ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหรัฐลุยงานวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อค้นหานิยามที่แท้จริงของอาการ Long Covid  เชื่อจะพบแนวทางรักษาที่ดีกว่าปัจจุบันให้แก่ผู้ป่วย

สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา เตรียมการศึกษาอาการที่เกิดขึ้นหลังการป่วยโควิด (Long Covid) ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีในโลก ด้วยจำนวนอาสาสมัครที่ป่วยด้วยอาการโควิดเกือบ 40,000 ราย เพื่อทำความเข้าใจอาการที่ยังไม่สามารถอธิบายได้ถึงสาเหตุการเกิด และนิยามที่แน่ชัดของอาการ Long Covid  โดยใช้เงินลงทุนในการวิจัยกว่า 1.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยโครงการดังกล่าวใช้ชื่อว่า รีโคฟเวอร์  ซึ่งจะเริ่มทำการวิจัยภายในปีนี้ โดยทำการติดตามผู้ป่วยที่มีอาการ Long Covidเป็นระยะเวลานานสี่ปี เปรียบเทียบกับผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการ Long Covid เพื่อที่จะบ่งชี้อาการโควิดในระยะยาวอย่างชัดเจน และหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการดังกล่าว

โดยในการศึกษาวิจัยก่อนหน้านี่ที่มีการตีพิมพ์ใน วารสารแลนเซตเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า มีอาการ Long Covid มากกว่า 200 อาการ ใน 10 ระบบอวัยวะต่างๆ ซึ่งโครงการวิจัยดังกล่าว เป็นงานวิจัยที่มีความคาดหวังที่สูงมาก โดยเฉพาะงบประมาณที่ลงทุน ขอบเขตด้านความกว้างและความลึกของงานวิจัย เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากในงานวิจัยอื่นๆ ซึ่งผลสรุปของงานวิจัยดังกล่าว จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการวินิจฉัยโรค และหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย Long Covid นอกจากนี้ผลการวิจัยยังเป็นประโยชน์อย่างมากต่อคนไข้ที่สามารถเข้ารับการรักษา

ดร. วอลเตอร์ โครอสเช ซี่งเป็นคณะกรรมการของโครงการ รีโคฟเวอร์ กล่าวว่า การศึกษาอาการที่เกิดหลังป่วยจากโรคโควิดจะครอบคลุมทุกประเด็นเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวยังคงมีความท้าทาย เนื่องจากไม่ใช่เรื่องง่ายในการหาข้อสรุป อาการที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ มักจะเกิดอาการอ่อนเพลียเป็นหลัก  โดยในเบื้องต้น โครงการ รีโคฟเวอร์ จะเริ่มจากอาสาสมัครผู้ติดเชื้อผู้ใหญ่จำนวน 17,000 คน ภายในเดือนกันยายน และเด็กกว่า 20,000 คนภายในสิ้นปีนี้ และระดมนักวิจัยกว่า 30 แห่ง ทั้งจากมหาวิทยาลัย และสถาบันทางการแพทย์ทั่งทั้งประเทศเพื่อมาเข้าร่วมโครงการวิจัยดังกล่าว โดยในสัปดาห์นี้ สามารถรวบรวมอาสาสมัคร 5,317 คนจากกลุ่มผู้ใหญ่ และ 269 ในกลุ่มตัวอย่างเด็ก หรือคือคิดเป็นสัดส่วนที่ 15% ของจำนวนอาสาสมัครเกือบ 40,000 คน

