ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาองค์กรชุมชนมีมติเอกฉันท์ทำหนังสือถึงรัฐบาล ต้องไม่รับทริปส์พลัสทั้งเรื่องยาและทรัพยากรชีวภาพ ในเอฟทีเอกับยุโรป

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ประชุมใหญ่ระดับชาติ ของสภาองค์กรชุมชนระดับตำบล มีมติเป็นเอกฉันท์ทำหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขอให้การเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป

1.ต้องไม่ยอมรับเนื้อหาการเจรจาที่เกินไปกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ WTO (ไม่ยอมรับทริปส์พลัส) โดยเฉพาะในประเด็น การขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร, การผูกขาดข้อมูลทางยา, มาตรการ ณ จุดผ่านแดน และไม่ยอมรับการแก้ไขกฎหมายระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ประเทศไทยใช้บังคับอยู่ ซึ่งเป็นไปตามความตกลงทริปส์และสอดคล้องกับอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ

2.การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนในบทว่าด้วยการลงทุน ต้องไม่มีผลให้มีการนำข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ, การออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ, การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม, ด้านสาธารณสุข, สาธารณูปโภคพื้นฐาน และความมั่นคง เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ

3.ไม่เปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การทำนา ทำสวน ทำไร่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปลูกป่า การเพาะและขยายพันธุ์พืช ตลอดจนการลงทุนที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร

4.ถอนสินค้าเหล้า บุหรี่ ออกจากการเจรจาสินค้า

5.ให้มีการจัดหารือผู้มีส่วนได้เสียครบทุกภาคส่วนทั้งก่อนและหลังการเจรจาในแต่ละรอบ โดยให้มีการชี้แจงท่าทีของคณะเจรจา รายงานความคืบหน้า พร้อมรับฟังและดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล

ทั้งนี้ เป็นไปตาม พรบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 32 ที่ระบุให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนดำเนินการเรื่องต่างๆ โดยใน (2) ระบุว่า ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งการจัดทำนโยบายสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัด ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

นายจินดา บุญจันทร์ ประธานสภาองค์กรชุมชน ได้กล่าวในที่ประชุมว่า จะเร่งทำหนังสือข้อคิดเห็นของสภาองค์กรชุมชนถึงรัฐบาล และจะกระจายข้อมูลและ สร้างความรู้ความเข้าใจในผลกระทบจากการเจรจาเอฟทีเอให้องค์กรชุมชนระดับตำบลอย่างเร่งด่วน