ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงแรงงาน เดินหน้านโยบายคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ เปิดสายด่วนรับเรื่องร้องทุกข์ มีล่ามแปลภาษาตามสัญชาติ เข้มตรวจแรงงานในสถานประกอบการ ส่งเสริมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย สู่เป้าหมายการรับรองปฏิญญาอาเซียน ก่อนเปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนในอาเซียนให้ข้อเสนอแนะการดำเนินการภาครัฐต่อการจัดการแรงงานต่างด้าว ครั้งที่ 8 ตุลาคมนี้ ณ ประเทศมาเลเซีย ด้าน "ผู้แทน ILO" ชื่นชมรัฐบาลไทยและประเทศสมาชิกได้ทบทวนความร่วมมือระดับพหุภาคีและทวิภาคี สร้างความเป็นธรรมแก่แรงงานอพยพ เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน

นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานการประชุมเตรียมการระดับชาติสำหรับการประชุม 8 th ASEAN Forum on Migrant Labour ณ โรงแรม VIE กรุงเทพฯ ในประเด็นเสวนาอาเซียนเรื่องแรงงานต่างด้าวว่า กระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวมาโดยตลอด โดยได้ดำเนินนโยบายให้การคุ้มครองและดูแลสิทธิของแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยให้ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับแรงงานไทย

ในรอบปีที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ขยายการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ และผู้ติดตามที่ยังไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติออกไปเป็นเวลาอีก 1 ปี โดยผ่านศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในทุกจังหวัด เพื่อจัดทำทะเบียนประวัติ ออกบัตรประจำตัว ตรวจสุขภาพ และออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวในระหว่างที่รอการพิสูจน์สัญชาติและได้ดำเนินการขยายเวลาการจดทะเบียนแรงงานประมง ณ ศูนย์ประสานงานแรงงานประมงในจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด มีการออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล ดำเนินการตรวจ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย และให้การช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเล รวมทั้งการกำหนดให้นายจ้าง/สถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวทำงานในเรือประมง เพื่อจับสัตว์น้ำทางทะเล จัดทำบัญชีรายชื่อ สัญชาติ และจำนวนแรงงานต่างด้าวและแจ้งไปยังสำนักงานจัดหางานจังหวัดตามภูมิลำเนาที่จดทะเบียนเรือด้วย

รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานยังได้ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมในการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว เช่น การจัดทำแผ่นพับเรื่องสิทธิที่แรงงานจะได้รับภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานในภาษาของแรงงานต่างด้าว การจัดทำสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 ที่มีทั้งภาษาอังกฤษ เมียนมา กัมพูชา เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับการจ้างงาน สายด่วนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 1546 จะมีทั้งภาษาอังกฤษและเมียนมา เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับการทำงาน และสายด่วน 1506 ที่เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับการประกันสังคมและอุบัติเหตุจากการทำงาน

ส่วนการตรวจแรงงานกระทรวงได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองให้แรงงานได้รับสิทธิตามกฎหมายแรงงาน โดยการเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจแรงงานในสถานประกอบการ รวมทั้งการส่งเสริมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในสถานประกอบการ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ สำหรับในอาเซียนจากการที่ประเทศสมาชิกให้การรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าว ซึ่งได้กำหนดพันธะที่ประเทศสมาชิกจะต้องดำเนินการเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปฏิญญา

โดยหนึ่งในกิจกรรมเหล่านั้น คือ การจัดให้มีเวทีสำหรับภาคประชาชนในอาเซียนได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินการของภาครัฐในเรื่องการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมไปแล้ว 7 ครั้ง สำหรับการประชุมครั้งที่ 8 ได้กำหนดจัดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ ณ ประเทศมาเลเซียอย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเตรียมการในส่วนประเทศไทยที่จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จากภาคเอกชน และภาคประชาสังคมต่อการดำเนินงานในเรื่องการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของภาครัฐ กระทรวงแรงงานจึงได้ร่วมมือกับ ILO จัดการประชุมเตรียมการระดับชาติในครั้งนี้ขึ้น

ด้านนายแม็กซ์ ทูนยอน (Max Tunon) ผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมสำหรับการเสวนาอาเซียนเรื่องแรงงานต่างด้าว ครั้งที่ 8 ที่จะกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคม 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของแรงงานอพยพ การติดตามเรื่องปฏิญญาต่างๆ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั้งหมด 7 ประเทศและภาคประชาสังคมมากขึ้น สำหรับสาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้จะให้ความสำคัญและความเข้มข้นในการตรวจแรงงาน การมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมมากขึ้น ตลอดจนความก้าวหน้าของแรงงานอพยพทั้งภาคประมงและเกษตร

นายแม็กซ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเราต้องทราบถึงโครงสร้างเพื่อให้รัฐบาลและประเทศสมาชิกให้ความสำคัญเรื่องการตรวจแรงงานและการดูแลชีวิตความปลอดภัยของแรงงานอพยพที่จะเป็นปฏิญญาร่วมกัน เพราะคาดว่าจะมีการอพยพของแรงงานเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องเพิ่มการดูแลและคุ้มครองสิทธิให้มากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ขอชื่นชมรัฐบาลไทยและรัฐบาลประเทศสมาชิกที่ได้มาทบทวนในระดับพหุภาคีและทวิภาคี เนื่องจากในอนาคตความร่วมมือ ในระดับพหุภาคีจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนำไปสู่ความเป็นธรรมของแรงงานอพยพและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนต่อไป