ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ ... สายตาชาวโลกกำลังจ้องมองอย่างใกล้ชิด

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว ผ่านประกาศฉบับที่ 59/2557 ส่งผลให้เกิดความหวาดระแวง-ตื่นตระหนก ใน 2 ส่วน

ส่วนหนึ่ง “นายจ้าง” ที่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอยู่ เกรงว่าจะมีความผิด จึงตัดสินใจ“ลอยแพ” แรงงานทิ้ง

อีกส่วนหนึ่งคือตัวของแรงงานเอง แม้ว่าจะเข้าเมืองมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่มีความแน่นอนในชีวิต ยิ่งตกอยู่ภายใต้สถานการณ์พิเศษ และกำลังจะกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่แปลกที่จะถอดตัวเองออกจากระบบ กลับภูมิลำเนาเพื่อตั้งหลักอีกครั้ง

แรงงานชาวกัมพูชารอขึ้นรถกลับบ้านที่จ.สุรินทร์ เพื่อเดินทางไปต่อรถที่ชายแดนกลับประเทศ (ขอบคุณภาพจากเวบไซต์ไทยรัฐ)

14 มิ.ย. นับเป็นวันที่ 4 ของประกาศ คสช. ภาพรวมยังเป็นไปด้วยความสับสน-วุ่นวาย-อลหม่าน

แรงงานต่างทะลักออกนอกประเทศ โดยเฉพาะ จ.สุรินทร์ และ จ.สระแก้ว

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษก คสช. ถึงกับต้องตั้งโต๊ะชี้แจงความชัดเจน โดยระบุว่า ไม่อยากให้มีการตื่นตระหนกจนเกินกว่าเหตุ ยืนยันว่าจะเริ่มดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้สังคมได้ค่อยๆ ปรับตัว และคงยังไม่เน้นในเรื่องมาตรการบังคับใดๆ อย่างที่หลายคนกังวล

“ยอมรับว่าปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวยังคงเป็นปัญหาที่มีผลกระทบความมั่นคงต่อเนื่องมานานที่ทางราชการจำเป็นต้องดำเนินการจัดระเบียบให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น แต่ทราบดีถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศ จึงอยากบริหารจัดการให้เหมาะสมที่สุด” พ.อ.วินธัย ระบุ

นอกจากนี้ ยังมีบันทึกข้อความ “ด่วนที่สุด” จากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ลงวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งตรงไปยังสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด รวมทั้งผู้อำนวยการสำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10

ความในจดหมาย ระบุว่า ด้วยขณะนี้ปรากฏข่าวการจับกุม ผลักดันแรงงานกัมพูชาอยู่บ่อยครั้ง สร้างความตื่นตระหนกให้กับนายจ้างและแรงงานกัมพูชาเป็นอย่างมาก ประกอบกับได้มีการเผยแพร่ข่าวการจับกุมแรงงานต่างด้าวในสื่อสิ่งพิมพ์ ยิ่งทำให้นายจ้างและแรงงานกัมพูชาตื่นตระหนกมากขึ้น

ทั้งนี้ กรมการจัดหางานจึงขอให้จัดหางานจังหวัดและผู้อำนวยการสำนักจัดหางาน ประชาสัมพันธ์ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าวได้รับทราบข้อเท็จจริงว่า ขณะนี้ไม่มีนโยบายจับกุม ผลักดัน แรงงานต่างด้าวแต่อย่างใด

“จึงเรียนมาเพื่อดำเนินการโดยด่วน” ลงนามโดย ธนิช นุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการจัดหางาน

ขณะที่ ประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน ปฏิเสธว่า การเดินทางกลับภูมิลำเนาของแรงงานกัมพูชาจนรถไฟสายกรุงเทพ-อรัญประเทศ เต็มแน่นขนัดทุกขบวนเพราะหวาดกลัวมาตรการ คสช.นั้น ไม่เป็นความจริง แรงงานที่เดินทางกลับส่วนใหญ่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ดี อธิบดีรายนี้ ยอมรับว่า การเดินทางกลับประเทศของแรงงานกัมพูชาอาจกระทบต่อภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลกัมพูชาได้แจ้งให้แรงงานกัมพูชาในประเทศไทย เดินทางกลับประเทศภายใน 3 วัน มิเช่นนั้นประเทศไทยจะปิดด่านไม่ให้เข้าออก

