ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตลอดระยะเวลากว่า 31 ปี ที่ นพ.กังวาล วงศ์รัศมีเดือน ได้เลือกเส้นทางเดินชีวิตการเป็นหมอในสังคมชนบท ละทิ้งความเจริญในเมือง เพื่อทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ในการทำงานให้ชาวบ้านในอำเภอน้ำโสม จ.อุดรธานี มีสุขภาพกายใจที่ดี จนได้รับเลือกให้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2557

นพ.กังวาล วงศ์รัศมีเดือน ผู้อำนวยการ รพ.น้ำโสม อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี แพทย์ดีเด่นในชนบท คนที่ 41 ประจำปี 2557 ได้กล่าวถึงการทำงานตลอดระยะเวลากว่า 31 ปีในการเป็นแพทย์ในพื้นที่ห่างไหลความเจริญว่า ตนเองเคยดีใจที่สุดครั้งแรกเมื่อตอนสอบเข้าเรียนแพทย์ได้ และดีใจอีกครั้งเมื่อเรียนจบ แต่ที่ดีใจที่สุดคือวันนี้ วันที่ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท และได้เป็นปาฐก ในการปาฐกถาอุดม โปษะกฤษณะ

ในช่วงตลอดเวลากว่า 31 ปีของการทำงานในพื้นที่ชนบท ที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตนเองเริ่มทำงานครั้งแรกในปี 2526 เป็นแพทย์ฝึกหัดใน รพ.ศูนย์ขอนแก่น ใน 1 ปีต่อมา ได้เข้ามารับตำแหน่งนายแพทย์ 4 และรักษาการแทนผู้อำนวยการ รพ.น้ำโสม จนถึงปี 2531จึงรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ รพ.น้ำโสม จนถึงปัจจุบัน (รวมระยะเวลา 31 ปี)

นพ.กังวาล เล่าว่า ตลอดการทำงานที่ รพ.น้ำโสม ได้เห็นอำเภอหนึ่งที่เติบโตไปอย่างช้าๆ ทุกช่วงเวลาที่ทำงานมีปัญหาและอุปสรรคที่ต้องเราให้ก้าวผ่านเสมอ โดยตนเองจะมองว่า ปัญหาและอุปสรรค คือโอกาสและประสบการณ์ที่มีคุณค่า ในอำเภอเล็กๆ นี้เป็นผู้มอบประสบการณ์และโอกาสให้กับตนเอง

เมื่อถามว่าทำไมในช่วงแรกของการทำงานถึงไม่เลือกที่จะเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง หรือทำงานในเมือง นพ.กังวาล กล่าวว่า ในช่วงปีแรกมีคิดที่จะเรียนต่อเฉพาะทางเหมือน แต่พอทำงานไปได้ประมาณ 3 ปี ความเป็นตัวเราที่ชอบอยู่กับธรรมชาติ ความช่วยซึ่งกันและกันของสังคมชนบท ความผูกพันในที่ทำงานที่เริ่มมีมากขึ้น ดีกรีที่จะเป็นแพทย์เฉพาะทางเริ่มลดลง

นพ.กังวาล กล่าวว่า เมื่อตอนที่เรียนจบใหม่ๆ ไม่เคยคิดว่าจะต้องทำงานที่ไหน แต่ตั้งใจว่าจะทำงานที่ไหนก็ได้ในประเทศ ขอให้ได้ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ ตามคำสอนพระบิดาที่ว่าการเรียนไม่ใช่เพียงรู้แต่ต้องนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ

สำหรับการทำงานที่ รพ.น้ำโสมนั้น นอกจากกาคทำงานในเชิงรุก เพื่อให้ประชาชนได้มีสุขกายใจที่ดีขึ้น บางครั้งกับสถานการณ์ฉุกเฉินเหตุการณ์ที่คาบเกี่ยวกับความเป็นความตาย ได้สร้างความประทับใจให้ ผอ.น้ำโสมอย่างไม่รู้ลืม เช่น ในปี 2529 มีเคสเด็กที่เกิดมาไม่มีรูทวาร นพ.กังวาล ได้ชี้แจงถึงความจำเป็นที่ต้อองส่งต่อเด็กไปยัโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่าเพื่อผ่าตัด แต่พ่อแม่ของเด็กบอกว่า เขาไม่ส่งลูกไปถ้าจะผ่าก็ผ่าที่นี่

ถ้าจะตายถือว่าเด็กทำบุญมาเพียงเท่านี้ เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ นพ.กังวาล ตัดสินใจผ่าตัด ทั้งๆ ที่ในโรงพยาบาลไม่มีเครื่องดมยา ไม่มี Circuit เด็ก แต่สุดท้ายทุกอย่างผ่านไปด้วยนี้ จนปัจจุบันเด็กคนนั้นมีอายุ 31 ปีแล้ว มีอาชีพรับการรับราชการทหาร

