ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยผลวิจัยคุณภาพชีวิตพยาบาล มากกว่าครึ่งมีความเครียด 1 ใน 3 มีปัญหาการนอนหลับ ปัจจัยเสี่ยงจากการทำงานเป็นเวรผลัดต่อเนื่องนานกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าอาชีพอื่น อายุเฉลี่ยการทำงาน 22.5 ปี และยังพบว่า ในรอบ 1 ปี 1 ใน 5 เคยประสบความรุนแรงจากการทำงาน และตั้งใจที่จะออกจากงานภายใน 1-2 ปี

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับโครงการวิจัยสุขภาพและชีวิตการทำงานของพยาบาลไทย แถลงข่าวเรื่อง"ผลวิจัยคุณภาพชีวิตพยาบาล" เพื่อติดตามภาวะสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงในการทำงานของพยาบาล โดย ดร.กฤษดาแสวงดี หัวหน้าโครงการวิจัยสุขภาพและชีวิตการทำงานของพยาบาลไทย กล่าวว่าจากการเก็บข้อมูลพยาบาลวิชาชีพทั่วประเทศจำนวน 18,765 คนพบว่าพยาบาลมากกว่าครึ่งมีความเครียด โดย 45.5% มีความเครียดจากการทำงานอยู่ในระดับสูง ประมาณ 1 ใน 3 มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ และ 8-10% เคยใช้ยานอนหลับ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของความเครียดในการทำงาน คือ ลักษณะการทำงานเป็นเวรผลัดต่อเนื่องเป็นเวลานานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งนี้ความเครียดจากการทำงานสูงมีความสัมพันธ์กับการบาดเจ็บ ถูกเข็มทิ่มตำ การบาดเจ็บจากของมีคม และเจ็บป่วยด้วยโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ

สำหรับดัชนีคุณภาพชีวิต ด้านสุขภาพ พบว่าพยาบาลไทยอยู่ในระดับ 0.75 ซึ่งต่ำกว่าผู้หญิงไทยที่ประกอบอาชีพอื่นๆ ที่มีดัชนีอยู่ที 0.95 โดยพยาบาลอายุน้อยจะมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพต่ำกว่าระดับอาวุโส ซึ่งสัมพันธ์กับความมั่นคงในการทำงานส่งผลให้มีการลาออกหรือเปลี่ยนอาชีพเฉลี่ยอายุการทำงานในวิชาชีพเพียง 22.5 ปี นอกจากนี้พบว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พยาบาลไทยประมาณ 1 ใน 5 เคยประสบความรุนแรงจากการทำงานและตั้งใจที่จะออกจากงานภายใน 1-2 ปี หรือมากกว่า 2 ปี มากกว่าพยาบาลที่ไม่เคยประสบความรุนแรงจากการทำงาน

รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธ์ นายกสมาคมพยาบาลฯ กล่าวว่า จะมีการประชุมสัมมนาพยาบาลทั่วประเทศเพื่อให้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาระหว่างวันที่ 9-13 พ.ย. 2558 โดยหวังจะผลักดันเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของพยาบาลเป็นวาระแห่งชาติ

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558

เรื่องที่เกี่ยวข้อง