ท่ามกลางภาพการ “ผลักดัน” จากฝ่ายความมั่นคงใน 2-3 วันที่ผ่านมา การบุกตรวจ-บุกจับ อย่างเข้มข้น ยังผลให้สายตาชาวโลกที่มองเข้ามายังประเทศไทยเกิดความเป็นห่วง โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิมนุษยชน

แล้วก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ประเทศไทยตกเป็นจำเลยการใช้ “แรงงานทาส” จากการตีแผ่ข้อมูลของสื่อยักษ์ใหญ่ประเทศอังกฤษอย่าง “เดอะการ์เดียน”

รายงานข่าวจากสื่อเมืองผู้ดี ระบุชัด อุตสาหกรรมประมงไทย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กุ้งที่ส่งมายังประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้น มีฐานสำคัญจากแรงงานข้ามชาติที่นายทุนใช้เป็นกำลังหลักในการทำงาน

“แรงงานชายข้ามชาติจำนวนมากถูกซื้อและขายไม่ต่างจากสัตว์ และถูกกักขังไว้ในเรือประมงนอกน่านน้ำประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานสำคัญของการจับกุ้ง” เดอะการ์เดียน ระบุ “ประมงไทยต้องใช้แรงงานข้ามชาติมากเกือบ 300,000 ราย เพราะแทบไม่มีคนไทยอยากทำงานในเรือประมง”

แม้ว่าโฆษกประจำตัว เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะแสดงความคิดเห็นไว้ว่า ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคชาวอังกฤษว่าจะตัดสินใจบริโภคกุ้งที่เป็นผลผลิตมาจากแรงงานทาสต่างด้าวหรือไม่

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ “คาร์ฟูร์” เชนซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ในฝรั่งเศส ตัดสินใจหยุดสั่งซื้อกุ้งจากบริษัทดังกล่าวแล้ว

“จากมาตรการเชิงป้องกันของเรา คาร์ฟูตัดสินใจระงับการสั่งซื้อจากบริษัทจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และขอประณามการทารุณดังกล่าว” 

ขณะที่ แดเนียล บราล ผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบบริษัท Colruyt บริษัทค้าปลีกอาหารรายใหญ่ของประเทศเบลเยียม ได้สั่งการให้ตรวจสอบสายพานการผลิตเช่นเดียวกัน

“เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ สภาพการทำงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นโหดร้าย และเราไม่รู้ว่ามันทารุณเยี่ยงทาสเช่นนั้น เป็นเรื่องที่ช็อกมาก และไม่เป็นความลับอีกต่อไป”แดเนียล บราล ระบุ

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชั้น ผู้ไร้สัญชาติแรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ฉายภาพว่า สภาทนายความรับร้องเรียนจากแรงงานพม่ามาโดยตลอด ส่วนใหญ่ล้วนแต่ถูกกดขี่ เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ค่าแรงต่ำ ทำงานหนัก และมีหลายกรณีที่ถูกฆ่า มีการประเมินกันว่าประเทศไทยมีแรงงานผิดกฎหมายแฝงอยู่ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน

ย้อนกลับไปปี 2554 สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เคยเผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี โดยจัดอันดับ “ประเทศไทย” อยู่ในกลุ่มประเทศที่ “ต้องจับตามอง” ซ้ำเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

รายงานฉบับนี้ตีแผ่ไปทั่วโลก โดยระบุว่า เหยื่อค้ามนุษย์ที่พบในไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกบังคับหรือล่อลวงมาเพื่อใช้แสวงหาประโยชน์ในธุรกิจทางเพศ อุตสาหกรรมประมง โรงงานแปรรูปอาหารทะเล

นี่คือภาพลักษณ์ “แรงงาน” ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย

เปรียบดังคลื่นยักษ์ 2 ลูก ซัดเข้ามาพร้อมกันอย่างจัง

ทั้งหมดเกิดขึ้นในประเทศไทย เกิดขึ้นกับประเทศไทย แต่คนไทยส่วนใหญ่กลับเพิกเฉย-ยินยอมที่จะปล่อยไปเหมือนไม่มีอะไรเกี่ยวข้องด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถอดรหัสนโยบายแรงงานข้ามชาติ 'คสช.' : ผิดทาง-ถอยหลัง

ไฟลามทุ่งแรงงานต่างด้าว หนีตาย 7 หมื่น -1.1 แสนราย จับตาคลื่นลมสงบ ‘นายหน้า’ ปากมัน