ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิจัย HITAP เปิดเผยผลวิจัยพบเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ ส่งผลให้อ้วนหรือผอมเกินไป มีปัญหาสายตา การได้ยินและพัฒนาการช้า ซึ่งล้วนส่งผลต่อการเจริญเติบโต การเรียนและขาดโอกาสในการเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต สาเหตุเกิดจากขาดการทำงานร่วมกันระหว่างบ้าน โรงเรียนและสถานพยาบาล ครูด้านอนามัยโรงเรียนมีน้อย ไม่มีประสบการณ์ ไม่ผ่านการอบรม แนะผู้เกี่ยวข้องบูรณาการนโยบาย จัดทำมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจนระหว่างผู้ปกครอง ครูและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และวางระบบการติดตามอย่างเป็นระบบ ให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP (ไฮแทป) ประเมินการบริการอนามัยโรงเรียนระดับประถมศึกษาในปี 2557-2558 โดยดำเนินการร่วมกันระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ จากการศึกษาพบปัญหาการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพพื้นฐาน เช่น บริการตรวจสุขภาพ การตรวจสายตาและการได้ยิน นอกจากนี้ยังพบว่าแม้โรงเรียนจะมีการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง แต่ไมได้นำข้อมูลมาแปรผลหรือใช้ประโยชน์ เนื่องจากไม่มีการอบรมครูเกี่ยวกับการอ่านและแปลความหมายของข้อมูลที่บันทึก ทำให้เด็กไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาสุขภาพ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในระยะยาว

นายดนัย ชินคำ ทีมวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กล่าวว่า “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการอนามัยโรงเรียนมีตัวชี้วัดที่ไม่สอดคล้องกัน ไม่มีการกำหนดบทบาทหน้าที่และคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานอนามัยโรงเรียนที่ชัดเจน จากการวิจัยพบว่า ครูที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านอนามัยโรงเรียน มีเพียง 1-2 คนต่อโรงเรียนและเป็นครูที่ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้ มักทำงานน้อยกว่า 2 ปี แต่ต้องดูแลสุขภาพนักเรียนทั้งโรงเรียน ทั้งที่ไม่เคยมีการเรียนการสอนในระบบการศึกษาของครูหรือผ่านการอบรมก่อนรับงานเป็นครูอนามัยของโรงเรียน อีกทั้งขาดระบบสนับสนุนจาก รพ.สต.หรือโรงพยาบาล เครื่องมืออุปกรณ์ชำรุดล้าสมัย นอกจากนี้ระบบข้อมูลและการรายงานผลสุขภาพเด็กมีหลากหลาย ซ้ำซ้อน บางแบบบันทึกไม่ได้รับการปรับปรุงมานาน ไม่มีการอบรมวิธีใช้เครื่องมือ ทำให้ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลสุขภาพเด็ก อย่างไรก็ดีพบว่า ในพื้นที่ที่มีการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับโรงเรียนอย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้เด็กได้รับการดูแลด้านสุขภาพมากขึ้น”

งานวิจัยยังพบว่า นอกเหนือจากบริการในระดับบุคคล มาตรการในระดับโรงเรียนหรือระดับชาติ ได้แก่ เรื่องอาหารกลางวัน นมโรงเรียน รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกโรงเรียน เช่น การจัดการขยะ การจัดการร้านค้า การโฆษณาขนมเด็ก ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก

ทั้งนี้ประเด็นเร่งด่วนคือ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรมาร่วมกันหารือ ทำให้ครูประจำชั้นทุกคนเป็นครูอนามัยของนักเรียน จัดทำคู่มือมาตรฐานการดูแลสุขภาพที่ระบุบทบาทหน้าที่ของผู้ปกครอง ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้ชัดเจน ปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะเรื่องภาวะโภชนาการ โลหิตจาง ความผิดปกติทางสายตาและการได้ยิน และอนามัยในช่องปาก จัดให้มีระบบรายงานและติดตามเพียงระบบเดียวที่สามารถใช้ได้ทุกหน่วยงานของรัฐและผู้ปกครองเพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อนและเป็นภาระการรายงาน รวมถึงจัดอบรมครูทั้งหมดให้มีความสามารถในการดูเด็กนักเรียนตามคู่มือมาตรฐานและใช้ประโยชน์จากระบบรายงานเพื่อติดตามความก้าวหน้าและค้นหาปัญหาเร่งด่วนเพื่อส่งต่อ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง