ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.) เปิดเผยว่า ได้ศึกษาเรื่อง “แรงงานข้ามชาติ...ควรได้รับความคุ้มครอง สิทธิประกันสังคมแค่ไหน” โดยได้ศึกษาข้อกฎหมายและมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ เห็นว่าไม่ควรให้แรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมเท่าเทียมกับแรงงานไทยทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันครอบคลุม 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ว่างงาน ชราภาพ และเสียชีวิต  

ปัจจุบันสิทธิประโยชน์ของแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยควรได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันสังคมเช่นเดียวกับแรงงานไทย ได้แก่ กรณีเจ็บป่วยอันไม่เนื่องจากการทำงาน  เงินทดแทนการขาดรายได้ระหว่างหยุดงาน กรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพรวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศต้นทาง กรณีคลอดบุตรควรคุ้มครองเฉพาะการทำคลอดเพื่อมนุษยธรรมและจรรยาบรรณทางการแพทย์ โดยยกเว้นเงินทดแทนการขาดรายได้

กรณีสงเคราะห์บุตรควรได้รับในลักษณะการจัดบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษาโดยการดูแลชั่วคราวในช่วงระยะเวลาที่พ่อแม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย โดยแรงงานต่างด้าวต้องมีส่วนร่วมในการจัดบริการของรัฐด้วย เพื่อส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวเห็นความสำคัญของการคุมกำเนิด เพื่อไม่ให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย เพราะแรงงานเหล่านี้เข้ามาเพื่อทำงานในไทยระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และกรณีชราภาพควรปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินในรูปแบบบำเหน็จแทนการจ่ายเงินแบบบำนาญเพื่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมและความสะดวกของแรงงานต่างด้าวในการใช้สิทธิเมื่อเดินทางกลับประเทศต้นทาง 

 ส่วนกรณีว่างงานนั้นแรงงานต่างด้าวไม่ควรได้รับความคุ้มครองเนื่องจากเข้ามาทำงานในไทยด้วยความสมัครใจ เมื่อพ้นสภาพการทำงานจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายคนเข้าเมือง โดยต้องเดินทางออกจากประเทศไทยภายใน 7 วัน

 ทั้งนี้ ควรแยกออกเป็นกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมของแรงงานต่างด้าว และแยกกองทุนออกมาโดยเฉพาะ เนื่องจากการคุ้มครองควรมีความแตกต่างจากแรงงานไทยและเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ--จบ--

 --คมชัดลึก ฉบับวันที่ 30 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--