ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความไม่ลงรอยกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นับวันยิ่งเด่นชัดชนิดที่เรียกว่าเปิดหน้าชกกันแล้ว ในประเด็นการจัดสรรงบในระบบสุขภาพที่ สธ.ต้องการให้จ่ายผ่านเขตสุขภาพก่อนกระจายลงไปถึงหน่วยบริการ โดยโจมตีว่าวิธีการจ่ายเงินของ สปสช.ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน ร้อนถึงคณะผู้บริหารสปสช.ต้องออกมาตอบโต้ว่าเป็นการโจมตีด้านเดียว

ล่าสุด การประชุมคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบและปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัด สธ. ซึ่งแต่งตั้งโดย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. โดยมี นพ.ยุทธ โพธารามิก อดีตรองปลัด สธ. เป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน วันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนของ สธ. 5 คน ก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุม ตัวแทนของ สธ. 5 คน ก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุม ทำให้ นพ.ยุทธ ถึงกับถอดใจลาออก

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ให้สัมภาษณ์ ถึงการปฏิรูประบบสุขภาพใน 10 ปี ข้างหน้า โดยกล่าวถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่า สธ.ไม่ได้ต้องการทะเลาะกับใคร

นพ.ณรงค์ มองว่า แนวคิดการปฏิรูประหว่างการกระจายอำนาจให้โรงพยาบาลออกนอกระบบ กับแบบเขตสุขภาพนั้น 2 แนวทางนี้เป็นเรื่องที่ไปในทิศทางเดียวกัน เพียงแต่อย่างไหนมาก่อน-หลัง หากมองบริบทของสังคมไทยอย่างมีเหตุผล ไม่สุดโต่ง จะเห็นว่าการผลักโรงพยาบาลออกไปเป็นองค์การมหาชน หรือแม้แต่การถ่ายโอนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับต่างๆ มีความเป็นไปได้น้อยมาก เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

ด้วยเหตุนี้ ปลัดณรงค์จึงมองว่าการจัดการแบบเขตสุขภาพน่าจะเป็นการจัดการในระยะเริ่มต้นที่ดีกว่า เพราะไม่ต้องวุ่นวายกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบองค์กรมากนัก แต่เป็นการกระจายอำนาจให้เขตพื้นที่ที่มีขนาดเหมาะสมได้วางแผนแก้ปัญหาภายในเขตของตนเอง ในที่สุดเมื่อเขตสุขภาพมีความเข้มแข็ง การออกไปเป็นองค์การมหาชนหรือรูปแบบอื่นใด ก็จะมีความเป็นไปได้และเกิดประโยชน์มากขึ้น

ปลัด สธ.กล่าวด้วยว่า ภาพที่พึงประสงค์ในอนาคตของระบบสุขภาพ คนไทยควรมีอายุยืนยาวขึ้น โดยมีปีที่มีสุขภาพดีมากขึ้น มีระบบบริการที่ครอบคลุมภายใต้การจัดการที่มีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ การจะไปให้ถึงเป้าหมายนี้ เป็นภาระหน้าที่ของทุกฝ่าย โดยมี สธ.เป็นแกนหลักในการกำหนดทิศทาง ส่วนภาคีเครือข่ายก็ควรเข้ามาร่วมมือกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างเดิน แต่จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เช่น การเงินการคลังที่เป็นปัญหา การอภิบาลระบบที่ยังขาดธรรมาภิบาล สิ่งเหล่านี้หากปล่อยไว้ไม่กล้าหาญที่จะเริ่มต้นวางรากฐานในการแก้ปัญหา วันหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่าสายเกินแก้

ปลัด สธ.ยอมรับว่า ความเห็นที่แตกต่างกัน การเคลื่อนไหวที่มีฝักฝ่าย ทำให้การปฏิรูประบบสุขภาพอาจไม่เป็นเอกภาพเท่าที่ควร ดังนั้นองค์กรที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการให้สอดคล้องกันในทิศทางที่ประชาชนได้ประโยชน์ ไม่มีวาระซ่อนเร้น ไม่เล่นเกมการเมือง เชื่อมั่นในการกระจายอำนาจการจัดการลงไปที่ระดับพื้นที่ อย่าดำเนินการเพียงเพื่อปกป้องความเชื่อ หรือประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มเท่านั้น

นพ.ณรงค์ ย้ำว่า หากเป้าหมายตรงกันก็สามารถถกแถลง แลกเปลี่ยนเหตุผล แล้วร่วมมือกันแก้ปัญหา เดินหน้าปฏิรูปไปด้วยกันได้

"สธ.ไม่ต้องการทะเลาะกับใครหรือองค์กรไหน แต่ต้องการความร่วมมือ ในทางกลับกันองค์กรต่างๆ ควรทบทวนและวางบทบาทของตนให้ถูกต้องเหมาะสม กระทรวงเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาสุขภาพของประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 70% ใน ด้านการรักษาพยาบาล และเกือบ 100% ในเรื่องการสาธารณสุข จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดทิศทางให้เกิดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์" นพ.ณรงค์ ระบุ

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 22 ธันวาคม 2557