ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์ความขัดแย้งในระบบหลักประกันสุขภาพรอบล่าสุด ที่ปะทุขึ้นมาปีกว่า และยังคงยืดเยื้อชนิดที่ไม่แน่ใจว่า ถึงที่สุดแล้วสถานการณ์นี้จะจบลงอย่างไรนั้น ประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคือ ความขัดแย้งครั้งนี้อาจจะกำลังทำให้ระบบสุขภาพไทย ซึ่งมีขอบเขตมากกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพหรือระบบประกันสุขภาพภาครัฐ (แต่เป็นส่วนที่สำคัญมากในระบบสุขภาพไทย) ติดกับดักและไม่สามารถพัฒนาเดินหน้าไปได้อย่างที่ควรจะเป็น

ขณะที่มุมมองมองอีกด้าน กลับมองว่า ความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นต่างนั้น จะเป็นตัวที่ก่อเกิดทำให้ระบบสุขภาพของไทยเดินหน้าไปได้ เพราะผ่านการปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนความเห็นต่างจนตกผลึกและนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพในภาพใหญ่ได้

ขณะเดียวกัน เมื่อมองหลักหมุดหมายที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ปี 2558 ถือเป็นปีที่ 13 ที่ไทยสามารถทำให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้า และแน่นอนว่า เป้าหมายไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่ต้องมีการพัฒนาและเดินหน้าต่อไป ซึ่งเป็นไปตามพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งยังคงมีภารกิจที่ท้าทายหลายประการในปัจจุบันและอนาคตสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นภาวะสังคมผู้สูงอายุ ความยั่งยืนด้านการคลัง การขยายตัวของเทคโนโลยี และการตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชน รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และการสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ในระบบสาธารณสุขในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ได้เกิดข้อเสนอด้านปฏิรูประบบสาธารณสุขที่หลากหลายและมีทิศทางตลอดจนการมุ่งเน้นเป้าหมายที่แตกต่างกัน กระทรวงสาธารณสุขเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสาธารณสุข ผ่านกลไกเขตบริการสุขภาพ โดยเชื่อว่าเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยใช้กลไกด้านการเงินการคลังได้ ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นำเสนอทิศทางการปฏิรูป โดยเน้นที่การกระจายอำนาจ และความเท่าเทียมในการเข้ารับบริการสาธารณสุขดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทั้งสองหน่วยงานหลักในระบบสาธารณสุขให้ความสำคัญกับทิศทางการปฏิรูปที่ต่างกัน โดยฝ่ายหนึ่งมุ่งเน้น การเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก และความเท่าเทียมเป็นรอง ขณะที่อีกฝ่ายมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความเท่าเทียมเป็นหลัก และประสิทธิภาพเป็นรอง

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำซีรีย์ (series) ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้าขึ้น โดยสัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุข ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียในระบบสุขภาพไทย จำนวน 15 คน เพื่อร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็น ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้า และหวังว่าซีรีย์ชุดระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้านี้ จะนำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับทุกฝ่ายในการออกแบบระบบสุขภาพที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทยอย่างแท้จริง 

ตอนที่ 1 ‘นพ.รัชตะ’ ศึกกระทรวงหมอต้องจบบนโต๊ะเจรจา

ตอนที่ 2 ‘นพ.ณรงค์’ เขตสุขภาพ จุดเริ่มต้นปฏิรูประบบสาธารณสุข

ตอนที่ 3 ‘จอน อึ๊งภากรณ์’ อนาคตระบบสุขภาพต้องยุบรวมเหลือกองทุนเดียว

ตอนที่ 4 ต้องลงทุนสร้างระบบปฐมภูมิ วาระปฏิรูปในมุมมอง ‘อัมมาร สยามวาลา’

ตอนที่ 5 นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์  ได้เวลากระจายอำนาจ รพ.  กระตุกรัฐชัดเจนการเงินการคลัง

ตอนที่ 6 นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช 3 กับดักจมปลักระบบสาธารณสุขไทย

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 7 บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน 3 ระบบต้องทัดเทียม ‘วิทยา กุลสมบูรณ์’

ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ 

นอกเหนือจากความไม่พร้อมในการรับมือความเปลี่ยนแปลงแล้ว แนวนโยบายด้านสุขภาพในอนาคตของประเทศก็แทบไม่มีให้เห็นเป็นรูปธรรม

ตามมุมมองของนักวิชาการด้านสังคม ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินว่า ในอนาคต 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะประสบปัญหาหลากหลาย เนื่องจาก "ไม่ได้เตรียมพร้อม" ตั้งแต่เรื่องสภาพภูมิอากาศ ความแออัดของเขตเมือง การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

หากให้วาดภาพระบบสุขภาพที่ควรจะเป็นในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเด็นสำคัญที่สุดคือ คนไทยทุกคนควรจะได้สิทธิในการรับ "บริการด้านสุภาพขั้นพื้นฐาน" ที่ทัดเทียมกัน

