ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักข่าว Health focus ได้นำเสนอข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งดำเนินการโดย “คณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ” ในประเด็นที่ 1-3 จากทั้งหมด 8 ประเด็น ไว้ใน เปิดข้อเสนอ “กมธ.ปฏิรูปสาธารณสุข” (1) : ดันสุขภาพมาตรฐานเดียว เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับตอนที่ (2) นี้ จะเป็นการสรุปสาระสำคัญจากรายงาน “ประมวลความเห็นหรือข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา 18 คณะ” เสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่ 4-6

ค่าใช้จ่ายสุขภาพพุ่ง ต้องปฏิรูป 3 ระบบหลักประกัน

4.รัฐมีหน้าที่สนับสนุน และจัดสรรทรัพยากรสำหรับบริการสาธารณสุขให้เพียงพอและยั่งยืน สอดคล้องกับสภาวการณ์ของเศรษฐกิจ และสังคม โดยคำนึงถึงมาตรฐาน ความทั่วถึง เป็นธรรม ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

หลักการที่นำเสนอคือ ในอนาคตประเทศไทยจะมีภาระดูแลผู้สูงอายุทั้งด้านสุขภาพและสังคมเพิ่มขึ้น คาดว่าในปี 2573 ประชากรไทย 1 ใน 4 จะเป็นผู้สูงอายุ ในขณะที่วิถีชีวิตเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมเมืองและเลียนแบบประเทศตะวันตกมากขึ้น ประชากรจะเข้าถึงทรัพยากร ข้อมูลข่าวสาร มีการศึกษา มีอาชีพและรายได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายประชากรเข้าเมืองและการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติจะมีมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรคและการจัดบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้อง แบบแผนความต้องการบริการสุขภาพจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยจะมีหลากประเภทและซับซ้อนกว่าเก่า

ประชาชนมีความต้องการและใช้บริการสาธารณสุขเพิ่มสูงขึ้นหลังมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่าบริการสาธารณสุขของรัฐยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ครอบคลุมทั้งหมด เนื่องจากมีปัญหาข้อจำกัดเรื่องบุคลากรด้านสาธารณสุขและทรัพยากรสนับสนุนไม่เพียงพอ ส่งผลให้โรงพยาบาลเกิดปัญหาเป็นหนี้ ปัญหาความมั่นคงของระบบยาและเวชภัณฑ์ ปัญหาขาดแคลนบุคลากรและการจ้างงานที่เป็นธรรม

การขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุขส่งผลทำให้การเข้าถึงบริการสาธารณสุขน้อยลง ส่งผลให้เกิดปัญหาคิวรอตรวจและผ่าตัดล่าช้า และมีการส่งต่อเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ จะยังมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย/ญาติ ที่นำไปสู่ประเด็นการฟ้องร้อง ส่งผลทำให้บุคลากรขาดขวัญและกำลังใจ อัตราการลาออกสูง รวมถึงการขยายตัวของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนทำให้บุคลากรส่วนหนึ่งไหลออกจากภาครัฐ

อีกทั้ง ระบบบริหารจัดการการเงินการคลัง 3 ระบบหลักประกันสุขภาพ คือระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีความแตกต่างกัน ทั้งด้านที่มา แนวคิดหลักการ แหล่งที่มาและวิธีบริหารจัดการงบประมาณ วิธีระบบการเบิกจ่ายและตรวจสอบค่าบริการทางการแพทย์ สิทธิประโยชน์และเครือข่ายหน่วยบริการที่เข้าร่วม ส่งผลให้ประชาชนมีสิทธิต่างกัน เข้าถึงและได้รับบริการที่แตกต่างกันในบางเรื่อง ซึ่งจะต้องบริหารจัดการให้เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

