ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เริ่มมีความชัดเจนในแผนการดำเนินการจัดระเบียบ “แรงงานต่างด้าว” ตามนโยบายของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ภายหลังลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (กนร.) เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา

เป็น 4 ความชัดเจน ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์แรงงานไหลออกกลับภูมิลำเนาครั้งประวัติศาสตร์

“ในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ผู้ประกอบการต้องจัดทำบัญชีควบคุมให้เรียบร้อยและเป็นไปตามกฎหมาย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวรวบยอดความคิดเพียงสั้นๆ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ทว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้อธิบายแนวทางการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการ กนร. โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธาน เพื่อจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้ทำงานได้ต่อไป รวมถึงการ “จัดโซนนิ่ง” พื้นที่ และสวัสดิการรักษาพยาบาล แม้แรงงานต่างด้าวไม่ได้จ่ายเงินรัฐบาล แต่จำเป็นต้องดูแลเพื่อมนุษยธรรม

ล่าสุด พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบก ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (อกนร.) ได้ลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เพื่อรับทราบปัญหาในภาพรวม

“เตรียมจัดโซนนิ่งแรงงานต่างด้าวใน 2 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จ.สมุทรสาคร และ จ.ระนอง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลเพื่อเสนอ อกนร. ภายในต้นเดือน ก.ค.นี้” คือความชัดเจนล่าสุดถึงแผนการจัดการแรงงานต่างด้าว

สำหรับการจัดทำโซนนิ่ง เป็นการจัดระเบียบที่พักอาศัยและด้านการสาธารณสุข รวมทั้งการดูแลบุตรของแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปตามหลักสากล

ที่สำคัญ ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (อกนร.) ที่กองทัพไทย เพื่อกำหนดมาตรการดูแลปัญหาแรงงานต่างด้าว ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนในแผนปฏิบัติการและกรอบความคิดในการกำหนดยุทธศาสตร์การทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนอย่างที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้าใน “ทิศทางที่น่ายินดี” เมื่อสมาคมอุตสาหกรรมหอการค้าจังหวัด และ 8 สมาคมที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำข้อตกลง (เอ็มโอยู) ที่จะไม่จ้างแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

ความชัดเจนต่อมา คือตัวเลขการไหลออกของแรงงานต่างด้าว ที่ผ่านมาล้วนแต่อ้างอิงข้อมูลจากสื่อต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น บีบีซี หรือสื่อกัมพูชาและเครือข่ายภาคประชาชนต่างชาติ

อย่างไรก็ดี มีการยืนยันแล้วจาก ประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน ที่ระบุชัด ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวเดินทางออกนอกประเทศแล้ว 91,308 คน ทั้งทางด่าน จ.สระแก้ว จ.จันทบุรี และ จ.ตราด

อีกหนึ่งความชัดเจน ซึ่งอาจเป็นความชัดเจนที่ คสช.อาจไม่พอใจนัก เพราะแม้ว่าหลายฝ่ายจะดาหน้าออกมายืนกรานเสียงแข็งว่า “ไม่มีนโยบายปราบปราม-กวาดล้าง-ขับไล่” แต่ที่สุดแล้วการดำเนินงานของฝ่ายความมั่นคงอาจตรงกันข้าม

แรงงานชามกัมพูชารอกลับประเทศที่ด่านผ่านแดนถาวรช่องจอม-โอร์เสม็ด ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ (ขอบคุณภาพจากเวบไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์)

พ.อ.ชินกาจ รัตนจิตติ รองเสนาธิการกองภัพภาคที่ 2 ระบุว่า ผลการปฏิบัติงานในการปราบปราบแรงงานที่หลบหนีเข้าเมืองช่วงวันที่ 1-15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวม 6,441 คน แบ่งเป็น ชาวกัมพูชา 6,256 คน และชาวลาวอีก 185 ราย

ยังไม่นับ ผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจภาค 3 ในพื้นที่ 8 จังหวัดอีสานตอนล่าง ที่จับกุมแรงงานต่างด้าวไปแล้ว 647 ราย นายจ้าง ผู้นำพา ผู้ให้ที่พักพิง อีก 4 ราย พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยังเดินหน้าปราบปรามอย่างต่อเนื่อง

นั่นหมายความว่า ... นาทีนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังคงเดินหน้า “จับกุม” ชาวต่างด้าวอยู่เรื่อยๆ จึงไม่แปลกที่เหตุใดตัวเลขการไหลออกของแรงงานจึงเพิ่มขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด

สำหรับ ความชัดเจนสุดท้าย คือการเจรจาทำความเข้าใจ 2 ฝ่าย ระหว่างไทย-กัมพูชา เนื่องจากก่อนหน้าที่ฝ่ายกัมพูชาได้ประโคมข่าวเรื่องเจ้าหน้าที่ไทยกระทำการรุนแรงกับแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะประเด็นข่าวลือ-ข่าวลวง ที่แรงงานกัมพูชาเล่ากันปากต่อปากว่า มีผู้เสียชีวิตจากการกวาดล้างแล้ว 7 ศพ

นำมาสู่การ “หนีตาย” กลับภูมิลำเนาในครั้งนี้ โดย สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เตรียมเชิญ อีท โซฟี เอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย ร่วมหารือเพื่อให้ทราบถึงนโยบายของไทยในเรื่องแรงงานต่างด้าว ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้เช่นกัน

อีกหนึ่งประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับภาพลักษณ์แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจน ... แต่ก็มีความคืบหน้า

กล่าวคือ ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ สหรัฐอเมริกาเตรียมเปิดเผยรายงานประจำปีเรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์

ปัจจุบัน ประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ในระดับ 2.5 หรือ Tier watch list และจาก 2 สถานการณ์ใหญ่คือ ชะตากรรมแรงงานประมงในไทยที่สื่อต่างชาติตีแผ่โด่งดังทั่วโลก และกรณีแรงงานต่างด้าวไหลกลับภูมิลำเนา

มีความเป็นไปได้ที่ จะถูกหั่นเครดิตลดลงไปอยู่ในระดับ Tier 3 ซึ่งเป็นลำดับชั้นล่างสุด และหากเป็นเช่นนั้นจริง ประเทศไทยอาจถูก “มาตรการกีดกันทางการค้า” จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่าภาคธุรกิจคงต้องรับผลกระทบ

อย่างไรก็ดี ทรงศัก สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะไม่ถูกปรับลดเครดิต เนื่องจากการดำเนินการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น มีความชัดเจนว่าสามารถแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ได้จริง

“เราไม่ได้คาดหวังว่าประเทศไทยจะถูกปรับระดับให้สูงขึ้น แต่เรามีความมั่นใจว่าการดำเนินงานและจัดทำรายงานของเราเป็นที่ยอมรับ” ทรงศัก ระบุ

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ให้ข้อมูลว่า การค้ามนุษย์ด้านแรงงานแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรงงานเด็ก และกลุ่มแรงงานบังคับ โดยเฉพาะแรงงานด้านประมง ซึ่งกระทรวงแรงงานร่วมกับหลายหน่วยงาน ในการวางแผนตรวจแรงงานและในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์

“เราได้ลงนามความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว กัมพูชา และพม่า เรื่องการนำเข้าแรงงานแบบรัฐต่อรัฐ โดยแรงงานที่เข้าสู่กระบวนการจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเหมือนคนไทยทุกประการ ส่วนการค้ามนุษย์ในแรงงานด้านประมง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่นั้น ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานประมง 7 จังหวัด และจะดูแลห้ามนายจ้างจ่ายค่าจ้างต่ำกว่า 300 บาท และเข้มงวดเรื่องแรงงานเด็ก ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการแก้ไขปรับอายุแรงงานจากเดิมห้ามต่ำกว่า 15 ปี เป็น 18 ปี ด้วย” รองปลัดรายนี้ว่าไว้เช่นนั้น

ภาวนาว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นความจริง และเอาใจช่วยประเทศไทยอันเป็นที่รักให้รอดพ้นการถูกปรับลดเครดิต

แม้ว่าจะรอดยากก็ตาม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ถอดรหัสนโยบายแรงงานข้ามชาติ 'คสช.' : ผิดทาง-ถอยหลัง

สึนามิ 2 ลูกซัดภาพลักษณ์ “ไทย” พัง กวาดล้างต่างด้าว-แรงงานทาสฉาวทั่วโลก

ไฟลามทุ่งแรงงานต่างด้าว หนีตาย 7 หมื่น -1.1 แสนราย จับตาคลื่นลมสงบ ‘นายหน้า’ ปากมัน

ต่างด้าวเลือดไหลไม่หยุด โดมิโนเศรษฐกิจพังครืน 'มั่นคง' ดาหน้า ‘ขันชะเนาะ’ ไม่เป็นผล

‘กันต่างด้าวเป็นพยาน-เอาผิดอิทธิพลเถื่อนขบวนการค้ามนุษย์’ ข้อเสนอจากนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน