ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 23 เมษายน 2554 หน้าA6

ท่ามกลางเมืองใหญ่อันแสนอึกทึก ณ ห้องเช่าเล็กๆ ในซอยราชปรารภ12 เป็นที่อยู่อาศัยของแม่ลูกคู่หนึ่งที่กำลังเผชิญชะตากรรมมรสุมชีวิตอันน่าเศร้า ไม่มีเหลือเค้าความหวังอันสดใสใดๆ ให้วาดฝันต่ออนาคตเบื้องหน้า

ผู้เป็นแม่กำลังเย็บกระเป๋าผ้า ขณะที่ลูกชายวัยประมาณ 3 ขวบ ส่งเสียงร้องขึ้นจนเธอต้องหันไปปลอบโยน คล้ายกับบอกว่า "แม่อยู่ตรงนี้ ไม่ได้หนีไปไหนนะจ๊ะลูก"เด็กชายจึงค่อยสงบลง เธอถึงค่อยหันกลับไปเย็บผ้าต่ออย่างอดทนไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

เธอหมดโอกาสออกไปเดินเที่ยว ออกไปทำงานที่มีรายได้ดีกว่านี้เนื่องจากต้องดูแลลูกชายอยู่ตลอดเวลา เด็กคนนี้เกิดมาในสภาพพิการ เป็นใบ้ ตาบอดสมองฝ่อ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้แม้แต่เช็ดน้ำมูกเวลาเป็นหวัด สาเหตุเนื่องจากการให้ยาที่ผิดพลาดของแพทย์ระหว่างที่แม่ตั้งครรภ์

"สุภิญญา"(นามสมมติ) แม่ของเด็กน้อยผู้น่าสงสารผู้นี้ เล่าว่า เธอตั้งครรภ์ในปี 2551 พอได้เดือนครึ่งจึงไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ลงทะเบียนตามสิทธิประกันสังคมไว้ แพทย์พบว่าเธอมีอาการเส้นเลือดดำที่ขาอุดตัน ซึ่งปกติแล้วต้องให้ยารับประทานเพื่อสลายลิ่มเลือด

ด้วยความกังวล เธอจึงสอบถามว่า หากเป็นเช่นนี้จะสามารถตั้งท้องได้หรือไม่ แพทย์บอกว่าได้ แต่ต้องเปลี่ยนวิธีการรักษาจากยารับประทานมาเป็นยาฉีดแทน พร้อมกับบอกว่าวิธีนี้เป็นการรักษามาตรฐานสำหรับหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นสาวโรงงานรายได้น้อย การฝากครรภ์กับโรงพยาบาลเอกชนจึงมีค่าใช้จ่ายสูง แค่ค่าฝากครรภ์ครั้งแรกก็ต้องใช้เงินกว่า 5,000 บาท บวกกับค่าใช้จ่ายต่างๆซึ่งกว่าจะคลอดเสร็จต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นบาท

แม้จะได้เงินค่าคลอดบุตรจากประกันสังคมก็ได้เพียง 1.2 หมื่นบาท ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เธอจึงตัดสินใจว่าจะไปฝากครรภ์กับโรงพยาบาลของรัฐที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าแทน และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นชะตากรรมอันเลวร้าย

"ตอนนั้นอายุครรภ์ได้ 5 เดือนแล้วโรงพยาบาลประกันสังคมทำหนังสือส่งตัวไปโรงพยาบาลของรัฐ โดยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาลิ่มเลือดอุดตันให้ ตอนแรกหนูจะขอย้ายไปโรงพยาบาลรามาธิบดี แต่ปรากฏว่าเตียงเต็ม เลยต้องไปอยู่กับโรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแทน" สุภิญญา กล่าว

สุภิญญา เล่าว่า เธอไม่อยากมารักษากับโรงพยาบาลแห่งนี้แม้แต่น้อย เพราะในปี 2548 เธอเคยลงทะเบียนเลือกที่นี่เป็นโรงพยาบาลหลักเคยตั้งท้องและมาคลอดที่นี่ครั้งหนึ่งแล้ว

ปรากฏว่าการทำคลอดในครั้งนั้นเกิดเรื่องเศร้า เพราะคลอดออกมาแล้วลูกตาย!!

