ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความคิดของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ในการจัดระเบียบ “แรงงานต่างด้าว” ที่ส่อเค้าบานปลายกลายเป็นไฟลามทุ่งในขณะนี้ คงไม่มีใครกล้าหาญพอที่จะเปิดหน้าชำแหละ “วิธีคิด” ที่อาจนำสู่ความผิดพลาดครั้งใหญ่ ได้ละเอียดเท่า สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ

สุรพงษ์ กองจันทึก

“คสช.อ้างเหตุผลในการยึดอำนาจเพราะบ้านเมืองแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า จึงต้องเข้ามาดำเนินการเพื่อสร้างความปรองดองและคืนความสุขให้คนไทย แต่สำหรับคนกลุ่มนี้ (แรงงานต่างด้าว) คงไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนอะไรที่ คสช.ต้องรีบดำเนินการ เพราะเขาก็อยู่กันมาโดยไม่มีความขัดแย้ง ไม่ได้ทะเลาะกัน ผมมองว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ปัญหาอะไรเลย” สุรพงษ์ ระบุ

“ผมมองในแง่ดี คสช.มีวิธีคิดแบบทหารคือมองว่าเรื่องแรงงานต่างด้วยเป็นเรื่องของความมั่นคง ถ้าดำเนินการแก้ไขจัดระเบียบก็จะทำให้ประเทศไทยมั่นคงขึ้น จะได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้งในและต่างประเทศ แต่ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นความคิดที่ผิดมากๆ”

นั่นเพราะ ทันทีที่ คสช.ออกประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาคนต่างด้าว เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหารก็ดำเนินการตรวจสอบ บุกเข้าจับกุม ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวทะลักออกนอกประเทศเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะแรงงานชาวกัมพูชา

“แรงงานเขมรเป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อในข้อมูลที่เผยแพร่กันปากต่อปากและไวต่อข่าวลือ ที่สำคัญเขาเหล่านั้นมีความจำและมองประเทศไทยในภาพพจน์ที่ไม่ค่อยดีนัก สอดรับกับผู้ประกอบการก็อาศัยสถานการณ์นี้เบี้ยวค่าจ้าง เลิกจ้าง ไล่ออก ลอยแพแรงงาน หนำซ้ำเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางรายก็ใช้ช่องนี้รีดไถเพิ่ม นี่คือสิ่งที่เขาเหล่านั้นกำลังประสบอยู่”

ทนายความผู้นี้ บอกอีกว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยไม่ได้เข้ามาเพราะหนีภัย แต่ไหลเข้ามาเพราะประเทศไทยต้องการแรงงานในการขับเคลื่อนธุรกิจ แน่นอนว่าเมื่อแรงงานกลุ่มนี้ไหลกลับภูมิลำเนาไป ภาคธุรกิจก็ย่ำแย่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สาเหตุที่ไม่มีใครกล้าพูดหรืออวดครวญนั่นเพราะเรากำลังอยู่ในสถานการณ์พิเศษ อยู่ภายใต้การยึดอำนาจของ คสช. ซึ่ง คสช.เป็นผู้สั่งให้ดำเนินการ ทุกคนเลยไม่มีใครกล้า

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กล้าพูดกลับเป็นต่างประเทศที่จับตาสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด หลายประเทศมองถึง “ปัญหาค้ามนุษย์” ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย การใช้แรงงานในสภาพที่มนุษย์ไม่ควรทำต่อมนุษย์ด้วยกันเอง และทราบว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้สหรัฐอเมริกาจะมีการประกาศสถานการณ์การค้ามนุษย์ทั่วโลก ซึ่งจะจัดอันดับประเทศต่างๆ ด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าประเทศไทยอาจถูกลดอันดับลงไปชั้นล่างสุด ผลกระทบก็คือการถูกกีดกันทางการค้า ภาคเศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบ

กรรมการสภาทนายความผู้ทำงานด้านแรงงานต่างด้าวมาทั้งชีวิตรายนี้ เสนอว่า สิ่งที่ คสช.ต้องทำทันทีคือ “หยุด” ดำเนินการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะการตรวจค้น จับกุม ผลักดัน และสร้างความมั่นใจโดยปล่อยให้ผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวได้ทำงานร่วมกันต่อไป

 “ตอนนี้ คสช.ก็ชี้แจงชัดเจนแล้วว่าไม่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการอะไรที่รุนแรงและไม่มีนโยบายส่งกลับแรงงานต่างด้าว ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่รายใดยังคงไม่หยุดตามคำสั่งคสช.หรือยังมีเจ้าหน้าที่รายใดกระทำเกินกว่าเหตุ กระทำเกินกว่าคำสั่ง หรือใช้อำนาจหน้าที่ในการขูดรีดเรียกรับผลประโยชน์จากคำสั่งก่อนหน้านี้ คสช.ก็ควรที่จะเปิดช่องให้แรงงานต่างด้าวได้ร้องเรียน เพราะขณะนี้ไม่มีช่องทางใดที่จะสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนกลับไปยัง คสช.ได้”

“จากนั้น คสช.ควรยกเลิกหรือล้มคณะกรรมการชุดที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว ล้มเลิกความคิดจัดระเบียบแรงงานหรือจัดโซนให้อยู่เป็นที่เป็นทางตามที่หัวหน้าคสช.ชี้แจง นั่นเพราะคสช.ต้องการที่จะสร้างความปรองดอง และในอนาคตอันใกล้มากๆ นี้เรากำลังจะเปิดเออีซี ดังนั้นเราต้องทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ซึ่งแนวความคิดข้างต้นของคสช.จะตรงกันข้ามกับเป้าหมายที่วางไว้”

สุรพงษ์ กล่าวชัด ถ้าหาก คสช.ต้องการจะจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวจริง อยากเสนอว่าแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายนั้น มีความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับ “ผู้ที่นำเข้ามา” ซึ่งกฎหมายฉบับเดียวกันนี้ กำหนดโทษไว้ที่จำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น สิ่งที่ คสช.ควรทำคือ กันแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ไว้เป็น “พยาน” แล้วสาวไปให้ถึงต้นตอต้นทางของผู้ที่พาแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศมา ซึ่งแน่นอนว่าคนเหล่านี้เป็นผู้มีอิทธิพล แต่ละพื้นที่ก็จะรู้กันดีว่าด่านไหนใครคุม สีกากีหรือสีเขียว ใครเป็นใคร คสช.น่าจะมีข้อมูลอยู่ คสช.จึงควรใช้โอกาสนี้จัดการให้เรียบร้อย เพราะในสถานการณ์ปกติคงไม่มีใครไปกล้ายุ่งกับผู้มีอิทธิพลเหล่านี้

“เมื่อเราส่งเขากลับประเทศไทย กระบวนการเดิมก็ยังอยู่ เหล่าผู้มีอิทธิพลก็จะหากินกันต่อไป เขาก็ไปเอาคนเหล่านี้กลับเข้ามาอีก ดังนั้นหาก คสช.ยืนยันที่จะขับไล่แรงงานต่างด้าว ก็เท่ากับเข้าทางขบวนการค้ามนุษย์ที่จะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ”

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือวิธีการดำเนินการกับแรงงานต่างด้าวภายหลังถูกจับกุมตัว มีการพูดถึงคำ 2 คำคือ “ผลักดัน-ส่งกลับ” ซึ่งทั้ง 2 คำนี้มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิง

สุรพงษ์ อธิบายว่า คำว่า “ผลักดัน” มีความหมายตรงตัวตามคำ กล่าวคือลองนึกภาพการผลักและดัน คือใช้มือสองข้างออกแรงต้านให้สิ่งหนึ่งๆ ออกไป ซึ่งคำๆ นี้เป็นหน้าที่ของทหารโดยตรงในฐานะรั้วของชาติ เมื่อมีใครรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยเพียงเล็กน้อยที่แนวชายแดน ก็ต้องผลักดันออกไป

ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือแรงงานต่างด้าวเข้ามาลึกถึงใจกลางประเทศ และถ้าพูดกันชัดว่าเขาเหล่านั้นเป็น “แรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย” ก็จะต้องใช้คำว่า “ส่งกลับ” ซึ่งเมื่อพูดถึงคำว่าส่งกลับก็ให้นึกถึงเวลาจะส่งสิ่งของให้ใคร แน่นอนว่าต้องมีผู้ส่ง ต้องมีสิ่งของ และที่สำคัญคือต้องมีผู้รับ

“การผลักดันไม่ต้องมีผู้รับก็ได้ แต่การส่งกลับจำเป็นต้องมีผู้รับ นั่นหมายความว่าเมื่อเราจะส่งกลับแรงงานต่างด้าว ประเทศต้นทางเขาก็ต้องมีคนมารับ และการส่งกลับนั้นต้องไปส่งเขาในทางที่เขามา ไม่ใช่เอาคนเขมรไปส่งไว้ที่พม่า และเหนือสิ่งอื่นใดคือต้องส่งกลับโดยปลอดภัย ซึ่งจนถึงตอนนี้มีแรงงานต่างด้าวออกนอกประเทศไม่ต่ำกว่าวันละ 1 หมื่นคน แต่เราไม่มีหลักประกันใดเลยว่าได้ส่งกลับคนเหล่านี้ได้ถูกต้องตามกระบวนการหรือไม่”                

สุรพงษ์ บอกอีกว่า หาก คสช.ยังคงเดินหน้าแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวจริง ก็ควรเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าไปหารือ ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาคราชการ ผู้ทำงานด้านแรงงานต่างด้าว นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ ภาคธุรกิจเศรษฐกิจ นั่นเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน จึงไม่ควรใช้อำนาจในการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วเบ็ดเสร็จ

“แต่ส่วนตัวผมยังยืนยันว่า แรงงานต่างด้าวไม่ใช่ปัญหา และคิดว่า คสช.ควรเอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า เพราะมีอีกหลายเรื่องที่รอคอย คสช.อยู่”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ถอดรหัสนโยบายแรงงานข้ามชาติ 'คสช.' : ผิดทาง-ถอยหลัง

สึนามิ 2 ลูกซัดภาพลักษณ์ “ไทย” พัง กวาดล้างต่างด้าว-แรงงานทาสฉาวทั่วโลก

ไฟลามทุ่งแรงงานต่างด้าว หนีตาย 7 หมื่น -1.1 แสนราย จับตาคลื่นลมสงบ ‘นายหน้า’ ปากมัน

ต่างด้าวเลือดไหลไม่หยุด โดมิโนเศรษฐกิจพังครืน 'มั่นคง' ดาหน้า ‘ขันชะเนาะ’ ไม่เป็นผล

โซนนิ่งแรงงานต่างด้าว สรุปยอดไหลออกล่าสุด 9 หมื่น จับตาไทยถูกหั่นเครดิต 21 มิ.ย.นี้