ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 เมษายน 2554 หน้า 3

"ใครจะรู้ว่าผู้ประกันตนที่ต้องจ่ายเงินสมทบในระบบประกันสังคมทุกเดือนอย่างเรา จะมีสิทธิประโยชน์รักษาน้อยกว่าบัตรทองที่ผู้ใช้สิทธิในระบบไม่ต้องจ่ายอะไรเลย"

น้ำเสียงที่ดังขึ้นพร้อมกับสายตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึกตัดพ้อถึงความไม่เป็นธรรมในระบบสุขภาพของ "บริพัตร ดอนมอญ" ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ หลังจากที่ได้ใช้ความพยายามนานหลายเดือนเพื่อดิ้นรนขอใช้สิทธิเบิกจ่ายยา อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) จากระบบกองทุนรักษาพยาบาล สำนักงานประกันสังคม (สปส.)

ย้อนหลังชีวิตหลังจากติดเชื้อเอชไอวีเมื่อปี 2527 หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า "เอดส์" บริพัตร เล่าว่า กว่าที่จะมีชีวิตเป็นอยู่ที่ดีอย่างที่เห็นในวันนี้ต้องผ่านเรื่องเลาวร้ายมามากมาย ใช้ความอดทนและกัดฟันสู้มาด้วยความยากลำบาก เป็นที่รู้กันดีว่า เมื่อ 27 ปีที่แล้ว คนติดเอดส์ถูกรังเกียจอย่างหนักในสังคมยุคนั้น หากใครติดแล้วต้องตายทุกราย เพราะสมัยนั้นไม่มียารักษา คนจึงกลัวกันมาก แถวความรู้วามเข้าใจไม่มีซึ่งหลายคนยังป่วยด้วยโรคฉวยโอกาสจาก ภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง เป็นโรคผิวหนัง มีแผลเป็นตุ่มเป็นหนองพุพองตามร่างกายและใบหน้าน่าเกลียด

"ผมเป็นคนโชคดี อาการป่วยไม่รุ่นแรงไม่มีแผลตุ่มหนองเต็มตัวเหมือนคนอื่นๆ แถมสุขภาพโดยรวมยังดีกว่าผู้ติดเชื้อรายอื่น ซ้ำยงมีแรงพอช่วยดูแลผู้ติดเชื้อคนอื่นๆ ในศูนย์ได้ด้วย บางคนก็นอนซมอยู่บนเตียงไม่มีแรง ลุกไม่ได้ และหลายคนก็ตายไปก็มี ส่วนเรื่องกินยาต้านไวรัสไม่ต้องพูดถึงเพราะขณะนั้นยามีราคาแพงมาก เฉลี่ยแล้ว 25,000 บาทต่อเดือน เลยต้องใช้วิธีรักษาด้วยการใช้ยากินตามอาการ อย่างปวดหัวก็กินยาแก้ปวดหัว คันที่แผลก็กินยาแก้คันเป็นหนุ่มหนองก็กินยาแก้อักเสบ"

ในช่วงหลังเริ่มได้รับยาต้านไวรัสบ้างจากมูลนิธิฯ บริพัตร จำได้ว่าเริ่มได้ยาในปี 2542 แต่เป็นยาบริจาคจากต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ใกล้หมดอายุแล้วในบางครั้งหมอบอกว่าไม่เป็นไร เพราะแม้แต่ยาหมดอายุก็จะมีฤทธิมีประสิทธิภาพที่ใช้ได้ต่อไปอีก 6 เดือนถึง 1 ปี ไม่เป็นปัญหา ทำให้ได้รับยาต่อเนื่องมา 2-3 ปี

แม้ว่าเขาจะเข้าระบบกองทุนรักษาพยาบาล สำนักงานประกันสังคม ในปี 2544 แต่ก็ไม่สามารถเบิกยาต้านจากระบบได้อยู่ดีเพราะสิทธิที่จำกัด และระหว่างนั้นผู้ติดเชื้อเริ่มรวมตัวกันได้และหาช่องทางการเข้าถึงยาด้วยกัน โดยเฉพาะการนำยาถูกจากประเทศอินเดียเข้ามายังไทยเพื่อกระจายให้กับ ผู้ติดเชื้อได้รับยาอย่างทั่วถึง