"จำได้ว่าเจ็บท้องตอน 3 ทุ่ม เข้าห้องคลอดตอนตี 2 ไม่มีหมออยู่ทำคลอด มีเพียงพยาบาล1 คน และนักศึกษาแพทย์ฝึกหัดอีก 4-5 คน ตอนนั้นเด็กในท้องไม่กลับหัว เบ่งยังไงก็เบ่งไม่ออกจนน้ำคร่ำแตก สุดท้ายต้องผ่าตัดฉุกเฉินเอาเด็กออกทางหน้าท้องตอนตี 5 แต่เมื่อออกมาลูกก็ตายเสียแล้ว"สุภิญญา กล่าว

แม้จะสูญเสียลูกไป เธอก็ยังทำใจยอมรับว่าการทำคลอดสามารถเกิดเรื่องผิดพลาดได้กระนั้นก็มีอคติกับโรงพยาบาลดังกล่าวจนต้องย้ายไปใช้สิทธิกับโรงพยาบาลประกันสังคมแห่งใหม่แทน และตั้งใจว่าจะไม่กลับมารักษาที่นี่อีก

เหมือนโชคชะตาเล่นตลกร้ายกับเธอ เมื่อโรงพยาบาลรามาธิบดีไม่สามารถรับตัวได้ เธอจึงต้องมารักษากับโรงพยาบาลเดิมที่เคยทำคลอดจนลูกตายอีกครั้ง

เธอเล่าว่า เมื่อมารักษาที่โรงพยาบาลแห่งนี้แพทย์กลับเปลี่ยนวิธีการรักษาอาการเส้นเลือดดำที่ขาอุดตันของเธอ โดยสั่งจ่ายยารับประทานชนิดหนึ่งชื่อ "วาร์ฟาริน"แทนยาฉีดที่แพทย์จากโรงพยาบาลต้นทางบอกว่าเป็นมาตรฐานการรักษาหญิงท้อง

เมื่อเธอหารือเรื่องนี้กับแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาแพทย์บอกว่าอายุครรภ์ 5 เดือนแล้วสามารถกินได้ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกสบายใจ เพราะเมื่อไปรับยา หน้าซองยาเขียนกำกับไว้ว่า "ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์"จนต้องถามเภสัชกรห้องยาอีกครั้งว่า รับประทานยานี้ได้หรือไม่

เภสัชกรโทร.ไปถามย้ำกับแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาอีกรอบ คำตอบที่ได้กลับเหมือนเดิมคือรับประทานได้ เธอจึงยอมรับประทานยาวาร์ฟารินนี้เข้าไป

"พอรับประทานยานี้ไปได้ 2 เดือนแล้วไปอัลตราซาวด์ ปรากฏว่าเกิดภาวะน้ำท่วมสมองเด็ก" สุภิญญา กล่าว

สุดท้ายเธอจึงมาเข้าใจในภายหลังว่า ทำไมแพทย์จึงไม่ใช้การรักษาลิ่มเลือดอุดตันด้วยการฉีดยา เพราะเมื่ออายุครรภ์ได้ 8 เดือน การรักษาต้องเปลี่ยนมาเป็นการฉีดยา และแพทย์มาเรียกเก็บเงินจากเธอ 1,000 บาท บอกว่าจ่ายเงินแล้วจะฉีดยาให้เลย

"เราก็งง เพราะโรงพยาบาลต้นสังกัดก็ออกใบส่งตัวและบอกว่าจะรับผิดชอบค่ารักษาให้ทำไมเขาถึงไม่ฉีดยาให้เรา หมอก็บอกว่ายามันแพง โรงพยาบาลจะไม่จ่ายยาให้ ให้เรากลับไปรับยานี้จากโรงพยาบาลต้นสังกัดเอง หนูก็กลับไปรับยามา 5 กล่องมาให้เขาฉีดให้ เขาก็ไม่ยอมฉีดอีก ไล่ให้ไปฉีดตามคลินิกเอาเอง"สุภิญญากล่าว

เธอมั่นใจว่าเพราะเธอใช้สิทธิเป็นผู้ประกันตน โรงพยาบาลถึงไม่ยอมจ่ายยาชนิดฉีดให้เนื่องจากยานี้มีราคาแพง กล่องละ 950 บาทและต้องฉีดทุกวัน ทำให้แพทย์สั่งจ่ายยาแบบรับประทาน ซึ่งเป็นอันตรายต่อลูกในท้องให้แทน

เมื่อฉีดยาได้ครบ 12 วัน ก็ถึงกำหนดคลอดด้วยวิธีการผ่าตัดเอาเด็กออกทางหน้าท้อง เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสมองเด็กมีอาการบวมจนไม่สามารถคลอดแบบปกติได้นั่นเอง

เมื่อทำคลอดแล้ว ปรากฏว่าเด็กหายใจเองไม่ได้ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ต้องอยู่ห้องไอซียูเด็กแรกเกิด มีอาการชักเกร็งและกะโหลกศีรษะปิดไม่สนิท มีการทำเอกซเรย์และทำเอ็มอาร์ไอสมอง (ตรวจด้วยเครื่องแม่เหล็ก) พบว่าเด็กสมองบางส่วนเสียหาย

ทุกวันนี้เด็กชายคนนี้มีอาการสมองฝ่อพิการถาวร ไม่สามารถรับรู้ได้เหมือนคนปกติตาบอดมองไม่เห็นสองข้าง หูหนวก 1 ข้าง ไม่สามารถรักษาให้ดีเป็นปกติได้...

ครั้งนี้โรงพยาบาลที่ให้การรักษาพยายามรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินชดเชยให้เดือนละ5,000 บาท แต่เธอตัดสินใจไม่รับ

"คำพูดที่เขาพูดกับเรามันทำให้รู้สึกแย่มากเขาพูดประมาณว่าเงินนี้ไม่ได้เป็นค่าชดเชยนะช่วยๆ กันเลี้ยงไปในฐานะเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทั้งๆ ที่เขารักษาผิดพลาดจนลูกเราเป็นแบบนี้แท้ๆ หนูเลยไม่เอาเงินเขาเลย" สุภิญญา กล่าวทุกวันนี้ลูกของเธอมีร่างกายเติบโตตามวัยแต่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เดินไม่ได้ บทจะร้องก็ร้องเสียงดังลั่น จนสามีเธอทนกับเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ไหวหนีไปมีเมียใหม่เมื่อ 5-6 เดือนที่ผ่านมา ทิ้งให้เธอต้องดูแลลูกเพียงลำพัง

"ทุกวันนี้ก็ยังเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 อยู่ ส่งเงินสมทบเดือนละ 400 กว่าบาท อาศัยรับงานเย็บผ้ามาทำที่บ้านเพราะอยู่ห่างลูกไม่ได้เลย ต้องดูแลตลอด เวลาเขาเป็นหวัดก็เช็ดน้ำมูกเองไม่ได้ หายใจไม่ออก เราก็ต้องเช็ดให้ เวลาจะไปรับงานหรือส่งงานก็ต้องฝากเจ้าของห้องเช่าไว้แล้วรีบกลับมาดู จะไปซื้อกับข้าวก็ต้องปล่อยลูกทิ้งไว้คนเดียวแล้วรีบกลับบ้าน ไม่มีโอกาสไปหางานข้างนอกทำที่ไหนได้" สุภิญญากล่าว

อย่าถามเธอถึงแผนการในอนาคตว่าจะทำอย่างไรกับชีวิต เธอบอกว่า มองไม่เห็นทางออกอะไรเลย ตอนนี้คิดแค่เพียงเย็บผ้าไปเรื่อยๆ และเลี้ยงลูกต่อไปอย่างนี้ เมื่อก่อนไม่มีเงินก็ต้องไปกู้นอกระบบ แต่ตอนนี้ไม่มีเงินก็ไม่กิน ไม่ดิ้นรนอะไรแล้ว

เธอทิ้งท้ายฝากไปถึงสำนักงานประกันสังคมว่า ในฐานะผู้ประกันตนที่จ่ายสมทบกองทุนคนหนึ่ง ทุกครั้งที่ได้ยินว่าประกันสังคมเอาเงินไปทำอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เกิดประโยชน์ ถามว่าทำไมไม่เอาเงินมาดูแลผู้ประกันตนให้ดีกว่านี้แทน... เธอมั่นใจว่าเพราะเธอใช้สิทธิเป็นผู้ประกันตน โรงพยาบาลถึงไม่ยอมจ่ายยาชนิดฉีดให้ เนื่องจากยานี้มีราคาแพง กล่องละ 950 บาท และต้องฉีดทุกวัน ทำให้แพทย์สั่งจ่ายยาแบบรับประทาน ซึ่งเป็นอันตรายต่อลูกในท้องให้แทน