ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

...เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 14 เมษายน 2554 หน้า A6

เทศกาลสงกรานต์ช่วง 11-17 เม.ย.ของทุกปี เป็นวันพบปะกันของคนในครอบครัวอย่างอบอุ่น ผู้คนจำนวนมากกำลังมีความสุขเถิดเทิงเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน

แต่สำหรับ "เดือนเต็ม พรวิเชียร"(นามสมมติ)หญิงวัยกลางคน เมืองกาญจนบุรี กลับเต็มไปด้วยความโศกเศร้า ด้วยวันทื่ 16 เม.ย. เป็นวันครบรอบการจากไปของ "จรูญ"สามีคู่ทุกข์คู่ยากด้วยโรคมะเร็ง

การจากไปอย่างสุดวิสัย พอทำใจได้ แต่สามีของเดือนเต็มไม่ใช่ เนื่องจากโรงพยาบาลประกันสังคมไม่รับผิดชอบต่ออาการป่วยตลอดระยะเวลาการรักษา หนำซ้ำหลังจรูญเสียชีวิตถูกโรงพยาบาลส่งหนังสือมาทวงค่ารักษาอีก 1,157,685.50 บาท "ทำไมรัฐปล่อยให้โรงพยาบาลทำกับผู้ประกันตนแบบนี้"เสียงรำพึงปนโกรธแค้นเปล่งจากปากของเดือนเต็ม

เธอย้อนเรื่องราวว่าสามีเธอทำงานระดับผู้บริหารของบริษัทอุตสาหกรรมกระดาษแห่งหนึ่ง และได้ส่งเงินสมทบกระทั่งเกษียณเมื่อปี 2545 ต่อมาได้แสดงความจำนงเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา39 และสำนักงานประกันสังคม (สปส.)ก็ตอบรับให้เป็นผู้ประกันตนตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2550 เรียกเก็บเงินสมทบ 432 บาท/เดือน  และส่งเงินสมทบเรื่อยมา

ย่างเข้าปี 2551 สามีเธอปวดท้องและปวดหลังอย่างรุนแรง จึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลประกันสังคมในจ.กาญจนบุรี ตามสิทธิ ชั้นแรกทางโรงพยาบาลหาสาเหตุไม่พบ บอกเพียงให้กลับบ้านไม่จำเป็นต้องนอนดูอาการแต่พอเอ่ยปากจะควักเงินจ่ายเองกลับยอมรับเข้ารักษาห้องผู้ป่วยและให้พักอยู่ไม่กี่วันก่อนจะให้กลับบ้าน

เดือน ส.ค. ปีเดียวกันสามีเดือนเต็มก็มีอาการปวดท้องรุนแรงขึ้นอีก เธอกลัวว่าหมอจะหาสาเหตุอาการไม่พบอีก จึงตัดสินใจพาสามีไปตรวจที่โรงพยาบาลธนบุรี 2 เพื่อทำซีทีสแกน

"ปรากฏว่ามีสิ่งปกติที่เส้นเลือดใหญ่และพบก้อนเนื้อ แพทย์จึงตัดสินใจส่งไปรักษาที่ศิริราช ซึ่งมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง แพทย์พบว่าสาเหตุการปวดท้องเกิดจากมีก้อนมะเร็งในช่องท้องและหลอดเลือดแดงใหญ่ข้างกระดูกสันหลังโป่งพองขนาด 3-4 ซม. ทำให้เวลากินข้าวอิ่มหรือท้องผูกจะปวดท้องร้าวไปจนถึงด้านหลัง"

หลังทราบสาเหตุที่แท้จริงเดือนเต็มนำผลการตรวจมาแจ้งต่อทางโรงพยาบาลต้นสังกัดเพื่อขอใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษาต่อเพราะค่าใช้จ่ายสูงและต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง

ช่วงเวลานั้นภรรยาคู่ชีวิตของจรูญจำใจต้องเลือกใช้สิทธิประกันสังคมเพราะหากจะไปใช้สิทธิบัตรทอง ต้องรอให้พ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนในอีกถึง 6 เดือน

อย่างไรก็ดี ก่อนการผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดที่โป่งพองที่โรงพยาบาลศิริราช ต้องไปทำเคมีบำบัดที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติให้ก้อนเนื้อยุบก่อนแล้วจึงรักษาเส้นเลือดโป่งพองได้ กระบวนการเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูงจำเป็นมีใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัด ช่วงเวลานี้เองที่เดือนเต็มต้องเผชิญความยุ่งยาก เพราะโรงพยาบาลอ้างว่าจะออกใบส่งตัวให้เป็นครั้งต่อการรักษาแต่ละขั้นตอน ไม่สามารถออกใบส่งตัวให้ครั้งเดียวแล้วนำไปใช้ส่งตัวรักษาจนหาย

ทุกครั้งที่ทางศิริราชแจ้งขั้นการรักษาเดือนเต็มก็ต้องขอใบส่งตัวจากโรงพยาบาลจากเมืองกาญจนบุรีทุกครั้งกระทั่งวันที่ 9 มิ.ย. 2552 สามีเธอเกิดอาการข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัดอย่างรุนแรง ต้องเข้าห้องไอซียูและต้องไปขอใบส่งตัวอีก แต่โรงพยาบาลแจ้งว่าให้ญาติผู้ป่วยเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเอาใบส่งตัวที่โรงพยาบาลเอง

หลังจากไม่ได้รับความเป็นธรรมสามีเธอเข้าร้องเรียนต่อผู้บริหารของโรงพยาบาลต้นสังกัด แต่คำตอบของผู้บริหารคือให้ย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่กรุงเทพฯ เพื่อใช้สิทธิบัตรทอง ผู้ป่วยมะเร็งจึงรู้สึกเสียใจอย่างมากจากคำตอบนั้นและต่อมาในการรับการผ่าตัดรักษาเส้นเลือดโป่งที่ศิริราช ตั้งวันที่ 26 มิ.ย. 2552 เป็นต้นมาก็ยังคงขอใบส่งตัวตลอดมา

เดือนเต็ม บอกว่า หลังผ่าตัดเสร็จและต้องพักประมาณ 1-2 สัปดาห์ ทางโรงพยาบาลต้นสังกัดได้ปฏิเสธการออกใบส่งตัวให้อีก อ้างว่าเป็นการรักษาเกินความจำเป็น ต่อไปผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดกว่า 8 หมื่นบาท จนกระทั่งออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 13 ส.ค. 2552

"เมื่อออกจากศิริราชก็ติดต่อไปยังสปส.เพื่อสอบถามว่าทำไมโรงพยาบาลต้นสังกัดไม่ยอมออกใบส่งตัวให้ สปส.แจ้งว่าจะพิจารณาว่าสมควรได้คืนหรือไม่"เดือนเต็ม ระบุ

หลังการผ่าตัดสามีเธอต้องเข้าฉายแสงที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติอีก ไม่มีทางอื่นเธอต้องดั้นด้นขอใบส่งตัวอีก แต่คราวนี้โรงพยาบาลกลับให้ใบส่งตัวไปที่โรงพยาบาลราชวิถีแทน ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลราชวิถีไม่มีเครื่องมือ แถมยังระบุในใบส่งตัวด้วยว่าสถาบันมะเร็งแห่งชาติไม่ใช่โรงพยาบาลในสังกัด ดังนั้นผู้ป่วยต้องจ่ายค่ารักษาเอง

หลังจากต้องต่อสู้กับมะเร็งร้ายมากว่า 2 ปี ในที่สุดสามีของเดือนเต็มก็ต้องเสียชีวิตลงในวันที่ 16 เม.ย. 2553

ต่อมาเดือนเต็มแจ้งขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยและกรณีเสียชีวิตจาก สปส.จังหวัด แต่ได้คำตอบว่าไม่มีสิทธิรับสิทธิทดแทน เนื่องจากสามีไม่เข้าข่ายเป็นผู้ประกันตน ทั้งๆ สปส.เป็นผู้ออกหนังสือรับรองการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ตั้งแต่ปี 2550

ปัญหาตามกระหน่ำชีวิตเดือนเต็มไม่สิ้น เพราะถึงวันที่ 24 ก.ย 2553 โรงพยาบาลต้นสังกัดได้ส่งหนังสือทวงค่ารักษาพยาบาลในการรักษาโรคมะเร็งกับทางโรงพยาบาลเป็นเงิน 1,157,685.50 บาท ทั้งๆ ที่รักษาแค่อาการปวดท้องที่เหลือก็มีใบส่งตัวตลอด

คำขู่ท้ายจดหมายทำให้เดือนเต็มขอสู้คดี ซึ่งถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า

"ตอนนั้นถ้าเปลี่ยนไปใช้บัตรทองคงดีกว่านี้เยอะ" เดือนเต็ม ตัดพ้อพร้อมกับตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า...ทำไมรัฐปล่อยให้โรงพยาบาลทำกับผู้ประกันตนแบบนี้