ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'เนชั่นสุดสัปดาห์' เชื่อว่าทุกคนคงมีประสบการณ์ใช้บริการโรงพยาบาล หากเป็นโรงพยาบาลรัฐ-ข้อดีคือ ค่าบริการสมเหตุผล ไม่ต้องกังวลว่าจะกระเป๋าฉีก แต่ว่า..ต้องมีเวลาและความอดทนสูงมากๆ เพราะคนไข้เยอะ ต้องรออย่างน้อยครึ่งวันกว่าจะได้พบแพทย์ หากไม่อยากรอนาน ก็ไป รพ.เอกชน ข้อจำกัดคือแพง แถมบางครั้งจะให้เข้าเครื่องตรวจโน่นนี่ ซึ่งทุกอย่างเป็นเงินทั้งนั้น มนุษย์เงินเดือน (น้อย) อย่างเรา มิคู่ควร

แต่คนภูเก็ตมีทางเลือกที่ 'ดีกว่า' เพราะมี 'โรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต' ที่เน้นการบริการแบบเอกชน คิดค่าบริการเท่าภาครัฐ เพราะเจ้าของคือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภูเก็ต สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย

ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือ เป็นโรงพยาบาล อบจ.แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ใช้งบการดำเนินงานจาก อบจ. โดยจ้างแพทย์และบุคลากรจาก บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ รพ.ธนบุรี

โรงพยาบาลแห่งนี้มีขนาด 129 เตียง เปิดให้บริการผู้ป่วยนอก 31 พฤษภาคม 2554 มีคนไข้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในเขตรับผิดชอบ พื้นที่หมู่ 4 และหมู่ 7 ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ณ กันยายน 2557 จำนวน 11,273 คน เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงปัจจุบัน และผู้ที่ปลุกปั้นให้โรงพยาบาลดำเนินการมาได้ถึงทุกวันนี้คือ ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต (สมัยที่สอง)

ไพบูลย์ จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จากสหรัฐอเมริกา และทำธุรกิจของครอบครัวอุปัติศฤงค์ ซึ่งเป็นตระกูลเก่าแก่ของภูเก็ต ปี 2529 เข้าสู่วงการพัฒนาที่ดิน เป็นนักพัฒนาที่ดินที่โด่งที่สุดคนหนึ่งของจังหวัด รวมทั้งเป็นอดีตประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต

เข้าสู่สนามการเมืองโดยลงสมัครเป็น ส.ว.ภูเก็ต ปี 2543 รับเลือกตั้งสองสมัย เข้าสู่การเมืองท้องถิ่นเข้ารับเลือกตั้งในตำแหน่ง นายก อบจ. แข่งกับ อัญชลี วานิช เทพบุตร และอาคารโรงพยาบาลหลังนี้ อัญชลีได้ซื้อไว้ และบอกประชาชนว่าจะสร้างโรงพยาบาล

เมื่อชนะการเลือกตั้งในปี 2551 ไพบูลย์จึงก่อตั้งโรงพยาบาลแห่งนี้ขึ้นมา และนั่นเป็นเหตุให้เขาถูกตรวจสอบจากหน่วยงานภาครัฐ เพราะ 'ทุบกำแพงห้อง' เพื่อปรับจากห้องเดี่ยว เป็นห้องผู้ป่วยรวม ดังที่เจ้าตัวเล่าว่า

"นายกฯ ไม่มีอำนาจทุบกำแพง หากไม่ทุบทำห้องรวมไม่ได้ เพื่อให้ทันกำหนดการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งขึ้นทะเบียนปีละครั้ง ต้องทำให้ทัน นั่นเป็นสาเหตุว่าต้องทำให้เร็วที่สุด พอเห็นว่าต้องทุบกำแพงห้อง ก็ทำ พอ สตง.มาสอบ ผลการสอบบอกว่าไม่มีความเสียหาย แต่ไม่มีอำนาจ แม้กระทั่งการซื้อเครื่องมือก็ไม่มีอำนาจ ต้องขออนุญาตจากกรมการแพทย์ให้ช่วยดูแล"

