ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญชั้นแปรญัตติ ส.ส.เพื่อไทยซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระที่ 2 ได้เสนอแปรญัตติในมาตรา 8 โครงสร้างคณะกรรมการประกันสังคมโดยให้ผู้แทนรัฐประกอบด้วย รมว.แรงงานเป็นประธานบอร์ด สปส., ปลัดกระทรวงแรงงาน, ผู้แทนกระทรวงการคลัง, ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย, ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข, ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนนายจ้าง และลูกจ้างที่ รมว.แต่งตั้งจากผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งโดยหลักเกณฑ์และวิธีเลือกตั้งให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดฝ่ายละ 7 คน และสามารถแต่งตั้งที่ปรึกษาได้อีก 7 คนมีเลขาธิการประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ

ทั้งนี้โครงสร้าง สปส. ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดไว้ว่าคณะกรรมการประกันสังคมมาจากภาครัฐ ประกอบด้วยปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานบอร์ด สปส., ผู้แทนกระทรวงการคลัง, ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข, ผู้แทนสำนักงบประมาณ นายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน และสามารถตั้งที่ปรึกษาได้อีก 5 คน มีเลขาธิการ สปส. เป็นข้าราชการ

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวว่า ยอมรับว่าคณะ กมธ. มีการแปรญัตติในเรื่องดังกล่าวซึ่งเป็นเจตนาที่ดีเนื่องจากจะทำให้นักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรีจะเข้าผลักดันให้ สปส. ดำเนินโครงการและปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม นอกจากนี้ จะทำให้รัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับความรับผิดชอบกับการดำเนินงานในทุก ๆ เรื่องของ สปส. โดยไม่สามารถปฏิเสธหรือลอยตัวต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

"เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ผมรู้สึกอึดอัดกับการกำกับดูแล สปส. เพราะทำได้แค่มอบนโยบายแต่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการประชุมบอร์ด สปส. เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นผมเป็นคนแรกที่ต้องรับผิดชอบแต่กลับไม่เคยรู้เรื่องอะไรเลย" รมว.แรงงาน กล่าวและว่า ตนมีเจตนาที่จะรู้ว่าบอร์ด สปส. ทำอะไรอยู่ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นก็พร้อมรับผิดชอบอย่างเต็มที่ หากโครงสร้างบอร์ด สปส. แบบเก่า รัฐมนตรีไม่มีสิทธิทำอะไรเลย อย่างน้อยขอให้ได้รู้ว่าถ้าจะตายนั้นต้องตายด้วยเรื่องอะไร ไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลยแล้วเซ็นอนุมัติโครงการต่าง ๆ ไป ส่วนที่เกรงว่าจะเข้าไปแทรก แซงนั้นมองว่าไม่สามารถทำได้เพราะรัฐมนตรีมีเพียงเสียงเดียวแต่บอร์ด สปส. อยู่ในรูปแบบไตรภาคีทั้งนายจ้างลูกจ้างและหน่วยงานราชการ หากรัฐมนตรีเสนอในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ก็คงจะไม่รับความเห็นชอบจากบอร์ด สปส.

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้ รมว.แรงงานเป็นประธานบอร์ดประกันสังคมซึ่งถือเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐมนตรีแบบเบ็ดเสร็จในการสั่งการได้เต็มที่ทำให้การบริหารจัดการทั้งหมดอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีเพียงผู้เดียวและไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้ หากมีความผิดพลาดผลกระทบจะเกิดขึ้นแก่ผู้ประกันตนกว่า 10 ล้านคน ซึ่งกองทุนมีเงินกว่า  1 ล้านล้านบาท ที่อาจมองเห็นว่าเป็นขุม ทรัพย์ เครื่องมือสนองนโยบายทางการเมือง

--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 16 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--