"ในสถานการณ์ที่คับขัน เราต้องดูว่าถ้าปล่อยไว้จะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือไม่ การตัดสินใจจะต้องให้ญาติของผู้ป่วยได้รับรู้ด้วย"

จากการทำงานที่ผ่านมา นพ.กังวาล ได้พัฒนา รพ.น้ำโสมจากโรงพยาบาล 10 เตียง มาเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง เปลี่ยนจากโรงพยาบาลที่มีหน้าที่รักษาคนไข้เพียงอย่างเดียว มาเป็นการทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพ ออกทำงานในเชิงรุกมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันชาวบ้านป่วยด้วยโรคเรื้อรังเพิ่มากขึ้น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ นพ.กังวาล ยังกล่าวว่า นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มีการเปลี่ยนแปลงต่อเมื่อมีการเปลี่ยนผู้บริหารนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อคนทำงาน อาทิ ในเรื่องของงบประมาณละค่าตอบแทนที่มีผลกระทบต่อการทำงานของคนในพื้นที่ ซึ่งในเรื่องดังกล่าว ถ้าเป็นในส่วนตัวเรื่องจะไม่มองเรื่องนี้เป็นสำคัญ เพราะเราเป็นหมอ เราต้องการที่จะดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด แต่ในส่วนของผู้ร่วมงาน ตนจะพยายามบอกไม่ให้คนทำงานโฟกัสไปยังเรื่องดังกล่าว เพื่อไม่ให้เป็นเรื่องบั่นทอนทางจิตใจ ในเมื่อเราไม่สามารถไปแก้ไขในจุดที่เป็นปัญหาได้ ซึ่งในทุกครั้งตนต้องขอบคุณครอบครัว ภรรยา (นางวรรณา วงศ์เดือนรัศมี) และลูกๆ ที่ยอมละทิ้งความเจริญของเมืองหลวง ความสุข สบาย มาอยู่ในพื้นที่ชนบทกับตนเอง บวกกับที่ตนเองยึดมั่นในคำสอนของพระบิดาที่ว่า การเรียนไม่ใช่เพียงรู้แต่ต้องนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทั้งสองสิ่งนี้คือกำลังใจของตนเอง

ถามว่าเมื่อหลังเกษียณแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ผอ.รพ.น้ำโสม กล่าวว่า ในส่วนตัว ตนมีเพื่อหลายคนได้เป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และเป็นอธิบดี แต่สำหรับตัวเองแล้วหลังเกษียณก็คงยังต้องทำหน้าที่ในฐานะหมอบ้านนอกต่อไป แต่อาจจะเปลี่ยนเรื่องของเวลาการทำงาน ถามว่าทำไมยังต้องเป็นหมอ เพราะในอดีตตนเคยเป็นทั้งหมอและผู้อำนวยการที่ทำงานทั้ง 2 หน้าที่ในโรงพยาบาลเพียงคนเดียว หน้าที่ในตอนนั้นรักษาคนไข้ เพราะเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บส่งผละกระทบต่อชาวบ้านโดยตรง แต่เมื่อมีความเจริญเข้ามาปัญหาเรื่องของระบบมีเข้ามา จึงเป็นปัญหาอีกรูปแบบใหม่ที่ต้องแก้ไข ที่เราจะต้องแก้ให้ได้เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากที่สุด โดยใช้หลักความเข้าใจ ความเมตตามาใช้กับผู้ร่วมงานและประชาชน

สุดท้าย นพ.กังวาล อยากฝากถึงน้องๆ แพทย์ที่กำลังจะจบการศึกษาว่า อยากชวนให้น้องๆนักศึกษาแพทย์ และแพทย์ทุกคนออกค้นหาความฝันของตนเอง ชนบทยังเปิดกว้างให้แพทย์ทุกคนไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ได้เดินทางไปหาพวกเขา ดูแลเขา มิใช่มองเห็นแต่เพียงโรคที่เขาเป็น แต่ให้มองเห็นถึงความทุกข์ที่ซ่อนอยู่ในใจเขาด้วย แล้วน้องจะสัมผัสถึงวิญญาณแห่งความเป็นแพทย์ที่แท้จริง ซึ่งน้องๆอาจเป็นอีกคนหนึ่งที่มีเส้นทางชีวิตอยู่กับชนบทเช่นเดียวกับตน ตนเองเชื่องว่าน้องแพทย์ทุกคนเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความดี ที่สามารถจะงอกงามและเติบโตในทุกพื้นที่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ต่อไป