ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสข่าวผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีแนวโน้มต้อง "ร่วมจ่าย" ค่ารักษาพยาบาล ร้อยละ 30-50 ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นถกในสังคมอย่างกว้างขวาง เพราะมีข้อกังวลว่า หากเป็นจริงตามที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัดส่วนภาคประชาชน ระบุว่า ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พยายามเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ใช้สูตรดังกล่าว เท่ากับว่า คนไทยกว่า 49 ล้านคน ที่อยู่ในสิทธิบัตรทอง ซึ่งถือเป็นสวัสดิการ ขั้นพื้นฐานจะได้รับผลกระทบ

ข้อกังวลดังกล่าวมาจากการเปิดเผยรายงานสรุปผลการตรวจเยี่ยม สธ.ของ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม โดยมีการระบุในส่วนข้อเสนอของ ผบ.ทร.ว่า "เห็นด้วยกับการที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมกับการจ่ายค่าบริการ โดย สธ.ต้องคำนวณตัวเลขออกมาว่าการมีส่วนร่วมในการจ่ายของประชาชน ต้องจ่ายเท่าไร เช่น 30-50% และต้องหาหลักเกณฑ์ออกมา เพราะเห็นอนาคตข้างหน้าแล้วว่าแนวทางของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปต่อไม่ไหว"

เมื่อมีการเผยแพร่รายงาน ส่งผลให้เกิดกระแสหวั่นวิตกจากทุกภาคส่วน แม้แต่ในสังคมออนไลน์เข้ามาโจมตี สธ.และมุ่งเป้าไปที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ในฐานะเจ้ากระทรวง และเป็นหนึ่งในการประชุมเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ว่าไม่ทักท้วง เพราะหากเป็นจริงประชาชนจะต้องร่วมจ่ายมหาศาล เช่น หากป่วยด้วยโรคมะเร็ง ต้องรักษาเบื้องต้น 1 แสนบาท แต่ต้องร่วมจ่ายอีก 30-50% คิดเป็น 3-5 หมื่นบาท กว่าจะสิ้นสุดการรักษา อาจถึงขั้นล้มละลาย และแม้บอกว่าคนจนไม่ต้องจ่าย ก็เข้าข่ายผลักคนกลุ่มนี้เป็นผู้ป่วยอนาถา ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม

จากการปลุกกระแสเช่นนี้ นพ.ณรงค์ต้องออกโรงชี้แจง โดยมีประชาคมสาธารณสุข ซึ่งเป็นตัวแทนจากบุคลากรใน สธ. ทั้งโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมโรงพยาบาลชุมชน ชมรมเภสัชกรรม ฯลฯ ออกมาแจงว่า เรื่องราวทั้งหมดไม่ใช่ความจริง รายงานการประชุมที่แท้จริง และเสนอต่อ พล.ร.อ.ณรงค์ มีทั้งหมด 11 ข้อ ไม่มีเรื่องของการร่วมจ่ายแม้แต่บรรทัดเดียว ประกอบกับยังได้รับการยืนยันจาก นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ออกมารับว่าเป็นผู้เสนอในการประชุมครั้งนั้น และไม่คิดว่าจะมีการเปิดประเด็นเช่นนี้ โดยเสนอเพียงว่าควรมีการร่วมจ่าย เพื่อความยั่งยืนในระบบการเงินการคลัง แต่ไม่ได้เสนอว่าต้องร่วมจ่าย 30-50%

เหมือนจะจบ แต่เกิดประเด็นใหม่ว่า ข้อเท็จจริงของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำเป็นต้องมีการร่วมจ่ายจริงหรือไม่ และคำว่าร่วมจ่ายจะต้องออกมาในลักษณะใด ประเด็นนี้จะมีการกล่าวถึงในตอนต่อไป

สำหรับข้อเท็จจริงในประเด็นร่วมจ่ายนั้น มีการถกเถียงกันมานาน ยืนยันจากหนังสือ "บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ บุคคลสำคัญผู้เริ่มแนวคิดโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้ปัจจุบันท่านจะเสียชีวิตแล้ว แต่แนวคิดและหลักการยังคงอยู่ โดยเฉพาะประชาชนจะต้องเข้าถึงบริการด้านสุขภาพโดยไม่มีข้อจำกัดทางการเงิน นั่นเพราะมีเหตุการณ์หนึ่งที่ นพ.สงวนได้พบเจอและจดจำมาตลอด ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือว่า

