ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โฆษกศาลยุติธรรมเตือนนายกแพทยสภา กล่าวหาคำพิพากษาคดี "น้องหมิว" ผิดพลาด ระบุคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความรับผิดทางการแพทย์ ยันพยาน หลักฐานฝ่าย สธ.มีน้ำหนักน้อยจึงทำให้แพ้ พร้อมเตือนวิพากษ์วิจารณ์ศาลโดยไม่สุจริต อาจโดนฟ้องฐานดูหมิ่นศาลและผู้พิพากษาได้ 

นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล

เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2559 นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณี ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ได้วิพากษ์วิจารณ์คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 12498/2558 ระหว่าง ด.ญ.กนกพร หรือ หมิว ทินนึง ฝ่ายโจทก์ยื่นฟ้องสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จําเลย ผ่านสื่อสาธารณะต่างๆ สรุปใจความว่า “คดีนี้เป็นเรื่องใหญ่ในวงการแพทย์ เพราะจะทําให้แนวทางการรักษาโรคเปลี่ยนไปหมด ผู้ป่วยได้รับการถ่ายภาพรังสีเมื่อ 26 มิถุนายน ให้ยารักษาวัณโรคเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ต่างกัน 5 วัน ผู้พิพากษาคิดว่าเป็นสาเหตุที่ทําให้ผู้ป่วยปัญญาอ่อน ความจริงวัณโรคเป็นโรคเรื้อรัง ค่อยเป็นค่อยไป การให้ยาต่างกัน 5 วัน ไม่ได้ทําให้ผลการรักษาต่างกันมากนัก” และ ได้แสดงความเห็นที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของศาลยุติธรรมในเชิงลบ คือ ผู้พิพากษาไม่มีความรู้ทางการแพทย์และไม่รู้ข้อจํากัดของแพทย์และสถานบริการ ผู้พิพากษาใช้หลักความเห็นอกเห็นใจ สําคัญกว่าความถูกต้อง (Empathy is more important than fact) และผู้พิพากษาตัดสินผิดไม่ถูกทําโทษ ไม่มีความยุติธรรม

สํานักงานศาลยุติธรรมขอเรียนว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความรับผิดทางการแพทย์ อันเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของฝ่ายแพทย์ผู้ทําการรักษาบนพื้นฐานหลัก res ipsa loquitur (The thing speaks for itself) ผู้ป่วยหรือโจทก์เพียงแต่พิสูจน์ว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นระหว่างไปรับการรักษาจากแพทย์ก็เพียงพอแล้ว ส่วนฝ่ายจําเลยหรือแพทย์ผู้ทําการรักษามีหน้าที่พิสูจน์ว่าตนมิได้ประมาทเลินเล่อทําให้โจทก์หรือผู้ป่วยได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29

ดังจะเห็นจากคําวินิจฉัยของศาลฎีกาได้หยิบยกคําเบิกความของพยานฝ่ายจําเลย คือ นพ.ฐิติกร ตรีเจริญ แพทย์เวรเจ้าของไข้และ พญ.นุชนาฏ ภูริพันธ์ภิญโญ แพทย์เวรรับช่วงต่อจาก นพ.ฐิติกร ขึ้นมาพิจารณาตามภาระการพิสูจน์ของกฎหมาย แล้วใช้ดุลยพินิจ ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานคู่ความทั้งสองฝ่ายว่า คู่ความฝ่ายใดมีน้ำหนักดีกว่ากัน (Proof on the Balance of Probability) ฝ่ายนั้นก็เป็นฝ่ายชนะคดี ศาลจึงมิได้พิพากษาคดีโดยใช้หลักความเห็นอกเห็นใจ สําคัญกว่าความถูกต้องของข้อเท็จจริงแต่ประการใด แต่อยู่บนพื้นฐานหลักการรับฟังพยานหลักฐาน ตามบทบัญญัติของกฎหมาย

ข้อที่ ศ.นพ.สมศักดิ์ ผู้วิพากษ์กล่าวว่า ผู้พิพากษาไม่มีความรู้ทางการแพทย์และไม่รู้ข้อจํากัดของแพทย์และสถานบริการนั้น ขอเรียนว่า ตามหลักวิชาพยานหลักฐาน เป็นหน้าที่ของคู่ความที่จะต้องนําพยานหลักฐานเข้าสืบตามภาระการพิสูจน์ ซึ่งคดีนี้ฝ่ายจําเลยนําเฉพาะ นพ.ฐิติกร และ พญ.นุชนาฏ กับ ศ.นพ.สมศักดิ์ ผู้วิพากษ์ เป็นพยานเข้าเบิกความเท่านั้น ไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นคนกลางเป็นต้นว่า พยานแพทย์ประจํา ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยมาเบิกความเพื่อแสดงขั้นตอนอาการความเจ็บป่วยของโจทก์ ตลอดจนวิธีการรักษาโดยลําดับตามมาตรฐานวิชาชีพแพทย์ให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

ส่วนที่กล่าวหาว่า ผู้พิพากษาตัดสินผิดไม่ถูกทําโทษ ไม่มีความยุติธรรม ขอเรียนว่า ศาลยุติธรรมมีคณะกรรมการข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ทําหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลในด้านตุลาการ มีภารกิจกําหนดคุณสมบัติ สรรหาและบรรจุแต่งตั้ง พัฒนา ควบคุมให้ข้าราชการตุลาการอยู่ในกรอบแห่งจริยธรรม และมาตรการในการรักษาวินัย หากผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะร้องเรียนกล่าวหาต่อหน่วยงานดังกล่าวได้ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ที่มิได้เป็นการติชมโดยสุจริตหรือนําข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ศาลยุติธรรม อาจเป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณา หรือพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ได้

ทั้งนี้คดีดังกล่าวนั้น นายมนูญ และนางเยาวภา ทินนึง บิดามารดาของ ดญ.กนกพร หรือ น้องหมิว ทินนึง เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 12 ล้านบาท จากกรณีที่ ด.ญ.กนกพร ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเลย ระหว่างวันที่ 26-28 มิ.ย.2547 ด้วยอาการไข้สูง ปวดหัว ซึ่งแพทย์สงสัยว่า ปอดบวม แต่ตลอด 3 วัน ไข้ไม่ลด แต่ยังสามารถพูดคุยรู้เรื่อง ทานอาหารเองได้ ช่วยเหลือตัวเองได้

กระทั่งวันที่ 29 มิ.ย.2547 อาการทรุดลง มีอาการชักในบางครั้ง แพทย์จึงทำการเจาะไขสันหลัง จน ด.ญ.กนกพร ไม่รับรู้อะไรได้อีก และแพทย์สงสัยว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แล้ววันที่ 2 ก.ค.2547 ถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่น แพทย์วินิจฉัยว่าสมองติดเชื้อ เลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง รับรู้อะไรไม่ได้และควบคุมตัวเองไม่ได้ จากนั้นได้มีการร้องเรียนไปที่ สธ.เพื่อขอความเป็นธรรม โดยเมื่อเดือน มี.ค.2559 ที่ผ่านมา มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ให้สาธารณสุขต้องชดใช้เงิน 2 ล้านบาทให้ครอบครัว ทินนึง พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเมื่อปี 2552 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง