ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
สพฉ.เผยเครื่อง AED มีฟังก์ชันเชื่อมระบบเบอร์ฉุกเฉินหมายเลขเดียว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจวาย ระบุแค่เปิดเครื่องศูนย์รับแจ้งเหตุรู้พิกัดที่เกิดเหตุทันที ส่งทีมกู้ชีพช่วยเหลือได้รวดเร็ว หนุนผลักดันตั้ง 112 เป็นเบอร์ฉุกเฉินหมายเลขเดียว 
       
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังมีการผลักดันให้เบอร์ 112 เป็นหมายเลขแจ้งเหตุฉุกเฉินหมายเลขเดียวของประเทศไทย ซึ่งจะทำหน้าที่รับแจ้งเหตุฉุกเฉินและประสานข้อมูลความช่วยเหลือไปยังหน่วยปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องแบบทันที โดยไม่เสียเวลาในการแจ้งข้อมูลซ้ำ ประกอบด้วย ด้านการปลอดภัย 191 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ของ สพฉ. และด้านดับเพลิง 199 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่ง สพฉ.ได้รับการเสนอให้เป็นผู้ดูแลระบบหมายเลข 112 ซึ่งหากรัฐบาลเร่งผลักดันและสนับสนุนงบประมาณ สพฉ.ก็พร้อมเตรียมสร้างศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินและจ้างบุคลากรภายนอกเข้ามาเป็นผู้รับแจ้งเหตุจำนวน 140 คู่สาย ซึ่งเพียงพอต่อการรับแจ้งเหตุ 
       
นพ.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญคือขอให้ได้มีการตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุและใช้เบอร์ 112 ในการรับแจ้งเหตุก่อน จากนั้นจึงค่อยพัฒนาระบบดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงเบอร์ 112 กับส่วนต่างๆ เช่น ปุ่มแจ้งเตือนไฟไหม้ในอาคาร คือเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้วมีคนกดปุ่มเตือนภัยให้อพยพ ก็จะส่งสัญญาณไปยังเบอร์ 112 ว่าอาคารใดเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น ทำให้ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 112 และหน่วยปฏิบัติงานทั้ง 3 หน่วยงานรับทราบข้อมูลได้ทันทีว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่พิกัดได้ และไปช่วยเหลือได้ทันเวลา รวมไปถึงจะมีการเชื่อมโยงกับเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED) ที่ใช้ในการช่วยชีวิตผู้หัวใจวายเฉียบพลันในที่สาธารณะต่างๆ ด้วย ซึ่งต่างประเทศที่มีการใช้เบอร์ฉุกเฉินหมายเลขเดียว ต่างเชื่อมโยงเครื่อง AED กับระบบเบอร์ฉุกเฉินหมายเลขเดียวแล้ว โดยเมื่อเปิดตู้เพื่อนำเครื่อง AED ออกมาใช้ช่วยชีวิตคน ก็จะส่งสัญญาณมายังศูนย์แจ้งเหตุฉุกเฉิน 112 เช่นกัน ทำให้สามารถส่งทีมกู้ชีพไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที 
       
"ขณะนี้ สพฉ.ได้มอบเครื่อง AED ให้แก่สถานที่สาธารณะและหน่วยงานต่างๆ ที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะฉุกเฉินจำนวน 30 องค์กร เพื่อนำร่องการติดตั้งเครื่อง AED แล้ว อาทิ สถานีรถไฟหัวลำโพง  สถานีขนส่งหมอชิต เอกมัย และสายใต้ ท่าเรือคลองเตย สนามกีฬาศุภชลาศัย สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน (หัวหมาก) ทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้หัวใจวายเฉียบพลันได้ถึง 45% แล้ว โดยเครื่องดังกล่าวได้นำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงทำให้เครื่อง AED ของไทยมีฟังก์ชันรองรับระบบเบอร์ฉุกเฉินหมายเลขเดียว หากประเทศไทยมีการจัดระบบเบอร์ 112 แล้ว ก็จะช่วยให้เครื่อง AED ทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น" รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าว
 
ที่มา : http://manager.co.th