จากบัญชีรายจ่ายสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนรายจ่ายภาครัฐด้านสุขภาพคิดเป็นร้อยละ 16.9 ของรายจ่ายภาครัฐทั้งหมด นับเป็นภาระทางการคลัง โดยอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายสุขภาพรวมของประเทศสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 กลับพบว่ามีหลักเกณฑ์ที่ยุ่งยากและมีการเกี่ยงภาระในการจ่ายค่าชดเชย จึงจำเป็นต้องปฏิรูประบบบริการสุขภาพร่วมกับการปฏิรูปกองทุนหลักประกันสุขภาพภาครัฐ เพื่อช่วยลดภาระทางการคลังของรัฐ

ทั้งนี้เสนอให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

ผลักดันแพทย์แผนไทยเต็มศักยภาพ

5.รัฐต้องสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนา และอนุรักษ์การแพทย์แผนไทยคู่ขนานไปกับการแพทย์แผนปัจจุบันในระบบบริการสาธารณสุข

หลักการที่นำเสนอคือ การแพทย์แผนไทยเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่เคยเป็นการแพทย์ประจำชาติไทย แต่ห่างหายไปเมื่อความเจริญทางวิทยากรมีมากขึ้น แล้วกลับมีความต้องการอีกครั้งในปัจจุบัน การแพทย์แบบองค์รวมและยาสมุนไพรได้รับการพิจารณาเป็นทางเลือกเพื่อเข้ามาใช้ในระบบสาธารณสุขโดยข้อตกลงขององค์การอนามัยโลก

อย่างไรก็ตาม การแพทย์แผนไทยยังขาดการนำมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ การสืบทอด การตรวจวินิจฉัยโรคและองค์ความรู้ที่ต่อเนื่องกันมามีอยู่เพียงบางส่วน ทั้งที่ยังมีองค์ความรู้อยู่ในเอกสาร คัมภีร์เป็นจำนวนมาก ประกอบกับศักยภาพในการดูแลรักษาโรคที่ดีจนเป็นที่พึงพอใจและพึงประสงค์ของผู้บริโภคจำนวนมาก เห็นได้จากการขยายตัวของตลาดยา อาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสมุนไพรในประเทศและต่างประเทศ

ถ้ามีการส่งเสริมและการลงทุน นำเอาองค์ความรู้ด้านแพทย์แผนไทยมาใช้อย่างเต็มศักยภาพก็จะสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขของชาติได้

ทั้งนี้เสนอให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

ชุมชนจัดการสุขภาพตัวเอง

6.รัฐต้องสนับสนุน ส่งเสริม ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดบริการด้านสาธารณสุขที่ครบถ้วน

หลักการที่นำเสนอคือ การพัฒนาระบบสุขภาพและการบริการสุขภาพให้เข้มแข็งยั่งยืนได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องให้ประชาชน ชุมชน หรือท้องถิ่นในฐานะเจ้าของสุขภาพมีส่วนร่วมและสามารถจัดการ และแก้ปัญหาสุขภาพได้ด้วยชุมชนเอง

รัฐต้องกระจายอำนาจ ทุน และทรัพยากร ให้ชุมชนท้องถิ่นอย่างพียงพอ เพื่อทำหน้าที่อภิบาลระบบสุขภาพ พัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ และจัดการงานด้านสุขภาพด้วยตัวเองให้มากขึ้นและเป็นรูปธรรม เพื่อลดบทบาทของรัฐบาลส่วนกลางให้เป็นเพียงผู้สนับสนุตเท่าที่จำเป็น

ทั้งนี้เสนอให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด 7 การกระจายอำนาจ และการปกครองท้องถิ่น

ในตอนที่ (3-จบ) สำนักข่าว Health focus จะนำเสนอข้อเสนอแนะของกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุขอีก 2 ประเด็น ซึ่งเกี่ยวข้องกับสุขภาวะที่ยั่งยืน และการคุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดข้อเสนอ “กมธ.ปฏิรูปสาธารณสุข” (1) ดันสุขภาพมาตรฐานเดียว

เปิดข้อเสนอ “กมธ.ปฏิรูปสาธารณสุข” (จบ) คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข