ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปจะเริ่มโครงการ ลดโรค เพิ่มสุข ให้คนไทย 6 กลุ่มทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่หญิงมีครรภ์ เด็กเล็ก วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน จนถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการ หวังสร้างต้นทุนคุณภาพเด็กไทยขนานใหญ่ เกิดมาต้องไม่เป็นโรคธาลัสซีเมีย ปัญญาอ่อน และเอชไอวี เพิ่มความสูงเด็กไทยเท่าสากล เฉลี่ย 165-175 เซนติเมตร ต้องไม่อมโรคเรื้อรัง เมื่อก้าวสู่วัยลำดวน 

วันนี้(14 มิถุนายน 2555) ที่ห้องประชุมอาคารข่าวสด กรุงเทพ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “มติชน เฮลท์แคร์ 2012 สมองดี ชีวีสุข”ปีที่ 4 จัดโดยบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) และนิตยสารฮอสพิตอล แอนด์ เฮลท์แคร์ (Hospital & Healthcare) ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 21-24มิถุนายน 2555 เวลา 10.00 – 20.00น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กทม.

นายวิทยา กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2555 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายดำเนินการในด้านสุขภาพ 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาคุณภาพบริการในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และโรงพยาบาลทุกระดับ ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นโรงพยาบาลใกล้บ้าน ใกล้ใจมีหมอประจำทุกครอบครัว 2.การดูแลอาหารปลอดภัย ทั้งอาหารดิบและสุก และ3.โครงการลดโรค เพิ่มสุข ซึ่งจะมุ่งเน้นการสร้างสุขภาพดีแก่ประชาชนทุกกลุ่มอายุ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน ช่วยกันการเผยแพร่ความรู้ในการดูแลสุขภาพ วิธีการป้องกันโรคไปสู่ประชาชนให้กว้างขวางและทั่วถึง

นายวิทยากล่าวต่อว่า โครงการลดโรคเพิ่มสุขนี้ เป็นโครงการใหญ่ มีเป้าหมายดูแลคนไทย 6 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ตั้งเป้าเด็กเกิดใหม่ ซึ่งมีปีละประมาณ 8 แสนคน จะต้องปลอดโรค 3 โรคคือโรคเลือดธาลัสซีเมีย โรคในกลุ่มอาการดาวน์หรือดาวน์ซินโดรม ซึ่งทำให้ปัญญาอ่อน และติดเชื้อเอชไอวี จะให้หญิงตั้งครรภ์และสามีตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุครรภ์ยังไม่ถึง 12 สัปดาห์ 2.ตรวจพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 5ปีทุกคน ที่ผ่านมาพบเด็กวัยนี้มีพัฒนาการไม่สมวัยถึงร้อยละ 30 ปีนี้จะมอบสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กแก่หญิงตั้งครรภ์ทุกราย รวมทั้งหนุนให้เด็กกินนมแม่ทุกคน ซึ่งจะทำให้เด็กไทยมีอีคิว และไอคิวดี

3.กลุ่มวัยเรียน เพื่อพัฒนาให้เด็กไทยสูงสมส่วนเหมือนสากลเมื่ออายุ  19 ปี ตั้งเป้าเด็กชายสูงเฉลี่ย  175 เซนติเมตร หญิงสูงเฉลี่ย 165 เซนติเมตร โดยมีโครงการจัดค่ายเด็กไทยสูง  1 จังหวัด  1 ค่าย ส่งเสริมให้เด็กไทยดื่มนมเพิ่มขึ้นวันละ 1 มื้อ 1 ถุง และให้เด็กออกกำลังกาย ขยับกายก่อนเข้าเรียนและวิ่งรอบสนามฟุตบอล  1 วัน  1 รอบ ลดกินขนมกรุบกรอบ เน้นให้ความรู้ฉลากโภชนาการข้างกล่องขนม

4.กลุ่มวัยรุ่น อายุ  15-19 ปี ที่มีประมาณ  5 ล้านคน มีพฤติกรรมเสี่ยงและมีเพศสัมพันธ์  1.25 ล้านคน จะรณรงค์ความรู้เพศศึกษาในโรงเรียน ป้องกันปัญหาตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ที่ผ่านมามีวัยรุ่นตั้งครรภ์ปีละ  2.5 แสนคน  5.กลุ่มวัยแรงงาน จัดโครงการวัยทำงานปลอดภัย ปลอดโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง  กายใจเป็นสุขเน้น  3 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงงาน กลุ่มเกษตรกร และโรงพยาบาล โดยเปิดคลินิกตรวจสุขภาพเกษตรกรครบวงจรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  6.กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ปีนี้เริ่มจัดบริการ 70 ปีไม่มีคิว จัดหน่วยบริการพิเศษผู้สูงอายุในโรงพยาบาล เช่น การตรวจประเมินสุขภาพของผู้สูงอายุ รณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนส้วมจากส้วมซึมนั่งยอง เป็นส้วมชักโครกหรือส้วมนั่งราบห้อยขา เพื่อป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม และรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในปี  2573 ไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 4 ของประชากรไทย   

ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และคนไทยมีปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอยู่ในระดับสูง โดยพบโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด รองลงมาได้แก่โรคหัวใจ เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง ซึ่งโรคดังกล่าวเมื่อเป็นแล้วต้องรักษาตลอดชีวิต และจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 1.4 ล้านคน ในพ.ศ. 2551 เป็น 1.7 ล้านคนในปี 2553 หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 แต่โรคที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุดคือมะเร็ง ปีละประมาณ 60,000 คน กลุ่มผู้ที่ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากอันดับ 1 คือผู้สูงอายุ พบร้อยละ 56 รองลงมาคืออายุ 50-59 ปีพบร้อยละ 25 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิต ต้องรณรงค์ประชาชนตั้งแต่วัยเด็กขึ้นไป เพื่อปรับพฤติกรรมไม่ให้เกิดโรคในวัยสูงอายุ สิ่งเหล่านี้ต้องสร้างด้วยตนเอง ทั้งการออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด ทั้งหวาน มัน เค็ม หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ 

“คาดการณ์ว่าในพ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะสูญเสียรายได้เนื่องจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 52,150 ล้านบาท หากคนไทยช่วยกันป้องกันตนเองจะช่วยลดการสูญเสียได้ถึงร้อยละ 10-20 หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท” ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว