ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ชนบทขีดเส้น 23 ส.ค. รู้ผล'ค่าตอบแทนบุคลากร'ยืนรูปแบบเดิม ลั่นไม่คืบเตรียมยกขบวนพบนายกฯ ด้าน'พยาบาล'ขอแค่ความเป็นธรรมระหว่างวิชาชีพ

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงการประชุมคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีนายคณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธาน ว่าสำหรับนโยบายค่าตอบแทนของบุคลากรสาธารณสุขนั้น เครือข่ายสหวิชาชีพและกลุ่มบริหารโรงพยาบาลชุมชนเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ระหว่างวิชาชีพ แต่ต้องไม่ลิดรอนสิทธิของผู้ที่ได้รับค่าตอบแทนสูงในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล หรือทุรกันดารซึ่งสมควรได้รับ ด้วยเหตุนี้เครือข่ายสหวิชาชีพฯจึงเรียกร้องให้ปรับนโยบายค่าตอบแทนของโรงพยาบาลชุมชนเป็นแบบเฉพาะ โดยขอให้ออกระเบียบฉบับใหม่ แต่อิงเนื้อหาในฉบับ 4 และฉบับ 6 โดยอาจปรับเป็นฉบับ 10 แทน ส่วนวิชาชีพอื่นๆ อาจเพิ่มในรายละเอียดเป็นฉบับที่ 10.1

"ขอให้ สธ.มีประกาศฉบับ 10 ออกมาก่อน เพื่อไม่ต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เครือข่ายฯจะรอความคืบหน้าภายในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ หากไม่มีความชัดเจนใดๆ จะมีการนัดประชุมเพื่อเตรียมเข้าพบนายกรัฐมนตรีทวงถามถึงเรื่องต่อไป เพราะก่อนหน้านี้นายคณิศได้ชี้แจงว่าจะนำข้อเสนอของเครือข่ายสหวิชาชีพฯรายงานให้นายกฯรับทราบ แต่จนบัดนี้ยังไม่เห็นสัญญาณใดๆ" นพ.อารักษ์กล่าว

ด้านนางกฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล คนที่ 2 กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของโรงพยาบาล ชุมชนในการคงประกาศค่าตอบแทนฉบับ 4 และ ฉบับ 6 โดยปรับเป็นฉบับใหม่นั้น ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไร ขอยืนยันว่าต้องมีการปรับค่าตอบแทนให้เป็นธรรมในแต่ละวิชาชีพ เพราะข้อเท็จจริงต้องทำงาน ต้องร่วมกันทุกวิชาชีพ

"จากการพูดคุยกับพยาบาลทุกระดับ รวมทั้งพยาบาลชุมชนต่างเห็นตรงกันว่าการปรับเปลี่ยนค่าตอบแทนของบุคลากรสาธารณสุขจะต้องลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพและในระดับพื้นที่ได้จริง โดยกลุ่มพยาบาลเสนอให้อ้างอิงจากสัดส่วนของการจ่ายค่าล่วงเวลา (โอที) เช่น แพทย์ทำโอที 8 ชั่วโมง ได้เงิน 1,100 บาท เภสัชกรทำโอที 8 ชั่วโมง ได้เงิน 720 บาท สัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 พยาบาลทำ โอที 8 ชั่วโมง ได้เงิน 600 บาท สัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 55 ดังนั้น การจ่ายค่าตอบแทนตามฉบับ 8 ก็อยากจะให้อ้างอิงตามสัดส่วนนี้ คือ เภสัชกรได้ค่าตอบแทนร้อยละ 60 พยาบาลได้ร้อยละ 55 ของค่าตอบแทนแพทย์ เป็นต้น"

นางกฤษดากล่าว และว่า เบื้องต้นได้เสนอแนวทางดังกล่าวให้คณะทำงานจัดทำข้อเสนอฯ พิจารณา เพื่อประกอบการดำเนินการก่อนจะมีการใช้นโยบายค่าตอบแทนในวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งหวังว่าจะเป็นธรรม กับทุกวิชาชีพอย่างแท้จริง

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 สิงหาคม 2556