สถาบันสุขภาพแห่งชาติ ยังมีแผนงานที่จะศึกษา การทดลองทางคลินิก เพื่อการรักษาที่เหมาะสม โดย ดร.แกรี กิบบอนส์ ผู้อำนวยการสถาบันหัวใจ ปอด และ เลือดแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันสุขภาพแห่งชาติกำลังเจรจากับบริษัทผลิตยาเพื่อทำการศึกษาตัวยาต้านไวรัสที่สามารถรักษาอาการ Long Covid ได้ ซึ่งมีหลายบริษัทที่มีสารตั้งต้นที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษา แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติในการใช้จากองค์การอาหารและยา ซึ่งการร่วมมือดังกล่าวน่าจะเกิดผลเป็นรูปธรรมภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากมีหลายบริษัทที่แสดงความสนใจในการร่วมโครงการวิจัยดังกล่าว อย่างไรก็ตามเขากล่าวว่า โครงการนี้ยังคงต้องการเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาล ซึ่งอาจจะเกินกว่างบประมาณที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณในเบื้องต้นที่ 1.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ถึงแม้คนทั่วไปจะเรียกอาการที่เกิดหลังการป่วยโควิดว่า อาการ Long Covid แต่ในทางการแพทย์นั้นใช้คำว่า ผลตามหลังระยะเฉียบพลันของโควิด-19 (post-acute sequelae of COVID หรือ PASC) ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าไม่ใช่แค่ตัวโรคแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นอาการเจ็บป่วยหลายอย่างที่มีผลกระทบกับระบบอวัยวะต่างๆในร่างกาย โดยนักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่ทราบว่าเชื้อไวรัสสามารถก่อให้เกิดอาการต่างๆได้อย่างไร ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาหลายเดือนหลังจากการติดเชื้อ และเกิดในเฉพาะบางคนเท่านั้น และอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว

ดร. เดวิท พรูติโน ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการฟื้นฟู ของระบบสุขภาพ เม้าท์ เซไน ในนิวยอร์ก กล่าวว่า ระบบภูมิคุ้มกันในแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทำให้การสนองตอบต่อเชื้อไวรัสมีความแตกต่างกันออกไป ผู้ป่วยหลายคนที่เข้ามารับการรักษาอาการ Long Covid มีอาการคล้ายมีอาการบาดเจ็บทางระบบประสาท เช่น ความคล่องแคล่วในการพูดลดน้อยลง ประสิทธิภาพในการวางแผนในการใช้ชีวิตประจำวันลดลง มีอาการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ ปวดตะคริว และอาการวิตกกังวล เขายังกล่าวอีกว่า ประมาณ 60% ของคนไข้ที่เข้ามารับการรักษามีปัญหาในการกลับเข้าไปทำงาน ซึ่งทำให้ต้องลาออกจากงานประจำมาทำงานพิเศษแทน เกษียณเร็วกว่ากำหนด หรือแม้กระทั่งตกงาน โดยคนไข้ส่วนใหญ่กล่าวว่าคุณภาพชีวิตของพวกเขาแย่ลงจากอาการ Long Covid

จากผลการศึกษาวิจัย ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาด พบว่า ในคนไข้เกือบ 2 ล้านคน 1 ใน 5 ของคนไข้ในกลุ่มอายุ 18-64 ปี และ 1 ใน 4 ของกลุ่มคนไข้อายุ 65 ปีขึ้นไป จะมีอาการที่เกี่ยวข้องกับ Long Covid  ถ้าผลการศึกษาดังกล่าวมีความถูกต้อง ก็สามารถประเมินได้ว่า ผู้ป่วยหลายล้านคนในอเมริกามีอาการที่เกี่ยวข้องกับ Long Covid

ดร. พรูติโนกล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากยังไม่สามารถหาคำตอบที่เกี่ยวกับอาการ Long Covid ได้ แพทย์จึงยังคงไม่มีวิธีเฉพาะเจาะจงในการวินิจฉัยอาการดังกล่าว โดยการรักษาก็จะเป็นไปตามอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ซึ่งยังไม่สามารถเข้าไปรักษาในจุดต้นตอที่ทำให้ก่อโรคได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ต้องการคำตอบที่ชัดเจนเพื่อการรักษาที่เหมาะสมในอนาคต โดยการศึกษานั้นจะมีกลุ่มควบคุม ซึ่งหมายถึงกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด เพื่อให้นักวิจัยได้สามารถแยกแยะอาการที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในกลุ่มผู้ติดเชื้อ

โดยอาสาสมัครจะมีการทดสอบในห้องทดลอง การประเมินร่างกาย การค้นหาอาการต่างๆ และเก็บข้อมูลปัจจัยอื่นๆในด้านสุขภาพ ในขณะที่บางส่วน จะมีการตรวจหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้า การสแกนสมองด้วย MRI และการใช้วิธี CT scan เป็นต้น และยังมีการศึกษาตัวอย่างเนื้อเยื่อจากผู้เสียชีวิตจากโควิดอีกด้วย 

 

Source: U.S. scientists enroll nearly 40,000 patients in high-stakes, $1.2 billion study of long Covid, www.cnbc.com

Photo: www.unsplash.com