พร้อมกันนั้น ต้องสร้างระบบที่สามารถป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพให้กับคนไทยทุกคน เช่น อุบัติเหตุ โรคจากการทำงาน เรื่องอาหารโภชนาการ และสุดท้ายต้องมีระบบที่จะส่งเสริมให้คนไทยเกิดการตื่นตัวด้านสุขภาพมากไปกว่าคิดแต่จะหาโรงพยาบาลดีๆ เท่านั้น

แนวทางที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้สำเร็จได้ คือ ต้องทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมในการ "เป็นเจ้าของ" ระบบสุขภาพ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ง่ายที่จะทำให้สำเร็จ โดยทุกวันนี้มีคนจำนวนหนึ่งรู้สึกแบบนี้แล้ว นั่นคือคนที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพราะรัฐประกาศว่าสิ่งนี้เป็น "สิทธิ" ของเขา ซึ่งแตกต่างกับในอดีตที่เป็นสังคมสงเคราะห์

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าจะสร้างให้คนเป็นเจ้าของแล้วเพียงพอ สิ่งที่ต้องมีควบคู่กันด้วยหลักฐานทางวิชาการที่จะอธิบายได้ว่าควรจัดบริการในรูปแบบใดถึงจะเหมาะสมที่สุด ทุกวันนี้ประเทศไทยมีปัญหาคือ 3 ระบบ คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งแต่ละระบบใช้รูปแบบไม่เหมือนกัน มีทั้งเหมาจ่ายรายหัว ทั้งจ่ายสมทบ ทั้งให้เบิกได้อย่างไม่จำกัด

"ระบบหนึ่งให้เบิกได้ไม่จำกัด ก็ใช้งบประมาณมาก อีก 2 ระบบ ก็มองตาปริบๆ ว่าทำไมตัวเองไม่ได้บ้าง ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นไปไม่ได้ และการให้ชนิดที่ไม่มีการจำกัดก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีถ้าหากเรายังไม่มีระบบคัดเลือกสิ่งที่จะให้ที่เหมาะสม ดังนั้นนอกจากการสร้างให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของระบบแล้ว ยังต้องมี "ผู้กำกับ" ไม่ให้ 3 ระบบเหลื่อมล้ำกันด้วย"

ส่วนตัวมองว่ารูปแบบ (วิธีการจ่ายเงิน) ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่ต้องมีบางส่วนที่เหมือนกัน นั่นคือบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่ทุกคนได้รับต้องเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นยาที่จำเป็น เครื่องมือแพทย์ที่สำคัญ แต่ระบบไหนต้องการความสะดวกสบายก็ให้ไปจ่ายเพิ่มเอง ซึ่งทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่ารูปแบบการจ่ายรายหัวเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ก็จะมีคำถามอีกว่ารายหัวนี้มันควรเป็นเท่าไร จะปรับเพิ่มได้ไหม หรือรัฐบาลจะคุมไปตลอด รายละเอียดปลีกย่อยเยอะ

การแข่งขันจะทำให้แต่ละกองทุนเกิดการพัฒนา แต่หากให้เอา 3 ระบบมาขยำรวมกัน ถามว่าใครจะยอม คนที่อยู่ในระบบราชการก็บอกว่าของตัวเองดีและคงไม่ยอมไปอยู่ในระบบอื่น ดังนั้นคงเป็นไปไม่ได้ที่จะขยำรวมกันเป็นก้อนเดียว แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยให้ต่างคนต่างทำ ทั้ง  3 ระบบ ยังคงต้องเดินควบคู่กันไปด้วยกัน

สำหรับอนาคตและทิศทางที่เหมาะสมของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คือเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ออกแบบกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมาย (Regulator) ทุกวันนี้เวลามีโปรแกรมอะไรก็เป็นลักษณะ Top-Down เช่น สั่งให้ทุกจังหวัดไปทำเรื่องเดียวกัน ซึ่งในอนาคตต้องเปลี่ยน สิ่งที่อยากเสนอและผลักดันอยู่ในขณะนี้คือ การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาโดยตัวของชาวบ้านในพื้นที่เอง ส่วนกลางทำเพียงนำความรู้เข้าไป เพิ่มเติมให้

"ถ้าความเชื่อเขายังไปไม่ถึง เช่น แร่ใยหิน เขายังไม่เข้าใจ ยังไม่เห็นความสำคัญ เขาก็อาจจัดลำดับไว้สุดท้ายก็ได้ แต่เราก็ต้องคอยไปคุยกับเขา ไปบอกถึงอันตรายต่างๆ กับเขา แต่ให้เขาเลือกเอา เขาจะภูมิใจมากที่เขาได้ตัดสินใจ"

แต่ละพื้นที่มีปัญหาแตกต่างกัน เขาก็จะรู้ว่าอะไรสำคัญและจะจัดการอะไรก่อน

ต่อนต่อไป นพ.วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ "หากยังขัดแย้งต่อไม่มีทางไปไหนได้เลย"

เผยแพร่ครั้งแรก : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 7 มกราคม 2558