ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอมงคล” ชี้ ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงระบบหลักประกันให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เตือนผู้ที่เกี่ยวข้องอย่ายึดติดกับสิ่งที่ร่วมสร้างกันมา ย้ำต้องเดินหน้าโดยมีวิชาการรองรับ แต่อย่าหยิบยกประเด็นเล็กๆ น้อยๆ มาถกเถียงจนเป็นความขัดแย้ง ย้ำไม่สามารถรวมกองทุนได้ เพราะวัตถุประสงค์และสถานภาพแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

นพ.มงคล ณ สงขลา

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลก (Universal Health Coverage Day 12 ธันวาคม) ประจำปี 2559 ว่า ธีมการรณรงค์ประจำปี 2559 อันประกอบด้วย 1.ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่จนที่สุด 2.ต้องการการสนับสนุนทางการเมือง 3.สร้างระบบสุขภาพที่มีความเมตตา 4.กำหนดความมั่นคงด้านสุขภาพใหม่ด้วยความยุติธรรม ถือเป็นวัตถุประสงค์ดั้งเดิมหรือพื้นฐานที่ประเทศไทยร่วมกันสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ขึ้นมา ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากนี้

“ในขณะที่ประเทศอื่นยังรอเวลาและยังต้องขับเคลื่อนด้วยธีมทั้ง 4 ข้อนี้ ประเทศไทยได้ทำหลักประกันสุขภาพมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2544 และออกเป็น พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 รวมเวลาก็กว่า 10 ปีมาแล้ว ฉะนั้นธีมของประเทศไทยจึงมาอยู่ที่การทำให้ดีขึ้นในเรื่องของความยุติธรรม ความเป็นธรรม และความยั่งยืน” นพ.มงคล กล่าว

นพ.มงคล กล่าวว่า ประเทศไทยต้องเพิ่มคุณภาพในการรักษาหลักประกันสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น โดยเมื่อพิจาณาระบบประกันสุขภาพ 3 กองทุน ได้แก่ บัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ส่วนตัวมองว่าจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะๆ ไม่มีอะไรที่เราจะวางไว้แล้วโดยไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ได้เปลี่ยนไป ระบบสุขภาพจึงต้องเปลี่ยนตาม แต่ปัจจุบันประเทศไทยค่อนข้างล่าช้าในการเปลี่ยนแปลง

นพ.มงคล กล่าวอีกว่า ระบบหลักประกันทั้ง 3 ระบบ ยังอยู่แต่กับสิ่งแวดล้อมที่เราเริ่มต้น มัวแต่ทำในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่รากฐาน ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าเรามีเรื่องเฉพาะหน้ามากเกินไป โดยทั้ง 3 ระบบ เกิดมาด้วยวัตถุประสงค์ที่ดีอันเดียวกัน แต่พอมันเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องระบบสุขภาพ เรื่องโครงสร้างอายุประชากร เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงเศรษฐกิจสังคม ปรากฏว่าเรายังไม่ได้รับตรงนี้ให้ดี พอถึงจุดหนึ่งเมื่อมีเรื่องต่างๆ เข้ามากระแทกระบบ ระบบจึงเรรวน

“จริงๆ แล้วก็คิดว่าไม่น่าสายเกินไปที่เราจะช่วยกันปรับสิ่งต่างๆ อย่าไปยึดติดกับสิ่งที่เราช่วยกันสร้างขึ้นมา เพราะทุกอย่างมันต้องเปลี่ยนทั้งนั้น แต่ยังไงก็ขอให้ยึดหลักเดิมคือต้องการจะช่วยให้คนมีหลักประกันที่จะมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ถ้าเรายึดหลักตรงนี้ไว้ได้ รูปแบบจะเปลี่ยนอย่างไรก็เปลี่ยนไปเถอะ อะไรที่ดีกว่าเราก็เปลี่ยน อะไรที่ดียิ่งขึ้นเราก็ต้องเปลี่ยนต่อไป” นพ.มงคล กล่าว

อดีต รมว.สธ. กล่าวว่า ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าอะไรก็เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ถ้าเราไม่รีบเปลี่ยนตอนนี้ สิ่งที่มันเปลี่ยนอย่างรวดเร็วอาจไม่มีโอกาสให้เราเปลี่ยน ฉะนั้นต้องให้มันเร็วขึ้น เพราะเมื่อดูทั้ง 3 ระบบกองทุนสุขภาพแล้ว พบว่ามันอยู่กับที่ตั้งแต่มันเกิด ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ผู้บริหารจึงต้องคิดในหลักของธรรมชาติที่ต้องปรับให้ทันกับเหตุการณ์ที่มันเปลี่ยนไป

“ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว 360 องศา แต่เราเปลี่ยนยังไม่ถึง 15 องศา ถามว่าแล้วจะอยู่ได้อย่างไร เรามัวแต่เปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ และมัวแต่หยิบยกประเด็นเล็กๆ น้อยๆ มาขยาย มาพูดกันทั้งวัน มันก็ไม่เกิดประโยชน์” นพ.มงคล กล่าว

นพ.มงคล กล่าวอีกว่า จะให้ฝ่ายการเมืองมารู้ในรายละเอียดคงเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นต้องอาศัยผู้ปฏิบัติหรือนักวิชาการเป็นผู้จุดประกาย และนำเสนอสิ่งที่ดีๆ ให้ฝ่ายการเมืองนำไปพิจารณาเพื่อจัดทำเป็นนโยบาย แต่ปัญหาก็มีอยู่ว่านักวิชาการในรุ่นหลังๆ มักจะเอาประเด็นเล็กๆ มาถกเถียงกันจนทะเลาะกัน เช่น การจ่ายไม่จ่าย พอไม่พอ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่พอพูดกันมากๆ ก็ทำให้ฝ่ายการเมืองหยิบประเด็นการทะเลาะกันมาตำหนิว่าระบบมันไม่ดี

“เรายังมีนักวิชาการที่ไม่ค่อยเอาประเด็นหลัก แต่มาเริ่มด้วยประเด็นรอง มันทำให้การเมืองเข้ามาจับประเด็นแล้วก็เข้าใจว่าระบบมันไม่ดี นักวิชาการผู้ปฏิบัติมันไม่ดี ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้จะต้องมาคุยกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น แล้วก็แลกเปลี่ยนกัน เพื่อหาประเด็นหลัก ประเด็นรอง และวัตถุประสงค์ที่แท้จริง เพราะจะเห็นได้ว่าหลากหลายประเทศที่มาดูงานจากเราแล้วกลับไปทำนั้น เขาเอาเฉพาะแก่นไป เพราะเวลาเราอธิบายให้เขาฟัง เราอธิบายแก่น แต่ไม่ได้พูดถึงประเด็นการโต้แย้งเล็กๆ น้อยๆ เขาจึงนำหลักของเราไปประยุกต์ใช้กับสิ่งแวดล้อมของเขา เขาก็ไปได้ดี แต่ถามว่าเขามีปัญหาหรือไม่ เขาก็จะเกิดปัญหาแน่หากเขาไม่เปลี่ยน เมื่อสิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยนไป” นพ.มงคล กล่าว

นพ.มงคล กล่าวอีกว่า ทุกอย่างในการปรับเปลี่ยนต้องรองรับด้วยวิชาการ แต่วิชาการนั้นต้องเป็นวิชาการจริงๆ เพราะบางคนยังไม่มีการนำวิชาการไปเหลาให้มันแหลม แต่กลับหยิบมาเป็นประเด็นเพื่อฉวยโอกาสบอกว่าอย่างนั้นมันใช้ไม่ได้ อย่างนี้มันใช้ไม่ได้ ฉะนั้นวิชาการจะต้องเลือกใช้ให้มันถูก เพราะหากแปลวิชาการไม่ถูกมันอาจจะหลงทางได้ เพราะบางครั้งวิชาการอาจจะจับประเด็นใดประเด็นหนึ่งในห้วงเวลาหนึ่งเวลาใดเท่านั้น

“ดังนั้นเรื่องนี้ต้องดูองค์รวมของมัน เพราะผมดูแล้วทั้ง 3 กองทุน เป็นของดีทั้งนั้น ถือว่าประเทศไทยมีสมบัติที่ล้ำค่ามาก เราจึงมาช่วยกันทำให้มันทันสมัยดีกว่า ส่วนข้อเสนอเรื่องการรวมกองทุนนั้นคิดว่ามันรวมกันไม่ได้ เพราะวัตถุประสงค์แต่ละกองทุนมันไปคนละอย่าง การสร้างโครงสร้าง การวางกฎเกณฑ์ และทิศทางต่างๆ จึงถูกวางไว้คนละอย่าง ถามว่ามันจะเอามารวมกันได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว” นพ.มงคล กล่าว

นพ.มงคล กล่าวอีกว่า ตั้งแต่การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนออกมาเป็น พ.ร.บ.เมื่อปี 2545 ก็มีการพูดว่าเมื่อเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นั่นหมายความว่าจะรวมกองทุนเลยใช่หรือไม่ ทุกคนก็มีความเห็นตรงกันว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะวัตถุประสงค์มันแตกต่างกัน

“ตรงนี้มันชัดมาก แล้วทำไมยังต้องมีคำถามมาจนถึงบัดนี้ซึ่งผ่านมาจะ 15 ปีอยู่แล้ว ทำไมยังต้องมีคำถามเรื่องรวมกองทุนทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ ฉะนั้นต้องแยกกันทำตามกลุ่มของประชากรที่อยู่ในสถานภาพที่ไม่เหมือนกัน เมื่อเปลี่ยนแปลงสถานภาพ คนๆ เดียวกันก็จะย้ายระบบเปลี่ยนแปลงไป มันก็ไม่แปลก แต่ไม่ใช่อยู่ๆ จะมีหลักประกันเดียว มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันคนละสถานภาพ” นพ.มงคล กล่าว

อนึ่ง วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage Day) ตรงกับวันที่ 12 เดือน 12 ของทุกปี โดยในปี 2559 มีกว่า 739 องค์กร ใน 177 ประเทศร่วมรณรงค์ ภายใต้แนวคิดการดำเนินการอย่างกระตือรือร้น โดยมุ่งหวังใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่จนที่สุด 2.ต้องการการสนับสนุนทางการเมือง 3.สร้างระบบสุขภาพที่มีความเมตตา 4.กำหนดความมั่นคงด้านสุขภาพใหม่