ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์เตือนเด็กไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะเยอะเกิน ชี้นำไปสู่การดื้อยาส่งผลกระทบกับเด็กในระยะยาวระบุสามารถหายเองได้ใช้ 3 มาตรการลดการดื้อยาในเด็ก

วันนี้ (18 พ.ย.) ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวเรื่อง “การรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในเด็ก : Antibiotics Smart Use in Children (ASU KIDs)” เนื่องในวัน Antibiotic Awareness Day ซึ่งตรงกับวันที่ 18 พฤศจิกายนของทุกปี ว่า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลเด็ก สังกัดกรมการแพทย์ ได้ทำการศึกษาวิจัยโดยติดตามประเมินผลการรักษาผู้ป่วยเด็กที่ผู้ปกครองพามารักษาด้วยอาการไข้หวัด-เจ็บคอและท้องเสีย จำนวน 400 ราย ระหว่างเดือนสิงหาคม - 15 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งสถาบันฯได้ทำการรักษาตามอาการโดยไม่จ่ายยาปฏิชีวนะให้กับผู้ป่วย ซึ่งเห็นผลว่า ผู้ป่วยเด็กมีอาการดีขึ้น ภายใน 3 วัน 91.5% โดยมีอัตราการหายใกล้เคียงกันในกลุ่มที่ได้รับยาและไม่ได่รับยาปฏิชีวนะ คือเกินกว่า 90% ส่วนผู้ป่วยท้องเสียอาการดีขึ้นใน 3 วัน 86.9% โดยผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะมีอัตราการหายอยู่ที่ 87% สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับยาซึ่งอยู่ที่ 81%

ทั้งนี้ ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการไข้หวัด-เจ็บคอ ซึ่งมักพบบ่อยในเด็ก 2-5 ปี เป็นโรคที่สามารถหายเองได้โดยภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย พ่อแม่ผู้ปกครองไมควรให้เด็กรับประทานยามากเกินไป โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถรักษาอาการไข้หวัด-เจ็บคอ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้ อีกทั้งยังเป็นอันตรายอาจทำให้เด็กแพ้ยาเพิ่มความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ในเด็ก ที่สำคัญคืออาจเหนี่ยวนำให้เด็กเกิดเชื้อดื้อยาซึ่งว่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ด้าน รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ กุมารแพทย์ประจำสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า หากแม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะในระหว่างการตั้งครรภ์ 9 เดือนจำนวนมาก จะส่งผลให้ทารกได้รับยาตัวนั้นด้วย และในกรณีที่แม่คลอดบุตรแล้วแพทย์สั่งจ่ายยาปฏิชีวนะให้มารดาอาจทำให้ทารกได้รับยาดังกล่าวผ่านทางนมแม่ด้วย จึงไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่าในปี 2552 มูลค่าการผลิตและนำเข้าของกลุ่มยาฆ่าเชื้อและยาปฏิชีวนะ มีค่าประมาณ22,900 ล้านบาท โดยยาปฏิชีวนะคิดเป็น 10,940 ล้านบาท ส่วนสาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล เช่น การซื้อยาใช้เอง การร้องขอยาจากแพทย์ การใช้ยาผิดข้อบ่งชี้ทำให้เกิดวิกฤตปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งทวีความรุนรงมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมปัญหาการดื้อยา จึงควรปฏิบัติใน 3 มาตรการ คือ ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีจำเป็นเท่านั้น 2.ควรกินยาปฏิชีวนะให้ครบขนาดตามที่แพทย์สั่งและ 3.ใช้อย่างสมเหตุสมผลไม่ใช้ยาปฏิชีวนะแรงเกินไป

ที่มา : www.manager.co.th