"ถึงผมจะทำงานมีรายได้ และมีสิทธิรับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม แต่เพราะยาเอดส์ช่วยนั้นแพงมากๆ เพราะค่ายาที่ต้องกินต่อเดือน 25,000-30,000 บาท สิทธิประโยชน์ของระบบประกันสังคมจึงยังไม่ครอบคลุมเพียงแต่เป็นการช่วยเหลือผู้ประกันตนแบบร่วมจ่ายส่วนหนึ่งเท่านั้น คือให้เบิกค่ายาต้านไวรัสเพียงเดือนละ 5,000 บาท"

ส่วนต่างที่เหลือผู้ประกันตนต้องหาเพิ่มเอาเอง แบบนี้ผู้ป่วยยังไงก็เข้าไม่ถึงยาอยู่ดี เพราะยังมีค่ายาที่ต้องจ่ายเองเดือนละ 20,000-25,000 บาท ขณะที่เงินเดือนเขาอยู่แค่ไม่กี่พันบาท เพราะขณะนั้นเบิกได้เฉพาะยาที่รักษาตามอาการเท่านั้น

แม้ในช่วงต่อมาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เกิดขึ้น แต่ในช่วงแรกสิทธิประโยชน์เรื่องยาต้านไวรัสก็ยังไม่มี ขณะนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เองก็ไม่กล้าให้ กลัวว่าเป็นภาระงบประมาณเพราะราคายายังแพงอยู่มาก ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังต้องดิ้นรนกันเอง

หลังจากที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถผลิตยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานจีพีโอเวีร์เองได้ ทำให้ราคายาถูกลงอย่างมาก ดังนั้นจึงได้มีการบรรจุยาต้านไวรัสให้เป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับ ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระบบประกันสังคมได้รับยาตามไปด้วย เพราะยาจีพีโอเวียร์เมื่อคิดค่าใช้จ่ายต่อเดือนไม่เกิน 5,000 บาท ตามเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสังคมระบุไว้ ซึ่งเป็นระเบียบที่ยังคงใช้มาถึงขณะนี้

"ประกันสังคมไม่ได้ปรับหลักเกณฑ์อะไร ไม่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ยาต้านไวรัสแต่เป็นเพราะราคายาต้านที่ลดลง ผู้ป่วยในระบบจึงได้รับยาฟรี และนี่เป็นสิ่งแรกที่ทำให้รู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างสิทธิประกันสังคมและบัตรทอง"

เขาบอกอีกว่า หลังจากรับยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน เป็นที่รู้กันว่า เมื่อผู้ติดเชื้อรับยาต้านไวรัสมาระยะเวลาหนึ่ง พอถึงช่วงหนึ่งจะเกิดภาวะการดื้อยาที่ต้องปรับสูตรการรับยาต้านไวรัสใหม่ ซึ่งจะมีราคาที่แพงกว่าเดิมแต่ถือว่าเป็นโชคดีของผู้ติดเชื้อก็ว่าได้ เพราะในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา จากการทำซีแอลยาเอฟฟ่าไวแรนซ์และยาโลพินาเวียร์กับริโทรนาเวียร์ ทำให้ผู้ติดเชื้อทั้ง 2 ระบบเข้าถึงยาในสูตรดื้อยาขึ้นพื้นได้

"ผมใช้ยาต้านไวรัสสูตรผสมโลพินาเวียร์กับริโทรนาเวียร์ ตอนนั้นคิดว่าจากนี้ไปเราคงเข้าถึงยาต้านไวรัสที่จำเป็นไปตลอดชีวิตได้แล้ว"

สิ่งที่เขาคิดไม่ใช่โชคดีของผู้ติดเชื้อทั้งหมดเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วประเทศที่มีจำนวนสูง ส่วนใหญ่ใช้ยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานจีพีโอเวียร์ ในจำนวนนี้มีคนที่ใช้ยาต้านไวรัสสูตรดื้อยาขึ้นพื้นฐานและยังมีผู้ติดเชื้อบางส่วนที่ดื้อต่อยาเอฟฟ่าไวแรนซ์และยาโลพินาเวียร์กับริโทรนาเวียร์ต้องได้รับยาบางรายการเฉพาะเป็นพิเศษเพื่อให้เหมาะสมกับการรักษา ซึ่งมี "ยาอะทาซานาเวียร์" เป็นหนึ่งในรายการยาดังกล่าว

"สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผู้รู้สึกแปลกใจว่าทำไม เราจ่ายเงินสมทบในกองทุนประกันสังคมแท้ๆ ที่รวมถึงกองทุนรักษาพยาบาลในระบบ กลับไม่ได้รับสิทธิให้ใช้ยาอะทาซาเวียร์ แต่ระบบบัตรทองที่เป็นระบบรักษาฟรีแท้ๆ ผู้ใช้สิทธิไม่ต้องจ่ายอะไรเลยกลับมียาและจ่ายยานี้ให้กับผู้ติดเชื้อในระบบได้ ทำให้รู้สึกว่าคนอยู่ในระบบบัตรทองมีสิทธิประโยชน์การรักษาที่ดีกว่าขณะที่คนในระบบประกันสังคมอย่างเราหากต้องการใช้ยานี้ต้องจ่ายเงินซื้อเอง ราคายาอยู่ที่ 6,000 บาทต่อเดือน" บริพัตร บอกด้วยน้ำเสียงที่เหนื่อยหน่ายกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ด้วยความรู้สึกไม่เท่าเทียมทำให้เครือข่ายผู้ติดเชื้อด้วยกัน เห็นตรงกันว่า การรับยาต้านไวรัสในระบบประกันสังคมที่ระบบร่วมจ่ายเพียง 5,000 บาทนั้น หากผู้ป่วยต้องรวมจ่ายค่ายาอะทาซานาเวียร์ด้วนั้น ผู้ติดเชื้อบางคนก็จ่ายได้ แต่บางคนก็จ่ายไม่ไหวบางคนจ่ายไม่ไหว เพราะลำพังแค่เงินเดือน 9,000-10,000 บาท ต้องกินต้องใช้จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่ายา 6,000 บาททุกเดือนน่าที่จะช่วยกันเรียกร้องสิทธินี้ เสนอไปยัง รมว.กระทรวงแรงงาน พร้อมกับทำหนังสือไปยังสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์สำนักงานประกันสังคม ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2553

บริพัตร ได้เปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคมและระบบบัตรทองเฉพาะในส่วนของการดูแลผู้ติดเชื้อด้วยว่าสิทธิประโยชน์ทั้ง 2 กองทุนนั้นไม่เท่ากัน โดยในระบบบัตรทองให้สิทธิประโยชน์ที่ดูแลผู้ติดเชื้อได้ดีกว่า เริ่มตั้งแต่การขอตรวจเลือด ในกรณีที่สงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อเอชไอวีก็สามารถเดินเข้าไปใช้สิทธิขอตรวจเลือด ในกรณีที่สงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อเองไอวีก็สามารถเดินเข้าไปใช้สิทธิขอตรวจได้

ภายใต้โครงการตรวจเลือดโดยสมัครใจ ขณะที่สิทธิบัตรทองสามารถขอตรวจได้เลยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากผู้จัดทำระบบบัตรทองมีความเข้าใจ เพราะหากผู้ติดเชื้อได้รับการตรวจพบยิ่งเร็วยิ่งดี ไม่เพียงแต่สามารถเข้ารับการรักษาได้เร็วแต่ยังเป็นการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อไม่ได้แพร่กระจาย เพราะเจ้าหน้าที่จะมีโอกาสทำความเข้าใจและแนะนำการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง

อีกทั้งระบบประกันสังคมยังจำกัดสิทธิการตรวจวัดปริมาณภูมิคุ้มกันในร่างกาย (ซีดี 4) ในครั้งแรก เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องรับยาต้านไวรัสแล้วหรือไม่ โดยมองว่าเรื่องนี้ยังไม่ใช่การรักษา ซึ่งมุมมองแบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นที่ที่ผู้ติดเชื้อควรได้รับการรักษาทั้งสิ้น

บริพัตร บอกว่าหากที่สุดแล้วยังไม่ได้รับคำตอบว่าจะได้รับยาอะทาซานาเวียร์หรือไม่ ก็คงต้องออกจากระบบประกันสังคมเพื่อเข้ารับสิทธิรับยาในระบบบัตรทองแทน เพราะนอกจากเป็นระบบที่มีสิทธิดูแลผู้ติดเชื้อดีกว่าแถมยังไม่ต้องจ่ายเงินสมทุบทุกเดือนเหมือนที่ผ่านมา