ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ออกกฎหมายยกระดับมาตรฐานร้านขายยาแผนปัจจุบันในคนและสัตว์ ทั้งด้านสถานที่ อุปกรณ์ การเก็บรักษายาไม่ให้เสื่อมสภาพ มีผู้ประกอบวิชาชีพประจำเวลาทำการ ให้บริการที่ดีเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 25 มิถุนายน 2557 โดยผ่อนผันร้านที่เปิดก่อนกฎหมายบังคับใช้มีเวลาปรับปรุงมาตรฐานได้ไม่เกิน 8 ปี  คาดในอนาคตอันใกล้ ร้านขายยาทั่วไทยจะพัฒนาเป็นร้านยาคุณภาพ รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และพร้อมร่วมเป็นหน่วยร่วมบริการในระบบประกันสุขภาพ

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2558 ที่เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 ชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 7,000 ร้านทั่วประเทศ ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายยกระดับให้ร้านขายยาแผนปัจจุบันเป็น “ร้านยาคุณภาพ” เป็นที่พึ่งของประชาชนจำนวนมากที่มีอาการป่วยเล็กน้อย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน สร้างความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานและคุณภาพบริการ รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีนี้ โดยได้ออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ ว่าด้วยการขออนุญาตและการขอใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ.2556 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2557 เป็นต้นมา สาระของกฎกระทรวงฉบับนี้ จะครอบคลุมร้านขายยา 4 ประเภท ได้แก่ ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ร้านขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ร้านขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์ และร้านขายส่งยาแผนปัจจุบัน

โดยกำหนดให้สถานที่ขายยาจะต้องมีมาตรฐานถูกสุขลักษณะ เก็บรักษายาได้อย่างมีคุณภาพ เป็นไปตามวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรรม ตามมาตรฐานสากล หรือ จีพีพี (GPP : Good Pharmacy Practice) และมีผู้ประกอบวิชาชีพอยู่ประจำเวลาทำการ พร้อมทั้งแสดงรูปถ่าย ชื่อ สกุล และหลักฐานเลขที่ใบประกอบวิชาชีพหรือใบประกอบโรคศิลปะ และเวลาที่ปฏิบัติงานชัดเจน โดยร้านขายยาที่ขออนุญาตเปิดร้านหลังจากกฎหมายบังคับใช้ จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด ส่วนร้านที่เปิดมาก่อนกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ได้ให้เวลาในการปรับปรุงมาตรฐานภายใน 8 ปี

รัชตะกล่าวต่อว่า ได้สนับสนุนให้สมาชิกของชมรมร้านขายยาทั่วประเทศ เร่งพัฒนาร้านขายยาให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายและพัฒนาเป็นร้านยาคุณภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุข จะให้เป็นหน่วยร่วมบริการสุขภาพ ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วยคัดกรองโรคเรื้อรังเบื้องต้น จัดการปัญหาที่เกี่ยวกับยา การเป็นแหล่งเติมยาให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่คุมอาการได้แล้ว ให้คำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ รวมทั้งการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพและยา ซึ่งในขณะนี้มีโครงการนำร่องร้านขายยาคุณภาพใน 27 จังหวัดแล้ว  

นอกจากนี้ ในปีนี้จะขอความร่วมมือร้านขายยา ร่วมแก้ไขปัญหาการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม โดยควบคุมการจำหน่ายยาแก้ปวดชนิดหนึ่ง ซึ่งพบกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนนำไปผสมกับยาแก้ไอ แก้แพ้ชนิดน้ำเชื่อม และขายผ่านอินเตอร์เน็ตผิดกฎหมาย เพื่อให้เกิดอาการมึนงง เคลิ้ม หากใช้เกินขนาดจะเกิดอันตรายทำให้หัวใจล้มเหลว ชัก อาจเสียชีวิตได้ และยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งมีการนำไปปลอมปนในยาแผนโบราณ ทั้งยาลูกกลอน ยาน้ำ ยาผงบรรจุแคปซูล เช่นยาบำรุง ยากษัยเส้น ยาประดง ยาชุดอ้วน ยาชุดเจริญอาหาร และขายทางรถเร่ วางขายในร้านค้า  ร้านขายของชำ มีการโฆษณาแพร่หลายทางโทรทัศน์ดาวเทียม สถานีวิยุชุมชน การขายตรงในรูปแบบอาหารเสริม รวมทั้งการโอ้อวดสรรพคุณรักษาได้สารพัดโรคเกินจริง เป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท โดยยากลุ่มนี้จะไปกดอาการของโรค ทำให้คิดว่าหายป่วย เสียโอกาสในการรักษา และยังทำให้เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระดูกพรุน เป็นแผลในกระเพาะ และอาจเสียชีวิตได้จากการผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อในร่างกาย อีกด้วย

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ในการต่ออายุใบอนุญาตร้านขายยาจากนี้ไป จะต้องผ่านการตรวจประเมินมาตรฐาน ทั้งด้านสถานที่ อุปกรณ์ การปฏิบัติตามจีพีพี โดยขณะนี้ อย.อยู่ระหว่างการจัดทำประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจประเมิน พร้อมทั้งจัดทำคู่มือตรวจประเมินเป็นแนวทางปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ โดยจะจัดประชุมชี้แจงเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศและแจ้งให้ร้านขายยาเตรียมความพร้อมในการตรวจประเมินเพื่อต่อใบอนุญาตต่อไป อย่างไรก็ตาม ร้านขายยาที่ขออนุญาตก่อนกฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ ยังคงมีเวลาในการปรับปรุงให้เป็นไปตามกฎหมายได้ในระยะเวลาหนึ่งแต่ไม่เกิน 8 ปี ซึ่งกำหนดเวลาบังคับชัดเจนนั้น จะจัดทำเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขต่อไป โดยเมื่อร้านขายยาทุกร้านปฏิบัติตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ จะทำให้ทุกร้านพร้อมเข้าสู่การรับรองคุณภาพเป็นร้านยาคุณภาพในที่สุด ทั้งนี้ ปัจจุบันมีร้านขายยาแผนปัจจุบันทั้งคนและสัตว์ทั้งหมด 19,245 ร้าน ร้อยละ 73 อยู่ในภูมิภาค ในจำนวนนี้ผ่านการรับรองจากสภาเภสัชกรรม เป็นร้านยาคุณภาพแล้วจำนวน 972 ร้าน กระจายทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ในปี 2558 นี้ เพื่อควบคุมปัญหาการนำยาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม สำนักงาน ปปส. กำลังริเริ่มจัดทำ “แผนรณรงค์ป้องกันและปราบปรามการใช้ยาในทางที่ผิด” ร่วมกับภาคีเครือข่าย อย. สถาบันการศึกษา นักวิชาการ ผู้ประกอบการร้านยา 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการควบคุมการแพร่กระจายยาไปใช้ในทางที่ผิด โดยมุ่งปราบปรามร้านขายยาที่มีเบาะแสการจำหน่ายไม่เหมาะสม 2.โครงการระดมความร่วมมือผู้ประกอบการร้านขายยา 3.โครงการป้องกันการใช้ยาที่ผิดในสถานศึกษา 4.โครงการรณรงค์สร้างกระแสสังคมต่อต้านการใช้ยาในทางที่ผิด คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 เป็นต้นไป