ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมออารักษ์” เสนอ สลาย รพช. รพศ./รพท. ชี้การแยกระดับ รพ.สธ. ต้นเหตุเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนและความก้าวหน้าวิชาชีพ ตั้งข้อสังเกต หยิบประเด็นยกระดับ รพช. เป็น รพท. ช่วงนี้หวังขู่โยกย้าย หลังปรับเป็น รพท.จะถูกปรับตำแหน่งเป็น “ผู้อำนวยการสูงรักษาการ” แถมหลุดจากสถานภาพ “แพทย์ชนบท” พร้อมแฉงบลงทุน ปี 58 สธ.จัดสรรลง รพศ./รพท. ร้อยละ 70 ขณะที่ รพช.ทั่วประเทศ ได้รับเพียงร้อยละ 30 ด้าน “หมอเกรียง” เผยผ่านเฟสบุ๊คชมรมแพทย์ชนบททิศทางเดียวกัน เชื่อต้นเหตุจากค้าน P4P

“โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช” หนึ่งในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 20 แห่ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศให้ยกระดับเป็นโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และกำลังเป็นที่จับตา เนื่องจาก นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล และยังเป็นแกนนำ “ชมรมแพทย์ชนบท” ที่ร่วมขับเคลื่อนสนับสนุน รวมถึงการคัดค้านนโยบายต่างๆ ของ สธ. ทั้งการคัดค้านเขตบริการสุขภาพ สธ. ที่ให้กระจายงบประมาณไปยังเขต และการคัดค้านจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (Pay for Performance: P4P) ซึ่งปัจจุบันเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้ใน รพท. เป็นต้น

นพ.อารักษ์ กล่าวว่า แผนการยกระดับ รพช. 20 แห่ง เป็น รพท.เป็นเรื่องที่ทำกันมานานและไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในช่วงนี้ ทั้งที่กรอบอัตรากำลังและตำแหน่งผู้อำนวยการสูงยังไม่ได้อนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มองได้ในหลากหลายประเด็น ทั้งการโยกย้ายตนและ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ จ.เลย ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท เพราะนอกจากจะทำให้หลุดจากความเป็นแพทย์ชนบทแล้ว ยังสามารถข่มขูโยกย้ายได้หลังการยกระดับเป็น รพท.ได้ โดยเบื้องต้นอาจให้รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการระดับสูงไปก่อน ซึ่งมีตัวอย่าง รพ.บึงกาฬ และ รพ.กระทุ่มแบน ที่ได้ยกระดับเป็น รพท. เมื่อ 2 ปีที่แล้ว จนถึงขณะนี้ปรากฎว่า นอกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสูงยังไม่ได้แล้ว ในช่วงแรกหลังจากที่ รพ.บึงกาฬได้ยกระดับเป็น รพท.แล้วยังได้มีการเปลี่ยนตัว ผอ.รพ.ทันที

นพ.อารักษ์ กล่าวว่า ในการยกระดับ รพ.มักมีการพูดถึงงบการลงทุนที่จะได้รับจาก สธ.มากขึ้น รวมไปถึงกรอบอัตรากำลัง ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพการบริการของโรงพยาบาลนั้น ณ เวลานี้ต้องถามว่า สธ.จะนำงบประมาณมากจากไหน เนื่องจากงบรักษาพยาบาลส่วนใหญ่ได้ถูกจัดสรรเป็นงบเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปหมดแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา รพ.สิชล ถูกตั้งเป็น รพ.ระดับ M1 ที่ต้องได้รับการสนับสนุนจาก สธ. แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ซึ่งการพัฒนาของ รพ.สิชล รวมไปถึง รพช.แห่งอื่นๆ ต้องบอกว่า เกิดจากฝีมือผู้บริหาร รพช. ที่เสียสละทำงานในพื้นที่ 10-12 ปี โดยร่วมกับชาวบ้านในการพัฒนาจนกระทั่ง รพ.มีความเจริญรุดหน้าอย่างที่เป็นทุกวันนี้ ไม่ได้มาจากการสนับสนุนของ สธ.แต่อย่างใด

“ผมทำงาน รพ.สิชล มา 20 ปี มาอยู่แรกๆ เมื่อปี 2535 รพ.มีเตียงรองรับผู้ป่วยแค่ 30 เตียง เป็นเพียง รพ.เล็กๆ ในอำเภอสิชล แต่หลังจากนั้นได้ค่อยๆ พัฒนาศักยภาพการบริการเพิ่มเป็น 60 เตียง และ 120 เตียง จนกระทั่งถึงวันนี้เราได้ขยายไปถึง 260 เตียงแล้ว มีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมที่มาจากเงินบริจาคชาวบ้าน 3 หลัง มีเพียงอาคารเดียวที่ใช้งบไทยเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังพัฒนาบุคลากรด้วยการส่งคนในพื้นที่ไปเรียนหมอ 10 ปี ผลิตแพทย์เฉพาะทางได้ 3 คน เหล่านี้ล้วนมาจากเงินบริจาคของชาวบ้านทั้งสิ้น และเมื่อมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จัดสรรงบลงหน่วยบริการ จึงได้บริหารงบอย่างมีประสิทธิภาพเรียกได้ว่ามาจากน้ำพักน้ำแรง ไม่ใช่การสนับสนุนจาก สธ.” ผอ.รพ.สิชล กล่าว  

นพ.อารักษ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า รพ.ไม่ควรมีการแบ่งแยกระดับ ไม่ควรมี รพช.รพศ. (โรงพยาบาลศูนย์) และ รพท. แต่ควรสลายเป็น รพ.ระดับเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบ เนื่องจากบุคลากรในระบบต่างทำงานเท่ากัน ไม่ว่าจะใน รพช. รพศ. และ รพท. ไม่แบ่งตำแหน่งความก้าวหน้า เปิดให้ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน เช่น การจัดสรรตำแหน่งพยาบาลซี 8 ที่ผ่านมา พยาบาลที่ทำงานใน รพศ. รพท. จะมีความก้าวหน้ามากกว่า เพราะมีซี 8 ถึงกว่า 10 ตำแหน่ง กระจายไปตามแผนก แต่หากทำงานใน รพช.ที่มีพยาบาลซี 8 เพียงตำแหน่งเดียว โอกาสก้าวหน้าก็จะน้อยกว่า ทั้งที่อาจดูแลจำนวนคนไข้ไม่แตกต่างกัน

“ในอดีตชมรมแพทย์ชนบทเคยต่อสู้เรื่องความเหลื่อมล้ำมาแล้ว จากเดิมที่ รพช.จะสิ้นสุดแค่ซี 8 ขณะที่ รพศ.และ รพท.มีตำแหน่งซี 9 เต็มไปหมด เป็นเหตุให้ รพช.ไม่มีใครอยากอยู่ เพราะไม่ก้าวหน้า แถมภาระงานหนัก จนได้ตำแหน่งซี 9 มาในที่สุด ดังนั้นมองว่า สธ.ควรสลายความเป็น รพช. รพศ.และ รพท. จัดระบบตำแหน่งความก้าวหน้า ภาระงานที่ไม่แตกต่างกันเพื่อกระจายคนไปยังพื้นที่ต่างๆ” นพ.อารักษ์ กล่าว และว่า ที่น่าตกใจคือ งบลงทุน รพ.ปี 2558 ซึ่งมีจำนวนกว่าหมื่นล้านบาท สธ.ได้จัดสรรให้กับ รพศ.และ รพท.ถึงร้อยละ 70 ขณะที่ รพช.ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้รับจัดสรรเพียงแค่ร้อยละ 30 ส่วหนึ่งเป็นผลจากแผนระบบบริการสุขภาพ (Service plan) ขอ สธ. ที่เน้นนำงบประมาณไปกระจุก รพ.เขตเมือง เพื่อแข่งขันกับโรงเรียนแพทย์ ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาการเข้าถึงบริการอย่างข่าวผู้ป่วยโรคหัวใจร้องเรียน รพ.หาดใหญ่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาทางผู้บริหาร สธ. รับปากว่า ผอ.รพช.จะยังคงรักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการระดับสูง หลัง รพ.ยกระดับ รพท.ไปก่อน นพ.อารักษ์ กล่าวว่า เมื่อเป็นรักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการระดับสูงแล้ว จากนั้นก็จะมีการสอบประเมินให้เข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการเช่นเดิม ซึ่งเป็นตำแหน่งเดิมของตนอยู่แล้ว และที่ผ่านมาตนนั่งตำแหน่ง ผอ.รพ.สิชลมา 20 ปี ต้องถามว่าแล้วจะให้ใครมาประเมิน วันนี้ถึงบอกว่าให้ยุติการสร้างความเหลื่อมล้ำ หากยกระดับ รพช. 20 แห่ง เป็น รพท. และให้ ผอ.รพ.เป็นตำแหน่งผู้อำนวยการสูง ต้องถามว่าแล้ว รพช.แห่งอื่นๆ ทำไมไม่ให้โอกาสในการขยับขึ้นบ้าง เพราะต่างมีภาระงานที่ลำบาก ทำงานที่ยากกว่าเพราะต้องบริหาร รพ.ภายใต้ความขาดแคลน ก็ควรมีโอกาสเป็นผู้อำนวยการสูงเช่นกัน จีงอยากให้สลายการแบ่งระดับ รพ.ให้มีความเท่าเทียมกัน

ขณะที่ เฟสบุ๊คชมรมแพทย์ชนบท ได้นำเสนอความเห็นของ นพ.เกรียงศักดิ์ ต่อประเด็นนี้ด้วยว่า การที่ สธ.ออกมาพูดเรื่องนี้ในเวลานี้ คงไม่ได้ให้ความสำคัญอะไร เพราะ สธ.เคยพูดเรื่องนี้มานานแล้ว สธ.บอกต้องการลดความเหลื่อมล้ำ แต่เวลาบริหาร  รพศ. รพท.และ รพช. ชัดเจนว่ามองนโยบายการพัฒนา รพช.น้อยมาก และบริหารแบบแบ่งแยกปกครองมาตลอด จึงไม่ควรแบ่งระดับ รพ.แบบนี้ ทั้งเรื่องตำแหน่งของวิชาชีพต่างๆ ก็ไม่ควรแตกต่างกัน ใน รพศ.รพท.พยาบาลวิชาชีพได้ระดับ 9 ไม่รู้กี่ตำแหน่งแล้ว ส่วนใน รพช. แค่ระดับ 8 โรงละคนยังไม่ครบเลย การออกมาพูดเรื่องนี้ เป็นเพียงแค่การออกมาข่มขู่ว่าเมื่อยกระดับแล้ว ปลัดจะมีสิทธิย้าย ผู้บริหารได้ และผู้บริหารเดิม ก็แค่รักษาการ ไปก่อน หรือแค่มาขู่ว่าจะตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เพราะชมรมแพทย์ชนบทคัดค้านพีฟอร์พี จึงขอให้ปลัดกระทรวงไปประเมินตนเอง ตลอดจนผู้บริหารระดับกรม ผู้ตรวจราชการ ผอ.รพศ. รพท. นายแพทย์ สสจ.เสียก่อนแล้วทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อย่าเลือกปฏิบัติ.