'เนชั่นสุดสัปดาห์' มีโอกาสพบกับ นายก อบจ.ภูเก็ต ในโอกาสที่ สปสช.ไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงพยาบาล

ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์

ก่อนทำเคยคิดไหมว่าจะเจอปัญหาตามที่กล่าวมาข้างต้น

ก่อนอื่นต้องขอบคุณ คุณอัญชลี วานิช เทพบุตร ท่านเป็นนายก อบจ. ผมมาเป็นต่อจากท่าน และท่านซื้อโรงพยาบาลนี้ไว้ เป็นโรงพยาบาลพญาไทซึ่งปิดตัวไป อบจ.ซื้อมา ผมเป็นนายกฯ ก็เอามาพัฒนาต่อ ทำให้เป็นโรงพยาบาลที่รองรับ สปสช.ได้ เมื่อก่อนมีเฉพาะเตียงเดี่ยว เตียงคู่เพราะเป็นโรงพยาบาลเอกชน ไม่ได้รองรับผู้ป่วยตามสิทธิ สปสช. และคนยากจน สปสช.ให้คำแนะนำว่าถ้าจะให้เป็นโรงพยาบาลท้องถิ่น ต้องทำเตียงรวม รองรับพี่น้อง

ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ประชาชนทั่วไปตอนนั้นได้รับงบรายหัวจาก สปสช.แล้ว

ยังครับ เป็นงบ อบจ. อย่างเดียว พอเราได้รับคำแนะนำก็ปรับปรุงสถานที่มีห้องรวม ให้พี่น้องประชาชนได้ใช้บริการจากเดิมเป็นโรงพยาบาลเอกชน รองรับคนมีฐานะ

ถึงวันนี้ประเมินว่าได้ตามเป้าหมายแค่ไหน ประสบความสำเร็จหรือยัง

โรงพยาบาลเปิดให้บริการเป็นปีที่สี่ ถือว่าประสบความสำเร็จมาก จากคนไข้ต่อวันไม่ถึง 100 คนเป็น 700 คน เตียงที่เตรียมไว้เต็มแล้ว ห้องเดี่ยวหลายๆ ครั้งแทบไม่เพียงพอ ห้องไอซียูแทบไม่พอ ต้องมีแผนขยายห้องไอซียู ขยายเตียงเพิ่มขึ้นอีก 20 กว่าเตียง

สี่ปีที่ผ่านมาขาดทุนตลอด

ปีนี้ตั้งเป้าว่างบรายได้ของที่นี่ 200 กว่าล้านบาท แต่ใช้งบ 300 กว่าล้านบาทในการบริหารจัดการ ฉะนั้น ขาดทุนปี 2558 เป็นเงินร้อยกว่าล้าน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาว่าเรารองรับไม่ได้ เนื่องจากเรามีงบฯ จากค่าธรรมเนียมโรงแรมปีละร้อยกว่าล้าน มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ล้อเลื่อนบุหรี่ และรายรับจากเงินอุดหนุน (จากรัฐบาล) ปีละพันกว่าล้าน รวมแล้ว อบจ.มีรายได้ทั้งหมดปีละ 1,400 ล้านบาทสามารถเกลี่ยรายได้จากส่วนอื่นมาโปะครับ เรามีงบต้องใช้ด้านการศึกษา 300 กว่าล้าน นั่นคือที่มาว่าเราพร้อมจะขยายโรงพยาบาลแห่งนี้ไปอำเภอถลาง อาจมีหน่วยบริการทางการแพทย์ที่อำเภอถลาง

