ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - จากกรณีที่มีหลายภาคส่วนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ระบบประกันสังคมระหว่างแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวมี 2 ระดับ เรียกง่ายๆ ก็คือ แรงงานต่างด้าวเป็นเพียงพลเมืองชั้นสองที่มีการเลือกปฏิบัติและไม่สามารถทำให้แรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะแรงงานสัญชาติลาว กัมพูชา และพม่า ได้รับประโยชน์และมีสิทธิที่เท่าเทียมแรงงานไทย

อย่างไรก็ตาม การเร่งออกมาตราการเข้มของสำนักงานประกันสังคมเพื่อวางระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าว ให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ นับเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญยิ่ง  โดยเฉพาะในประเด็นการปรับให้เกิดความสมดุลระหว่างแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวอย่างเร่งด่วน เพราะไม่เช่นนั้นอาจกระทบกับโครงสร้างแรงงานภายในประเทศซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและเพื่อนบ้านที่กำลังเดินหน้าไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

นอกจากแรงงานต่างด้าวที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และได้นำส่งเงินสมทบจะได้รับความคุ้มครองใน 7 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงานแล้ว ในกรณีที่แรงงานต่างด้าวประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างลูกจ้างสามารถรับสิทธิกองทุนเงินทดแทนได้

นับเป็นก้าวสำคัญของแรงงานต่างด้าวที่สามารถเข้าถึงสิทธิได้ไม่แตกต่างจากแรงงานไทย และสอดคล้องกับกฎหมายประกันสังคมซึ่งให้การดูแลลูกจ้างทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ

เรียกว่าเป็นมิติใหม่ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ออกมาแจง โดยเปิดเผยเพิ่มเติมว่า กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง สปส.จะมีกองทุนเงินทดแทนจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้าง โดยนายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันที และต้องแจ้งการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยต่อสำนักงานประกันสังคมภายใน 15 วัน

ส่วนลูกจ้างสามารถแจ้งเรื่องขอรับเงินทดแทนเองได้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้วินิจฉัยจ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้างตามสิทธิที่กำหนด ในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537

ในกรณีดังกล่าว หากนายจ้างมีแรงงานต่างด้าว เช่น พม่า ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงาน ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งนายจ้างนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ลูกจ้างสามารถรับเงินทดแทนได้

ซึ่งในปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมจัดแบ่งแรงงานต่างด้าวที่ได้รับความคุ้มครองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องมีหนังสือเดินทาง (Passport) และใบอนุญาตทำงาน (Work permit) สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้

กลุ่มต่อมาเป็นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองแต่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเรียบร้อยแล้ว มีหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Pass-port) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of identity) และใบอนุญาตทำงาน (Work permit) สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้

และกลุ่มสุดท้ายเป็นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง แต่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีให้รับจ้างทำงานเป็นการชั่วคราวระหว่างรอการส่งกลับ เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงดูตนเอง ซึ่งยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้  หากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ขอให้ญาติรีบแจ้งการประสบอันตรายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนให้คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่รับจ้างทำงานโดยตรงเป็นจำนวนเท่ากับที่ลูกจ้างไทยและลูกจ้างต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมายและมีใบอนุญาตทำงานได้รับ

ทั้ง 3 ข้อ เป็นการยืนยันว่าสำนักงานประกันสังคมได้ยึดหลักการเพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานในระบบ รวมทั้งแรงงานนอกระบบที่หลายฝ่ายกังวลใจว่าจะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้หากเกิดบาดเจ็บ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง

แน่นอนว่าปัจจุบันแรงงานนอกระบบ รวมทั้งแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนและรอรับรองสถานะทั้งหมดกว่า 1.5 ล้านคน กำลังจะกลายเป็นแรงงานในระบบ ซึ่งหมายถึงแรงงานทุกคนจะได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน ในมาตรฐานสากล นับเป็นการวางระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าวที่ทันสมัย เพราะแรงงานต่างด้าวทุกกลุ่ม เมื่อมีการจ้างงาน กฎหมายคุ้มครองแรงงานจะให้การคุ้มครองทันที ทั้งสิทธิรักษาพยาบาล และเงินชดเชยจากกองทุนทดแทน

สิ่งสำคัญนายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติ ลาว กัมพูชา และพม่า ต้องเร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อสิทธิประโยชน์ที่นายจ้างจะได้รับ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีภาระค่าใช้จ่ายในภายหลัง ทั้งนี้ หากนายจ้างมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่ท่านสะดวก หรือสายด่วนประกันสังคม โทร.1506 (เวลา 07.00-19.00 น. ระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติให้บริการ 24 ชั่วโมง) หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 17 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--