ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พยาบาลเตรียมบุกทำเนียบ 7 ก.ค. เรียกร้อง ‘บิ๊กตู่’ ขอความเป็นธรรมที่ไม่เคยได้รับ ชี้ไม่ต้องการสร้างความวุ่นวาย แต่อยากส่งเสียงให้ผู้บริหารประเทศได้รับรู้ปัญหาจริง คาดเดินทางมาร่วมกว่าพันคน จากพยาบาลที่ประสบปัญหาทั้งสิ้นเป็นแสนคน ระบุ ทำงานเยอะไม่ว่า แต่ขอให้เป็นธรรมเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ ความปลอดภัย เผยผลสำรวจข้อมูล พยาบาลจบใหม่ลาออกครบ 1 ปีแรกเกือบ 50 % ปีที่ 2 เพิ่มอีก 20 %

รศ.สมจิต แดนสีแก้ว คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะนายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวร้องขอความเป็นธรรมสิทธิพยาบาล ว่า ขณะนี้สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ฯลฯ ได้มีการหารือ และจะขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้แก่พยาบาลวิชาชีพทุกคน ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 160,000 คน ที่ผ่านมาพยาบาลประกอบวิชาชีพอย่างหนัก แม้จะเต็มใจแต่ก็รู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมเมื่อเทียบกับสายวิชาชีพด้านสาธารณสุขอื่นๆ ทั้งค่าตอบแทน ภาระงานที่มากเกินไป ปัญหาสุขภาพของพยาบาล สวัสดิการต่างๆ เป็นต้น

รศ.สมจิต กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ศึกษาเรื่องการพัฒนาบริบทการทำงานเชิงบวกเพื่อสร้างสมดุลชีวิตการทำงานและสุขภาพของพยาบาล โดยศึกษา 4 รพ. คือ รพ.อุดรธานี รพ.สกลนคร รพ.ชัยภูมิ และ รพ.นครพนม ซึ่งได้สอบถามพยาบาลวิชาชีพแห่งละ 100 คน พบว่ามีปัญหาหลักๆ อาทิ ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมกับภาระงาน ไม่มีการบรรจุพยาบาลจบใหม่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้พยาบาลจบใหม่เป็นลูกจ้างทางการพยาบาล ให้ค่าตอบแทนน้อยกว่าข้าราชการ โดยให้รับเงินเดือน 12,300 บาท ซึ่งเป็นการกำหนดจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่ไม่ให้ รพ.ทุกแห่งภายในจังหวัดนั้นๆ จ้างสูงเกินตัวเลขดังกล่าว เพื่อป้องกันการไหลไปทำงานใน รพ.ที่มีค่าจ้างสูงกว่า ซึ่งค่าจ้างพยาบาลต่ำกว่าอาชีพอื่นที่จบปริญญาตรี คือ 15,000 บาท แต่ รพ.จะอธิบายว่าจ้างเท่าราคาที่รัฐบาลกำหนด เนื่องจากไปนับรวมเงินอื่นๆ เช่น ค่าที่พัก เป็นต้น ทำให้พยาบาลจบใหม่ลาออกในช่วงครบ 1 ปีแรกเกือบร้อยละ 50 และปีที่ 2 เพิ่มอีกร้อยละ 20

รศ.สมจิต กล่าวอีกว่า ความไม่ปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นถูกผู้ป่วยทำร้ายร่างกาย กรณีห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน ประตูห้องฉุกเฉินเปิดตลอดเวลา ไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เมื่อเกิดเหตุรุนแรงก็ไม่มีใครคุ้มครองดูแลได้ ที่สำคัญความไม่ปลอดภัยขณะนำส่งผู้ป่วยในรถรีเฟอร์ หรือรถการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ไม่มีระบบควมคุมความเร็วรถ ไม่มีประกันอุบัติเหตุรถ เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็ไม่อยู่ในการดูแล ขาดการทำประกันชีวิตให้แก่พยาบาล ที่สำคัญ พยาบาลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เสี่ยงต่อการถูกทำร้าย เนื่องจากปฏิบัติงานลำพังในยามวิกาล และอยู่ไกลชุมชนอีก

รศ.สมจิต กล่าวว่า ภาระงานที่มากเกินไป การคิดผลผลิตการทำงานของพยาบาลไม่เป็นธรรม ไม่ได้คิดตามความหนักของผู้ป่วย และไม่ได้คิดตามความเสี่ยงจากการทำงาน ยิ่งภาระงานพยาบาลที่จบใหม่ขึ้นเวรหนัก ช่วงเวลาพักผ่อนน้อย ขึ้นเวรเช้าต่อเวรดึกแล้วต้องมาขึ้นเวรบ่ายอีก หรือขึ้นเวรเช้าต่อเวรบ่ายติดต่อกัน 2 วัน จำนวนผู้ป่วยที่ต้องให้การดูแลต่อพยาบาล 1 คนสูงมาก แต่กลับได้ค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม และ ปัญหาสุขภาพของพยาบาลจากการทำงาน อาทิ การเสี่ยงติดเชื้อจากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อวัณโรค การถูกเข็มทิ่มตำ เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ขาดอุปกรณ์ป้องกันการทิ้งเข็มที่ปลอดภัย เป็นต้น

“ตัวอย่างของปัญหาที่อยากให้ผู้บริหาร สธ.รับทราบ และขอความเห็นใจผู้บริหารประเทศแก้ปัญหาให้พยาบาลที่ทำงานหนักมาตลอด ซึ่งจริงๆ พวกเราไม่ค่อยออกมาเรียกร้อง หรือพูดอะไรมาก แต่นี่คือความจริง ที่สำคัญที่ผ่านมาพวกเราเคยพบ รัฐมนตรีว่าการ สธ.มาหลายครั้งแล้ว ท่านก็รับทราบปัญหา แต่เราอยากทวงถามอีกครั้ง เพื่อขอความชัดเจนในการดำเนินการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม” รศ.สมจิต กล่าว

ด้าย น.ส.มัลลิกา ลุนจักร ประธานสหภาพพยาบาลฯ กล่าวว่า ในวันที่ 7 กรกฏาคม พยาบาลวิชาชีพที่ได้รับผลกระทบจะเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมที่ไม่เคยได้รับ พวกเราไม่ได้ต้องการสร้างความวุ่นวาย แต่นี่คือสิ่งที่ต้องร้อง และอยากส่งเสียงให้ผู้บริหารประเทศได้รับรู้ปัญหาจริงๆ โดยคาดว่าจะเดินทางมาร่วมกว่าพันคน จากพยาบาลที่ประสบปัญหาทั้งสิ้นเป็นแสนคน ปัญหาหลักๆ คือ ทำงานเยอะไม่ว่า แต่กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการต่างๆ