ตกลงรายจ่ายเกินรายรับไม่ใช่ปัญหา

ครับ เราสามารถรองรับการขาดทุนได้ เนื่องจากเราเก็บค่าบริการถูก ค่าบริการแค่ 1 ใน 3 ของโรงพยาบาลเอกชน เราคิดอัตราเดียวกับโรงพยาบาลรัฐบาล เราให้บริการเหมือนโรงพยาบาลเอกชน ในราคาไม่แพง สถานที่สะดวกสบาย มีทีมงานแพทย์เฉพาะทางมีความพร้อม นี่คือสาเหตุว่าทำไมคนมาใช้บริการที่นี่เยอะ เรามีแพทย์เฉพาะทาง โรงพยาบาลอื่นก็มี แต่รอคิวผ่าตัดนาน ของเรามีแพทย์เฉพาะทางด้านนัยน์ตา กระดูก หัวใจ ที่จะมาดูแล ตอนนี้เรามีชื่อเสียงมาก มีคนมารับบริการเยอะ คนไข้ใช้สิทธิประกันสังคม สปสช.และสิทธิข้าราชการได้ นอกนั้นเป็นคนไข้วอล์คอิน ต้องจ่ายเงิน

พื้นที่ดูแลตามสิทธิบัตรทอง มีประชาชนแค่สองหมู่บ้าน

เนื่องจากเราคุยกับสาธารณสุขจังหวัด เขาให้พื้นที่ประชากรหมู่ 4 และ 7 ให้เรารับผิดชอบ นั่นเป็นที่มาตั้งแต่ตอนแรก เราก็ไม่อยากมีปัญหากับการแบ่งพื้นที่ ให้อะไรเราก็เอา แต่พอบริการเป็นปีที่สี่คนมาใช้บริการเยอะมาก จำเป็นต้องเอาข้อเท็จจริงมาคุยกันว่าพี่น้องประชาชนยอมรับบริการเรา หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ควรมาคุยกันใหม่ว่า การขึ้นทะเบียนของผู้ใช้บริการเป็นอย่างไร มีคนลงทะเบียนใช้สิทธิที่โรงพยาบาลถลาง โรงพยาบาลวชิระ โรงพยาบาลป่าตอง แต่บางส่วนมาใช้บริการที่นี่ เราต้องส่งไปเก็บเงินที่โน่น แต่ไม่คุ้ม หากขึ้นทะเบียนตรงจะดีกว่า

ความยั่งยืนที่โรงพยาบาลจะมีรายได้เลี้ยงตัวเอง หากนายกฯ หมดวาระไป

ขึ้นกับรัฐบาลว่าจะออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างไร จะยุบ อบจ.หรือเปล่า ถ้ายุบ-ต้องคิดว่าจะดูแลโรงพยาบาลนี้อย่างไร มันเกินหน้าที่ที่ผมต้องตอบ สิ่งที่เราเรียกร้องคือขอให้ดูกฎกติกา ระเบียบที่จะสนับสนุนโรงพยาบาลท้องถิ่น เพราะเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่บริหารงานโดย อบจ. เพราะฉะนั้น กระทรวงมหาดไทยไม่เคยทำมาก่อน ต้องแก้กติกาให้เข้าให้ได้ เช่น การซื้อเครื่องมือแพทย์ การซื้อยานอกบัญชี เป็นยังไง ซึ่งเขาไม่เคยทำมาก่อน หากเกิดความยั่งยืนจริงๆ แพทย์-พยาบาลต้องเป็นคนของ อบจ. แต่ตอนนี้เงินเดือนนายก อบจ. 7 หมื่นบาท แต่เงินเดือนแพทย์ 150,000 บาท ไม่เหมือน กทม.ที่มีกฎหมายพิเศษ

ตามที่บอกว่ามีเรื่องถูกสอบสวนสองกรณี

ครับ เขาบอกรัฐไม่เสียหาย เพียงแต่ผมไม่มีอำนาจในการทุบ (หัวเราะ) อีกเรื่องเช่น สตง.บอกรถโดยสารสาธารณะ (รถสองแถวสีชมพูที่วิ่งในตัวเมืองภูเก็ต จำนวน 30 กว่าคัน) ดูแลพี่น้องประชาชนวันละ 6-7 พันคน นักเรียนนักศึกษานั่งฟรี ประชาชนทั่วไปคนละ 10 บาท ดำเนินการแล้วขาดทุนปีละประมาณ 10 กว่าล้าน สตง.บอกขอให้หยุดให้บริการ ส่งเรื่องมาจังหวัด จังหวัดก็บอกให้หยุด ผมชี้แจงว่าหยุดไม่ได้เพราะเป็นการบริการประชาชน กรุงเทพฯ ยังมีรถเมล์ฟรี ผมก็ไม่หยุด และว่าจะดำเนินการหาป้ายโฆษณามาติดข้างรถ และขึ้นราคาจาก 10 บาทเป็น 15 บาท เพื่อลดการขาดทุน ตอนนี้ผมก็ดำเนินการมาเรื่อยๆ นี่เป็นสองเรื่องที่ทักท้วงมา ก็พยายามทำ สร้างความโปร่งใส คิดว่าเดือนหน้าถ้าจำเป็นต้องขึ้นเป็น 15 บาท ก็ทำ เพื่อไม่ต้องหยุดให้บริการ เราปรับปรุงเพื่อให้อยู่ได้ตามกฎหมาย ขาดทุนน้อยหน่อย

หน้าที่ของ สตง. คือตรวจสอบ หน้าที่ของเราคือทำให้ทราบว่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ได้ทุจริต เพื่อให้บริการพี่น้องประชาชน นั่นคือสิ่งที่เราต้องทำ ไม่ต้องไปโฆษณา

คิดว่าโรงพยาบาลลักษณะนี้จะเกิดขึ้นที่อื่นได้ไหม ถ้ามีคนอยากทำมีคำแนะนำอย่างไรบ้าง

เมืองท่องเที่ยวหาแพทย์ พยาบาลได้ หากไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ก็ไม่ใช่เมืองที่แพทย์ พยาบาลจะมาง่ายๆ หากเป็นเมืองใหญ่ๆ อย่าง สงขลา สุราษฎร์ฯ ซึ่งเขาอยากมาอยู่ด้วย และทำงานนอกเวลาได้

ตั้งเป้ากับที่นี่ไว้อย่างไร

ขยายห้องไอซียู รองรับคนไข้ให้ได้ ตอนนี้ไม่พอ มีไอซียู 4 ห้อง และจะเปิดห้องเดี่ยวอีก 27 เตียง ตอนนี้เต็มแล้ว อนาคตอาจขยายถึง 190 เตียง

สปสช.เกลี่ยงบฯ ให้ด้านไหน

การลงทะเบียนผู้รับบริการบัตรทอง ให้งบตามรายหัว ตอนนี้มีประมาณหนึ่งหมื่นเจ็ดพันคน ทั้งจังหวัดประชากร 2 แสน 5 (ไม่รวมประชากรแฝง)..โรงพยาบาลตั้งอยู่ในตำบลตลาดใหญ่ ขอเพิ่มประชากรจากตำบลตลาดใหญ่ได้ไหม จากหมื่นเจ็ด เป็นสองหมื่นเจ็ด (ตลาดใหญ่ประชากรหมื่นคนเศษ) ประชากรขึ้นทะเบียนกับโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แต่มีคนไข้จากโรงพยาบาลวชิระมาใช้บริการเรา 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ และเราต้องไปเก็บเงินจากโรงพยาบาล

ช่วยขยายความที่บอกว่าเมื่อก่อนเป็นพ่อค้า ทำทุกอย่างที่กฎหมายไม่ห้าม

เป็นพ่อค้าทำได้ทุกอย่างที่กฎหมายไม่ห้ามไว้ แต่ราชการทำอะไรไม่ได้ ถ้ากฎหมายไม่บอกให้คุณทำ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของคุณ มันขัดใจไง (เน้นเสียง) ผมเคยอยู่เอกชนทำงานได้ไว เช่น ทุบกำแพง ผมสั่งทุบเลย ในเมื่อไม่ได้ทุจริต เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง แต่ราชการบอกคุณไม่มีอำนาจทุบ ถ้าผมอยู่ราชการมาก่อนอาจทำไม่สำเร็จ เพราะต้องรอก่อนว่า ทำได้ไหม มีอำนาจทุบไหม มิน่าเมื่อก่อนเขาถึงบอกราชการเช้าชาม เย็นชาม คือไม่ใช่หน้าที่เขา ทำทำไม ถ้าไปทำ-ผิด ยิ่งทำมากผิดมาก ข้าราชการจึงอยู่นิ่งเฉยๆ แต่เอกชนอยู่เฉยๆ ไม่ได้นะ ถ้าไม่ทำไม่มีกิน ข้าราชการทำมากกว่านั้น คุณผิด

แล้วทำอย่างไร

ผมพยายามเอาความรวดเร็วของภาคเอกชน กับระเบียบราชการมาผสานกัน ทำไงให้ราชการเร็วขึ้นและไม่ผิดระเบียบ นั่นคือที่มาว่าทำไมเราทำได้ ผมบอกทีมว่า ถ้าคิดแบบระบบราชการ ทำงานบริการประชาชนไม่ได้ ต้องปรับตัวเอง ทำงานให้เร็วขึ้น กฎกติกามีไว้แก้ไขให้ประชาชนได้รับความสะดวก เหมือนที่ สปสช.มาวันนี้ ผมบอกท่านเลขาธิการ สปสช.ว่า กฎกติกาใดที่ให้ผมทำงานได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ก็ขอบคุณท่านและทีมงานทั้งหมด ที่แนะนำตั้งแต่แรก เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา ขอกฎกติกาที่ช่วยให้ทำงานได้ก่อน

ทำไมต้องการเปิดหน่วยบริการที่ถลาง

มีประชากรและนักท่องเที่ยวเยอะ แต่ไม่มีหน่วยให้บริการ ตอนนี้ผมเอารถอีเอ็มเอสไปให้บริการทั้งจังหวัด ทุกตำบล ถ้ามีปัญหา โทร 1669 เขาส่งมาโรงพยาบาลได้เลย เมื่อก่อนต้องเอารถจากเมืองไปถลาง ไปกลับ ตอนนี้มาขาเดียว ต่อไปมีโรงพยาบาลสาขาที่ถลาง ถ้า อบจ.มีโอกาสขึ้นทะเบียน..ขอคิดไว้ก่อน ทำได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง คือต้องมีวิชั่นก่อน ถ้าไม่ฝันก่อน ก็ไม่เกิด อย่ามองปัญหา เอาเป้าหมายก่อน ลุยไปเลย ระหว่างนั้นแก้ปัญหาไปด้วย ถ้าบอกว่าปัญหาเยอะแยะ มันไม่เกิดเลย แต่ตั้งเป้าว่าทำยังไงจะให้เกิดให้ได้

ไม่หงุดหงิดหากมีปัญหาเข้ามาระหว่างทาง

ต้องอธิษฐานทุกเช้า ผมเป็นคริสเตียน ขอให้พระผู้เป็นเจ้า พูดแบบพุทธคือเอาคนที่เคยทำบุญร่วมกันมาก่อน คนที่มีใจ มาทำงานร่วมกัน พระผู้เป็นเจ้านำคนดีๆ มาทำงานร่วมกัน โรงพยาบาลนี้สำเร็จได้ ไม่ใช่พวกผม แต่เป็นเพราะพระเจ้ากำหนดให้ทุกคนมาทำงานร่วมกัน ทั้งสาธารณสุข สปสช. โรงพยาบาลธนบุรี อบจ. มาทำงานด้วยใจ

อธิษฐานเรื่องสุขภาพด้วยไหม

ครับ ขอให้ผมแข็งแรง อายุยืน ปีนี้เกือบ 60 ปีแล้ว มีกำลังจากพระเจ้ามาดูแลพี่น้องประชาชน ให้เราเป็นเกลือและแสงสว่าง เมื่อก่อนเกลือเป็นของหายาก