"การที่ประชาชนในชนบทแสวงหาทางเลือกที่เป็นบริการอื่น ทั้งที่เจ็บป่วยหนัก เพียงเพราะไม่แน่ใจว่าจะมีเงินพอค่ารักษาหรือไม่ โดยวันหนึ่ง ผมนั่งรถกลับโรงพยาบาล ฝนตกหนักมาก ข้างทางเห็นผู้หญิงอุ้มลูกน้อยยืนเหมือนรอรถโดยสารข้างทาง จึงบอกคนขับรถให้จอดรับแม่ลูกคู่นั้น สอบถามได้ความว่า ลูกไม่สบาย จากการสังเกตอาการ คาดว่าเด็กน่าจะเป็นปอดบวม เพราะมีอาการหายใจหอบ เมื่อรถมาถึงโรงพยาบาล แทนที่ผู้หญิงคนนั้นจะอุ้มลูก เข้ารักษา กลับเดินหนี ผมต้องเดินไปสอบถาม โดยเธอตอบว่า ไม่กล้าไปรักษา เพราะมีเงินติดตัวมาแค่ 30 บาท ตั้งใจจะพาไปฉีดยา กับหมอเสนารักษ์ที่อยู่ไม่ไกลโรงพยาบาลมากนัก คิดแค่ 20 บาท เหลืออีก 10 บาท จะเก็บ เป็นค่ารถกลับบ้าน ผมพยายามอธิบายว่า การฉีดยาคงไม่เพียงพอ หลังจากคุยกันพักใหญ่ บวกกับการให้ความมั่นใจว่า ในกรณีที่เป็นคนไข้ยากจน โรงพยาบาลจะไม่เก็บเงินค่ารักษา เธอจึงยอม..."

เหตุการณ์นี้ ทำให้เห็นว่าปัญหาการเข้าถึงบริการเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล หากระบบมีการจัดการที่ดี และทำให้การรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ปัญหาเหล่านี้จะลดลง

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หนึ่งในผู้ทำงานร่วมกับ นพ.สงวน ยุคบุกเบิกโครงการ เล่าว่า จุดเริ่มของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มาจากปัญหาการเข้าถึงบริการ ที่แม้ สธ.จะขยายโรงพยาบาลไปชุมชนมากมาย แต่ยังมีคนอีกพอสมควรที่มีปัญหาทางการเงินเป็นอุปสรรค จึงมีแนวคิดว่าต้องทำให้ประชาชนมีกำลังในการเข้าถึงด้วยการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน แต่ระบบนี้ภาครัฐจำเป็นต้องใช้เงิน จึงต้องมีการศึกษา ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสหภาพยุโรป นำร่องศึกษาที่จนเกิด "โครงการอยุธยา"ขึ้น แบ่งเป็น 1.พัฒนาสถานพยาบาลใกล้บ้านให้มีคุณภาพในการดูแลประชาชนถึงครอบครัวและชุมชน เน้นส่งเสริม ป้องกันโรค 2.ศึกษาระบบการเงินการคลังของโรงพยาบาลในกลุ่มที่เข้าร่วม โดยมีการหารือกับชุมชนจนได้ข้อสรุปว่า ประชาชนจะยินดีจ่าย 70 บาททุกครั้งที่มารับบริการ และโรงพยาบาลจะต้องดูแลทุกขั้นตอนจนเสร็จสิ้นการรักษา

ขณะนั้น นพ.สงวนยังเป็นผู้อำนวยการสำนักแผนงาน หรือสำนักนโยบายและแผนของ สธ. (ในปัจจุบัน) ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนสำคัญทางด้านการแพทย์ของกองทุนประกันสังคม ซึ่งเกิดขึ้นก่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดย นพ.สงวนพบว่าสิทธิประกันสังคม หากมีการใช้งบประมาณในรูปแบบสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ คือ จ่ายตามจริง ระบบจะไปไม่ไหว จึงผลักดันให้ระบบประกันสังคมเป็นแบบเหมาจ่ายรายหัว และจากการทำงานเหล่านี้ จึงคิดว่าเมื่อข้าราชการและคนชั้นกลางมีกองทุนดูแลสุขภาพของตน แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังใช้สิทธิผ่านโครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล (สปร.) ซึ่งเป็นการดูแลคนฐานะยากจน ทำให้ถูกมองว่า เป็นการแบ่งแยกคนจน และทำให้ระบบไม่พัฒนา เพราะสุดท้ายคนจนไม่มีเสียง ไม่กล้าร้องเรียน จึงเกิดความคิดจัดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับทุกคนขึ้น

ต่อมาได้นำเสนอแนวคิดนี้กับพรรคการ เมืองมากมาย แต่พรรคไทยรักไทยให้ความสำคัญมากที่สุด และชูเป็นนโยบายหาเสียง กระทั่งได้เป็นรัฐบาล และระบบหลักประกันสุขภาพฯ ก็เป็นจริงในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยชูวลีว่า "30 บาทรักษาทุกโรค"นี่คือ จุดเริ่ม "บัตรทอง" จุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลงวลี และหลักการร่วมจ่ายในเวลาต่อมา ติดตามได้ตอนต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 กรกฎาคม 2557

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เจาะถึงราก ปม'ร่วมจ่าย'บัตรทอง (2)

เจาะถึงรากปม'ร่วมจ่าย'บัตรทอง(3)

เจาะถึงราก ปม'ร่วมจ่าย'บัตรทอง(จบ)