชาชน 4 ล้านคน ส่วนประชาชนอีกว่า 48 ล้านคน (ตัวเลขปี 2554) ใช้เงิน 53,000 ล้านบาท แสดงว่าค่าเหมาจ่ายรายหัวไม่ได้ครบตามที่ประกาศ ขณะเดียวกัน ยังพบว่าจำนวนเงิน 45,000 ล้านบาทนั้น ใช้ไม่หมด แต่กลับไม่มีการบริหารเฉลี่ยงบอื่นๆ เรียกว่าใช้งานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากมองในภาพรวมตลอด 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2551-2553 สปสช.จะเหลือเงิน 33,900 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้เป็นเงินค้างท่อ ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ให้กับโรงพยาบาล เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว จะเรียกว่าเป็นการ "เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข" ได้อย่างไร ร่วมจ่ายด้วยการเก็บเงิน 30 บาท แม้จะไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้โรงพยาบาลพ้นจากปัญหาขาดสภาพคล่อง แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล นายวิทยา บุรณศิริ ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการ สธ. ก็มีความพยายามที่จะฟื้นชีพ "30 บาทรักษาทุกโรค" อีกครั้ง ด้วยการเรียกเก็บแบบมีข้อยกเว้น อาทิ ฐานะยากจน เด็ก ผู้สูงอายุ ฯลฯ และต้องเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบสิทธิอย่างละเอียด

แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ทำไม่สำเร็จ เพราะประชาชนเคยชินไปกับการได้สิทธิรักษาฟรีไปเสียแล้ว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 23 กรกฎาคม 2557

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เจาะถึงราก ปม'ร่วมจ่าย'บัตรทอง (1)

เจาะถึงราก ปม'ร่วมจ่าย'บัตรทอง (2)

เจาะถึงราก ปม'ร่วมจ่าย'บัตรทอง(จบ)