ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.บ้านตาขุน สุราษฎร์ธานี วอนผู้บริหาร สธ. ดูแล รพ.ในกลุ่มพื้นที่ประชากรเบาบาง ชี้ไม่ได้เงินค่า Hardship เหตุ ไม่เข้าเกณฑ์เพราะมี  7-11 ในอำเภอ 2-3 แห่ง ไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มทุรกันดาร ส่งผลเจอปัญหาขาดทุน ค้างหนี้ อภ.ทุกปี ถามจะปล่อยไว้แบบนี้อีกนานแค่ไหน

นพ.เอกพล พิศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาขุน  อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า อยากเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดูแลโรงพยาบาล(รพ.)ในกลุ่มที่มีประชากรในพื้นที่เบาบาง และไม่ถูกจัดอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารด้วย เพราะปัจจุบันอยู่ในสถานะขาดทุนต่อเนื่อง

นพ.เอกพล ยกตัวอย่าง รพ.บ้านตาขุนเอง ที่มีประชากรที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ (UC) ในการดูแลอยู่ 16,000 คน มีจำนวนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการดูแล 6 แห่ง อยู่ห่างจากตัวเมือง 70 กิโลเมตร แต่เนื่องจากมีร้าน 7-11 ในพื้นที่อยู่ 2-3 แห่ง จึงไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มพื้นที่ทุรกันดาร จึงไม่ได้รับการจัดสรรเงินสำหรับหน่วยบริการที่จำเป็นต้องให้บริการในพื้นที่กันดารและพื้นที่เสี่ยงภัย (พื้นที่ Hardship) เทียบกับ รพ.วิภาวดี ซึ่งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน มีประชากร UC 16,000 คน มี รพ.สต.ในการดูแล 3 แห่งและอยู่ห่างจากตัวเมือง 70 กิโลเมตรเหมือนกัน แต่กลับได้เงิน Hardship ทุกปี ปีละ 2-3 ล้านบาท

“กลายเป็นว่าโรงพยาบาลในกลุ่มประชากรเบาบางไม่ได้รับการดูแล ทีนี้ถามว่าจะปล่อยให้ขาดทุนไปอีกนานแค่ไหน ทุกวันนี้ที่โรงพยาบาลกลุ่มนี้อยู่กันได้ ก็เพราะไม่ได้จ่ายหนี้ให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก็ขอเครดิตกันมาเรื่อยๆ อย่างโรงพยาบาลผมขาดทุนปีละ 2 ล้านกว่าบาท ติดต่อกันมา 7-8 ปีแล้ว ทุกวันนี้มีหนี้อยู่ 18 ล้านบาท แต่ถ้าได้ค่า Hardship ด้วยก็จะช่วยให้บัญชีสมดุลทั้งรายรับ-รายจ่ายทันที” นพ.เอกพล กล่าว

นพ.เอกพล กล่าวอีกว่า อยากฝากให้ทางผู้บริหาร สธ.ให้การดูแล เช่น จัดสรรเงิน Hardship หรืออาจจะผลักดันให้มีขั้นต่ำในการจัดสรรงบประมาณรายหัว เพราะมีงานวิจัยออกมาแล้วว่าโรงพยาบาลที่มีประชากร UC ต่ำกว่า 30,000 คน จะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นควรกำหนดวงเงินขั้นต่ำไว้ที่ 30,000 คน แม้ในพื้นที่จะมีประชากร UC ไม่ถึงก็ตาม

“ถึงจะมีประชากร UC น้อย แต่การบริหารจัดการ การจัดกำลังคน รถพยาบาล ฯลฯ ก็ต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำถึงจะให้บริการได้ อย่าง โรงพยาบาลพนม จ.สุราษฎร์ธานี มีประชากร UC มากกว่าโรงพยาบาลบ้านตาขุน 3 เท่า มีรถพยาบาล 3 คันเข้าเวรเช้า บ่าย ค่ำ แต่โรงพยาบาลบ้านตาขุนก็ต้องมีรถ 3 คันเหมือนกัน จัดกำลังคนขั้นต่ำ 3 กะเหมือนกันถึงจะให้บริการได้ แต่กลายเป็นว่าไม่มีใครลงมาดู ไม่มีใครลงมาช่วย ถามว่าจะปล่อยให้ขาดทุนแบบนี้อีกนานแค่ไหน”นพ.เอกพล กล่าว