ทราบว่าก่อนหน้านี้ป่วย

เป็นมะเร็งลำไส้ ผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าให้กลับมา ก็ปรับชีวิตใหม่ กินเฉพาะปลา ส่วนหมู เนื้อ ทานไม่ได้ กินผัก ผลไม้ พักผ่อนให้มากขึ้น น้ำหนักลดไป 10 กก. เมื่อก่อนอ้วน สาเหตุที่เป็นคงมาจากทำงานหนักไม่มีเวลาพักผ่อน อาจจะเป็นกรรมพันธุ์ด้วย คุณแม่ก็เป็น ส่วนใหญ่ฝั่งหงษ์หยกเป็นมะเร็งหลายคน (มารดาของไพบูลย์มาจากตระกูลหงษ์หยก)

ด้าน ทวีสา เครือแพ รองผู้อำนวยการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 11 สุราษฎร์ธานี กล่าวถึงภาพรวมของหน่วยบริการในจังหวัดภูเก็ต ว่าเป็นของ กระทรวงสาธารณสุขหลัก 3 แห่งคือ รพ.วชิระภูเก็ต รพ.ถลาง รพ.ป่าตอง และว่าการมีโรงพยาบาล อบจ.แห่งแรกของไทย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงของประชาชน เดิมฝั่งนี้มีแต่ รพ.วชิระภูเก็ต เมื่อมีโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ทำให้คนไข้มีตัวเลือกมากขึ้น

"ข้อดีที่เห็นชัดเจนคือเป็นโรงพยาบาลรัฐแต่บริการแบบเอกชน เป็นที่นิยมของคนทั่วไป เพราะไม่ต้องรอนาน ที่พักคนไข้ก็ไม่แออัด พนักงานยิ้มแย้มแจ่มใส เอาหลักบริการเอกชนมาใช้กับรัฐ แต่ช่วงนี้ปัญหาคือ อบจ. ไม่มีกฎหมายรองรับ มันก็เหนื่อยหนัก ทำอะไรติดขัดไปหมด เช่น ซื้อเครื่องมือสักชิ้น ไม่มีเทียบราคากลาง เขาก็ต้องไปหาจากที่อื่น ตรงนี้ต้องทำอีกเยอะมาก อย่างไรก็ดี ผมว่าคนภูเก็ต และคนอาศัยอยู่ภูเก็ตได้ประโยชน์ ผมชื่นชมทีมงานที่คิดและทำตรงนี้ ต่างประเทศหรือที่อื่น หน่วยบริการไม่ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นกับจังหวัดหรือรัฐ กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ออกกฎ ระเบียบ ควบคุมกฎหมาย คุณภาพบริการ แต่ประเทศไทยไม่ได้ดีไซน์แบบนั้น กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลของตนเอง"

โรงพยาบาลเปิดดำเนินการเป็นปีที่สี่ ขาดทุนสะสมทุกปี แต่ทำไมยังเปิดบริการได้ อบจ.เอางบฯ จากไหน รวมทั้งคำอธิบายจากประโยคที่ว่า "พ่อค้าทำได้ทุกอย่างที่กฎหมายไม่ห้ามไว้ แต่ราชการทำอะไรไม่ได้ ถ้ากฎหมายไม่บอกให้คุณทำ" ฟังแล้วปวดใจดีแท้!

สินีพร มฤคพิทักษ์ : เรื่อง / พันศักดิ์ เต็งประเสริฐ : ภาพ

ที่มา : หนังสือพิมพ์เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ก.พ. 2558 คอลัมน์: สัมภาษณ์พิเศษ: 'เป็นพ่อค้าทำได้ทุกอย่างที่กฎหมายไม่ห้าม แต่ราชการทำอะไรไม่ได้ ถ้ากฎหมายไม่บอกให้ทำ' ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง