ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับตั้งแต่ประเทศไทยดำเนินการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกระจายการพัฒนาไปสู่พื้นที่ต่างๆ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ อันจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศ การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกของไทย พ.ศ.2558 เกิดขึ้นใน 5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมาย รวม 36 ตำบล ใน 10 อำเภอ 5 จังหวัด ได้แก่ อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก, อำเภออรัญประเทศ และอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว, อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด, อำเภอเมือง อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร, อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

ขอบคุณภาพจากหอการค้าไทย

และในปี พ.ศ. 2559 อีก 5 จังหวัด รวม 54 ตำบล ใน 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี, อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย, อำเภอเมือง และอำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย, อำเภอเมืองและอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม, อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอตากใบ อำเภอแว้ง อำเภอยี่งอ และอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

ขอบคุณภาพจากหอการค้าไทย

การเกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว นำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน อุตสาหกรรม และการหลั่งไหลของแรงงานต่างด้าว ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงและปัญหาด้านสาธารณสุขเช่นกัน ในส่วนของปัญหาด้านสาธารณสุขนั้นพบว่า สถานการณ์ปัญหาที่เป็นผลมาจากการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญ ได้แก่

ผู้รับบริการสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กล่าวคือ หลังการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ คาดการณ์ว่าประชากรที่เคลื่อนย้ายเข้า-ออกในจังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเพิ่มจาก 13.1 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2555 เป็น 18.0 ล้านคนในปี พ.ศ. 2558

ผู้ใช้บัตรผ่านแดนเพิ่มจาก 2.4 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2555 เป็น 3.6 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2558

และแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนมี 210,124 คน แต่คาดการณ์ว่าที่เข้ามาทำงานจริงมีถึง 615,031 คน ส่งผลต่อปริมาณผู้รับบริการด้านสาธารณสุขที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

โดยหากพิจารณาผู้รับบริการด้านสาธารณสุขในจังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษยังพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งผู้ป่วยนอกคนไทยรับบริการเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 79,502 ครั้ง ในปีงบประมาณ 2555 เป็น 89,636 ครั้งในปีงบประมาณ2558

และผู้ป่วยนอกข้ามชาติเพิ่มขึ้นจาก 387,508 คน ในปีงบประมาณ 2555 เป็น 420,546 คน ในปีงบประมาณ 2558 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8

การขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กล่าวคือ ภายในปี พ.ศ. 2561จะมีนิคมอุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นแล้วเกิดขึ้นใน 3 จังหวัด คือ สระแก้ว สงขลา และตาก และอีก 7 จังหวัดคือ มุกดาหาร ตราด หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี เชียงราย และนราธิวาส อยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2563 ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยให้เกิดการขยายตัวของแรงงาน ผู้คน และความเจ็บไข้ได้ป่วยเพิ่มขึ้นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

ระบบการประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติไม่ครอบคลุม กล่าวคือ การหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติเข้ามาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะมีตัวเลขคนข้ามชาติเข้าประเทศเกินกว่าที่ได้มีการลงทะเบียนไว้

ซึ่งปัจจุบันการดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติภายใต้ระบบการประกันสุขภาพมี 2 ระบบ คือ ระบบประกันสังคมและระบบประกันสุขภาพรายปีของกระทรวงสาธารณสุข แต่พบว่ายังขาดประสิทธิภาพในการผลักดันให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพได้ครอบคลุม

ในปี พ.ศ. 2558 พบว่าในภาพรวมประเทศผู้ประกันตนข้ามชาติประกันสังคมครอบคลุมร้อยละ 35.7 และประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขได้ 1,306,854 คน แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมแรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายอีกจำนวนมาก และจากข้อมูลใน 10 จังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษยังพบว่ามีผู้ประกันตนข้ามชาติที่มีบัตรประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขจำนวนน้อย ในปี พ.ศ.2558 มีเพียง 126,542 คน

ดังนั้นการประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติไม่ครอบคลุมได้ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลคนข้ามชาติที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้มีมากขึ้นจาก 216 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2555 เป็น 398.4 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2558 และคาดการณ์ว่าปัญหานี้จะรุนแรงมากขึ้นหากเกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเต็มรูปแบบ

ปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ การพัฒนาการค้าการลงทุนและอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว ส่งผลให้ความเป็นเมืองขยายตัวมากขึ้น มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกินศักยภาพของระบบนิเวศและระบบสุขาภิบาลที่รองรับ หากไม่มีระบบการจัดการที่ดีพอจะส่งผลให้เกิดปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมตามมา โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาตั้งชุมชนแออัด ชุมชนขนาดเล็กซึ่งไม่ถูกสุขลักษณะอนามัย ย่อมกระทบต่อสุขภาพของคนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ โรคจากสิ่งแวดล้อม เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคผิวหนังอักเสบ ฯลฯ และอาจมีการแพร่กระจายของโรคระบาดหรือโรคติดต่อจากแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่อย่างแออัดได้

โดยคาดการณ์ว่าทุกจังหวัดในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะมีปัญหาสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพเกิดขึ้น อาทิ พื้นที่เสี่ยงจากมลพิษสารเคมีและสารอันตราย เช่น พื้นที่รอบเมืองเก่า ได้แก่ ตาก และกาญจนบุรี พื้นที่เสี่ยงจากมลพิษทางอากาศ เช่น หมอก ควัน ได้แก่ ตาก และเชียงราย พื้นที่ที่เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้แก่ สงขลา และพื้นที่ที่มีปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย ได้แก่ สงขลา กาญจนบุรี และนครพนม

นอกจากนี้ โดยภาพรวมสุขภาพของประชาชนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษยังพบว่าโรคที่เกิดขึ้นสำคัญๆ อย่างมาลาเรีย วัณโรค ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอีกด้วย กล่าวได้ว่าสถานการณ์ปัญหาที่เป็นผลมาจากการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทยจะเพิ่มขึ้นหากไม่มีมาตรการหรือแนวทางในการจัดการด้านสาธารณสุขที่ดี

ตอนต่อไปติดตาม แนวโน้มของโรคและความเจ็บป่วยในเขตเศรษฐกิจพิเศษ