ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ฐานเศรษฐกิจ-การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์เอเชีย (Asia Medical Hub)ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะปัจจุบันไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ถึงนวัตกรรมด้านการแพทย์ในการดูแลรักษาโรคต่างๆ ในแต่ละปีจึงมีเม็ดเงินหมุนเวียนจากด้านสุขภาพและการแพทย์นับหมื่นล้านบาท การนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ด้วยศาสตร์ใหม่ โดยเฉพาะ "สเต็มเซลล์" หรือเซลล์ต้นกำเนิด ที่กำลังเป็นที่นิยมในประเทศแถบยุโรป จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ "น.พ.สมนึก ศิริพานทอง" กรรมการวิทยาศาสตร์ สถาบันเวชศาสตร์ชะลอวัย ประจำประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านสเต็มเซลล์ ถึงการต่อยอดสเต็มเซลล์ในการรักษาผู้ป่วย และโอกาสในการสร้างรายได้เข้าประเทศ

ทำไมต้องเป็น "สเต็มเซลล์"

สเต็มเซลล์ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษา และกลายเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า จนถูกเลือกและพัฒนาต่อยอดการรักษาโรคต่างๆ ที่หลากหลายยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีผลงานวิจัยและหนังสือรับรองจากสถาบัน มหาวิทยาลัย ตลอดจนโรงพยาบาลชั้นนำของโลกที่มีการนำ "สเต็มเซลล์" ไปใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ทำให้เชื่อว่าถึงเวลาที่วงการแพทย์ไทยควรที่จะหันมาพัฒนาการแพทย์ด้านสเต็มเซลล์ให้มีทิศทางที่ถูกต้อง

โดยที่ผ่านมาในประเทศไทยมีการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคทางโลหิตวิทยา 5 โรค ได้แก่ โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว, โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, โรคไขกระดูกฝ่อ, โรคมะเร็งมัยดิเพิลมัยอิโลมา และโรคโลหิตจางพันธุกรรมธาลัสซีเมีย

ขณะที่ปัจจุบันพบว่าสเต็มเซลล์สามารถรักษาโรคต่างๆ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรคตับแข็ง, โรคข้อเข่าเสื่อม, โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเบาหวานเรื้อรัง  รวมถึงการชะลอวัย โดยได้รับการวิจัย จาก Heinrich - Heine - University of Duesseldorf 2005 ประเทศเยอรมนี, Mayo Clinic ประเทศสหรัฐอเมริกา, Texas Heart Institute at St.Luke's Episcopal Hospital  ประเทศสหรัฐอเมริกา  เป็นต้น

โอกาสและการต่อยอดด้านการรักษา

ในไทย การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ในโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคโลหิตวิทยายังไม่ได้รับการยอมรับ อีกทั้งการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ถูกมองว่าไม่ปลอดภัย และเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็ง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า การรักษาด้วยสเต็มเซลล์แล้วไม่ได้ผล อีกทั้งก่อให้เกิดโรคมะเร็งนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ใช้สเต็มเซลล์รักษาแบบไม่ถูกวิธี แพทย์ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่วงการแพทย์รวมทั้งแพทยสภาและรัฐบาลต้องหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาการแพทย์ด้านสเต็มเซลล์ให้มีทิศทางที่ถูกต้อง

เพราะการนำสเต็มเซลล์มาใช้ในการรักษา จะสร้างโอกาสและทำให้ไทยเป็นฮับด้านการแพทย์ได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากในหลายประเทศมีการนำสเต็มเซลล์มาใช้และประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น แคนาดา รวมถึงล่าสุดคือมาเลเซีย ที่เปิดให้บริการโรงพยาบาลสเต็มเซลล์ เพื่อรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยเฉพาะ และพบว่ามีผู้เดินทางมารักษาจำนวนมากทั้งผู้ป่วยในเอเชีย และจากประเทศไทยเอง

"หากประเทศไทยเปิดโอกาสให้มีการนำเอาสเต็มเซลล์มาใช้ในการรักษาแบบถูกต้อง เชื่อว่านอกจากจะเป็นการยกระดับด้านการแพทย์ไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ยังเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล  เพราะปัจจุบันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ที่มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารับการรักษาจำนวนมาก และที่สำคัญคนไทยได้มีโอกาสในการเข้าถึงและมีทางเลือกในการรักษาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีได้" น.พ.สมนึกกล่าวและว่า

การพัฒนาการแพทย์ด้านสเต็มเซลล์ในไทย ยังขาดการศึกษาข้อมูล และการวิจัยต่อเนื่อง ดังนั้นจึงควรกำหนดทิศทางที่ถูกต้อง อาทิ มีคู่มือแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง มีเอกสารทางวิชาการที่ถูกต้อง และมีข้อบังคับหรือกฎหมายที่ถูกต้อง.

"หากเปิดโอกาสให้นำเอาสเต็มเซลล์ใช้แบบถูกต้อง จะยกระดับการแพทย์ไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ"

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 5 - 7 ธ.ค. 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง