ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus-เมื่อหลายปีก่อน ยาต้านไวรัสโรคเอดส์หรือที่เรียกว่า ARV มีราคาแพง ผู้ป่วยมากรายต้องทนทุกข์กับการเข้าไม่ถึงการรักษา แต่เมื่อองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาต้านได้ด้วยตนเอง ผู้ป่วยส่วนมากสามารถเข้าถึงยาผ่านระบบหลักประกันสุขภาพ ลดอัตราการเสียชีวิต ความหวังเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคเอดส์

เมื่อการเข้าถึงยา ARV คลี่คลายและทรงตัวในปัจจุบัน สิ่งที่น่าจับตามองในขณะนี้คือสถานการณ์ยาต้านมะเร็ง ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะจบแบบสวยงามอย่างยา ARV หรือจะจบแบบสิ้นหวังอย่างที่เรานึกไม่ถึง ยาต้านมะเร็งมีราคาแพงเสมอมาในประเทศไทย และจะแพงขึ้นอีกในอนาคตหากรัฐบาลไม่มีมาตรการควบคุมราคายา ขาดความสนใจในเรื่องการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนในความมั่นคงทางยา ปัจจุบัน อภ.ยังไม่สามารถผลิตยาต้านมะเร็งได้

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า มีแนวโน้มว่ายาต้านมะเร็งจะแพงขึ้น ที่ผ่านมา มีปรากฎการณ์ที่ยาต้านมะเร็งที่ใช้อยู่เดิมถูกบอกว่าไม่ดี นำไปสู่การกดดันให้โรงพยาบาล องค์กร หรือผู้ป่วยต้องหันมาใช้ยาใหม่ที่แพงขึ้นและมีความเฉพาะมากขึ้น เช่น ตัวยาประเภทชีววัตถุ ซึ่งมีคุณสมบัติตรวจวัดยาก ต้องใช้เทคนิคชั้นสูง ก่อให้เกิดการผูกขาดทั้งเทคโนโลยีและตัวยา ทำให้ผู้ประกอบการสามารถตั้งราคาที่แพงมากได้ ในกรณีประเทศไทย ยังไม่มีเทคโนโลยีผลิตยาต้านมะเร็งชีววัตถุได้ จึงต้องนำเข้ายาเท่านั้น ในขณะที่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

สวนทางกับงานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้นที่ระบุว่า ราคายาที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ได้แปรผันตามประสิทธิภาพในการรักษา

“การควบคุมมาตรฐานราคายาต้านมะเร็งในประเทศไทยทำได้อย่างปวกเปียก” ผศ.ภญ.นิยดากล่าว

ในความเป็นจริง กระทรวงพาณิชย์มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบราคายา แต่ยังทำไม่ได้ทั่วถึง ปรากฏการผูกขาดราคายา เช่น มีการเสนอราคายาให้แก่สปสช.และกรมบัญชีกลางในราคาที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างหน่วยงานกับบริษัท  ในส่วนของร.พ.เอกชนก็สามารถกำหนดรายาเองได้ จนทำให้ยามีราคาสูงกว่าราคาตลาด

“จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยขาดระบบการจัดการและติดตามการใช้ยาต้านมะเร็ง” ผศ.ภญ.นิยดากล่าว

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงาน FTA Watch ได้แสดงความเป็นห่วงต่อราคายามะเร็งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหากรัฐบาลไทยยืนยันที่จะรับข้อเสนอทริปพลัสในการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูว่า คนไทยจะต้องใช้ยาราคามะเร็งในราคาที่แพงมากยิ่งขึ้น เพราะเกิดการผูกขาดด้านสิทธิบัตร มีการยืดเวลาสิทธิบัตร และห้ามบริษัทยาเจ้าอื่นขึ้นทะเบียนยาซ้ำในระยะ 5-8 ปี วีกีลิกส์ (www.wikileaks.org) ได้เผยแพร่ข้อมูลการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูที่เชียงใหม่ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่ามีการเจรจาเรื่องความคุ้มครองด้านการลงทุน ซึ่งหากรัฐบาลไทยตกลง จะนำไปสู่การเปิดช่องให้บริษัทเอกชนฟ้องรัฐบาลไทยผ่านคณะอนุญาโตตุลาการได้ ท้ายที่สุด รัฐบาลไทยจะไม่มีอำนาจในการต่อรองรายาได้ ทำให้คนไทยต้องใช้ยาแพง รวมถึงยาต้านมะเร็งซึ่งปัจจุบันนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด

ในกรณีศึกษาของประเทศอินเดีย ทางบริษัทยาแนลโก้ได้ร้องขอไปทางสำนักสิทธิบัตรในอินเดียเพื่อขอทำCLกับยาต้านมะเร็งตับและมะเร็งไต เมื่อทางสำนักสิทธิบัตรให้อนุญาต ทางบริษัทสามารถผลิตยาที่มีราคาขายเพียง 8,000 รูปี/หน่วย จากอดีตที่เคยมีราคาสูงถึง 200,000 รูปี/หน่วย ทำให้บริษัทยาเอกชนอื่นๆแห่ลดราคายาของตน 

“เพราะฉะนั้น ต้องมีพื้นที่ให้รัฐบาลสามารถต่อรองราคายาได้เช่นนี้” กรรณิการ์กล่าว

ย้อนกลับมาดูในประเทศไทย เรามีสำนักงานสิทธิบัตรภายใต้กระทรวงพาณิชย์ในการพิจารณาคำขอ CL แต่ในความเป็นจริง กระบวนการปกป้องผู้บริโภคกลับไม่เกิดขึ้น จะเห็นได้จากความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างองค์กรผู้บริโภคและกระทรวงพาณิชย์จากกรณีการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งทางองค์กรผู้บริโภคได้ยกประเด็นการขึ้นราคาของยาที่จะมาหลังการเจรจารวมถึงยาต้านมะเร็งหากรัฐบาลไทยรับข้อตกลงทริปพลัส

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่รัฐบาลควรให้ความสนใจเรื่องมาตรฐานราคายาต้านมะเร็ง และยาอื่นๆในเมืองไทย

ก่อนที่บริษัทยาข้ามชาติจะหวังกอบโกยกำไรอย่างไม่เป็นธรรม กระทั่งคร่าชีวิตคนไปมากกว่านี้