ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ตั้ง 5 ศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ  เปิดแล้ว  รพ.แม่สอด ก่อนขยายไปยังจ.ระนอง อีก 2 แห่ง สระแล้วและอุบลฯ ประสานความร่วมมือองค์กรระหว่างประเทศ ประเด็นค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เรียกเก็บไม่ได้ พัฒนาสาธารณสุขชายแดนตามบริบท 31 จังหวัด ชูหนองคาย รายได้จากผู้ป่วยลาวสูง

 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เรียกเก็บไม่ได้จากประชากรต่างด้าวและผู้ติดตามในพื้นที่ชายแดนเฉลี่ยราวปีละ 2,500 ล้านบาท ว่า  เรามั่นใจว่าต่อไปจะดีขึ้นเพราะให้ความสำคัญเรื่องการบริการสาธารณสุขชายแดน ทั้งคนในประเทศไทยที่ยังไม่มีสถานะและคนที่อยู่ชายแดนข้างเคียงที่เข้ามารับการดูแลรักษา

ในส่วนของคนในไทยที่ไร้สถานะและสิทธิ ขณะนี้มีการพัฒนาระบบ HINT ในการบริหารจัดการกรณีคนที่ยังไม่มีสถานะไร้สิทธิ ดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาสู่กระบวนการ ในการดูสิทธิที่จะได้รับ เมื่อระบบนี้สำเร็จจะเห็นภาพของคนที่มาใช้บริการว่ามีสถานะ มีสิทธิ มีหลักประกันสุขภาพอย่างไร จะช่วยเติมเต็มและนำสู่การแก้ปัญหาได้

ตั้ง 5 ศูนย์เรียนรู้สาธารณสุขชายแดน เปิดแล้วแห่งแรก รพ.แม่สอด  

นอกจากนี้ วางโครงสร้างรองรับเรื่องการเรียนรู้เป็น ศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ กระทรวงสาธารณสุข โดยจะดำเนินการทั่วประเทศ 5 แห่ง ดำเนินการเปิดแห่งแรกแล้วที่ รพ.แม่สอด จ.ตาก ส่วนที่เหลือจะเปิดศูนย์ที่จ.ระนอง ซึ่งจะเปิดเป็นแห่งที่ 2 ในเร็วๆนี้  รวมถึงที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช(รพร.)ปัว จ.น่าน  รพร.สระแก้ว จ.สระแก้ว และ จ.อุบลราชธานี

“5 ศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์สาธารณสุขชายแดน ตอบโจทย์ตามภูมิภาค ซึ่งจะมีหลักสูตรการเรียนรู้ เช่น สาธารณสุขชายแดนแม่และเด็ก  โรคระบาดชายแดน  มีนักศึกษา คนที่สนใจเข้าไปเรียนรู้ และเป็นพื้นฐานความร่วมมือระหว่างนานาประเทศ ในการดูแลประชาการข้ามชาติ โดยมีองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาช่วยดูแล สนับสนุนร่วมกันเรียนรู้และจัดบริการ”นพ.ชลน่านกล่าว  

ร่วมมือองค์กรระหว่างประเทศ ประเด็นค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เรียกเก็บไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าแนวทางนี้จะสามารถชดเชยค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ไทยเรียกเก็บไม่ได้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เดิมใช้งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ในการดูแลประชากรต่างชาติตามแนวชายแดน  ต่อไปเมื่อมีการทำเรื่องฐานข้อมูลที่ชัดเจน ในการที่จะของบประมาณมาดูแลกลุ่มนี้ก็มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น งานป้องกันโรค  งบประมาณส่งเสริมสุขภาพก็สามารถดึงมาใช้ได้ เป็นการชดเชยเรื่องค่าใช้จ่าย รวมถึง องค์กรระหว่างประเทศก็สนับสนุนงบประมาณด้วย

อย่างที่จ.ตาก ผู้ที่มาจากชายแดนเมียนมา สามารถเบิกค่ารักษาได้ทุกคน จากองค์การกาชาดสากลที่มีงบประมาณสนับสนุน ถ้ามีข้อมูลชัดเจนก็ส่งไปเบิกได้ ก็มาชดเชยเรื่องค่าใช้จ่าย โดยมีการกำหนดตัวเลขค่ารักษาที่จะเบิกได้ไว้ เช่น  ค่ารักษาพยาบาล 60,000 บาท เบิกได้  80 % ไม่เกิน หรือเกิน 60,000 บาท ก็จะเบิกได้ในอัตราที่กำหนด เป็นต้น 

ชูหนองคาย บริการสาธารณสุขชายแดนได้รายได้จากผู้ป่วยลาวสูง

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ชายแดนทั้งหมด 31 จังหวัด การให้บริการเหมือนกัน แต่ชายแดนแต่ละพื้นที่ก็จะมีความแตกต่างกันไป ชายแดนฝั่งเมียนมาก็เป็นรูปแบบหนึ่ง ชายแดนฝั่งลาวก็อีกรูปแบบหนึ่ง การแก้ปัญหาและพัฒนาสาธารณสุขชายแดนจึงขึ้นกับบริบทของแต่ละพื้นที่ 

อย่างรพร.ท่าบ่อ จ.หนองคาย มีรายได้จากผู้ป่วยชาวลาวที่เข้ามารักษาเป็นหลัก เพราะมีกำลังความสามารถที่จะจ่าย ซึ่งก็มีการขยายการการหารือกับท่านทูตลาว ที่จะให้เป็นความร่วมมมือระหว่างรัฐต่อรัฐในการกำหนดสิทธิที่จะสามารถมาใช้รักษาพยาบาลในประเทศไทยได้  เป็นต้น